posttoday

วัฒนธรรมกู้สนั่นลากสังคมอ่อนแรง

05 ตุลาคม 2555

ข้อกังวลของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

ข้อกังวลของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับพฤติกรรมการใช้เงินของคนไทยที่หัน “กู้” ก่อน “ออม” ทั้งยังได้รับแรงกระตุ้นจากการโหมโฆษณาจากธนาคารพาณิชย์ทำนองชักชวนให้กู้เงินด้วยแคมเปญต่างๆ เข้าทำนองการมีหนี้สินเป็นเรื่องไม่ผิดแผกในยุคสมัยนี้ ก็ยิ่งทำให้อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติหวั่นใจว่าสังคมไทยต่อไปจะเดินอย่างเข้มแข็งได้อย่างไร

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาประจำปีของแบงก์ชาติว่า รู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่เห็นโฆษณาสินเชื่อรถแลกเงิน หรือที่เรียกกันติดปาก “คาร์ฟอร์แคช” ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเงินของคนจากที่ต้องออมก่อนซื้อ กลายเป็นซื้อโดยไม่ออม

การตลาดทำนองนี้ กระทั่งสินเชื่อที่พลิกแพลงทุกรูปแบบ อาทิ สินเชื่อบ้านแลกเงิน แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อยู่ในกรอบการทำธุรกิจตามหลักเกณฑ์ของแบงก์ชาติ หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมของคนไทยไปเสียสิ้น

สินเชื่อรถแลกเงินที่ใช้วิธีนำทะเบียนรถมาขอสินเชื่อ หรือสินเชื่อบ้านแลกเงินที่นำโฉนดบ้านมาขอสินเชื่อ ทั้งหมดล้วนเข้าข่ายสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ธนาคารหลายแห่งอาจเรียกสินเชื่ออเนกประสงค์ โดยใช้คำพูดปลอบใจว่าบ้านและรถยนต์ก็ยังเป็นของผู้กู้เหมือนเดิม

ถูกแค่ส่วนเดียวว่าสินทรัพย์เหล่านั้นยังอยู่กับผู้กู้ แต่จริงแล้วสินทรัพย์เหล่านั้นทั้งบ้านและรถยนต์ตกเป็นของธนาคารเหมือนเจ้าของเป็นฝ่ายกู้ยืมใช้ กว่าสินทรัพย์เหล่านั้นจะกลับมาเป็นของผู้กู้อย่างถูกต้อง ก็ต่อเมื่อเป็นอิสรภาพทางการเงินในวันที่จ่ายหนี้กับธนาคารหมด

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้บริหารธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งเกริ่นทำนอง ธนาคารพยายามเลี่ยงออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบ้านแลกเงิน” เพราะผู้บริหารระดับสูงมองว่าไม่ใช่วัฒนธรรมไทยอย่างที่เคยทำกันมา บ้านเป็นสินทรัพย์สำคัญที่ไม่ควรถูกนำมากระตุ้นให้คนเป็นหนี้ด้วยการนำบ้านที่หมดภาระหนี้แล้วมาขอสินเชื่อใหม่ แต่ปัจจุบันก็กลายเป็นว่าธนาคารแทบทุกแห่งมีผลิตภัณฑ์นี้ เพียงแต่จะทำตัวเงียบ หรือโปรโมต กระทั่งธนาคารแห่งนี้ก็ต้องออกสินเชื่อบ้านแลกเงินอย่างเงียบๆ เพราะธนาคารทุกแห่งทำเหมือนกันหมด

เรื่องเหล่านี้แบงก์ชาติผู้กำหนดนโยบายควรเข้าไปดูด้วยหรือไม่ เพราะแม้จะไม่ผิด แต่บางเรื่องความเหมาะสมในการทำการตลาด โหมประชาสัมพันธ์ด้วยการฝังความคิดให้คนรู้สึกอยากกู้ หรือการกู้เป็นเรื่องธรรมดา อาจผิดปกติวิสัยเดิมที่บ่มเพาะกันมา “จำเป็นถึงกู้”

ก่อนสังคมไทยอ่อนเปลี้ย เพราะคนเป็นหนี้ทุกหย่อมหญ้า

ด้านฝั่งแบงก์ชาติ เกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน แบงก์ชาติ ออกมายอมรับว่าสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของภาคครัวเรือนเริ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 40-50% ของรายได้รวม เทียบกับอดีตซึ่งเคยอยู่ระดับ 30% และหนี้เหล่านี้ยังไม่นับรวมกับหนี้นอกระบบซึ่งไม่รู้ว่ามีสัดส่วนเท่าใด แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้มากขึ้น

วัฒนธรรมกู้สนั่นลากสังคมอ่อนแรง

 

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าสูงมากเกินไปย่อมสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมหภาคด้วย จึงเป็นเหตุผลที่แบงก์ชาติเองไม่อยากให้สัดส่วนหนี้เหล่านี้เพิ่มมากเกินไป รวมทั้งดูแลให้ประชาชนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไป

นี่คือปัญหาที่แบงก์ชาติมองเห็น แต่ในภาคปฏิบัติต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะในบางเรื่องการให้อิสระธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่เท่าทันการตลาดที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อเกิดปัญหาก็ช้าเกินกว่าจะแก้ไข

การปรับตัวของแบงก์ชาติจึงต้องให้ทันสถานการณ์ และเป็นไปตามยุคสมัย หากดูผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปีนี้ตามที่แบงก์ชาติประกาศ ปรากฏว่าสินเชื่อธนาคารทั้งระบบขยายตัว 14.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่มีสัดส่วน 29.3% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ ขยายตัว 16.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาท จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 6.49 แสนล้านบาท ไตรมาสเดียวยอดสินเชื่อเพิ่มถึง 6.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายปีก่อนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างอยู่ที่ 6.12 แสนล้านบาท

ส่วนการบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 5.78 แสนล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 5.47 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์สิ้นสุดเดือน ส.ค. มีจำนวน 8.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.07 หมื่นล้านบาท จาก 8.08 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน ก.ค. โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มลูกค้า

ในส่วนลูกค้ารายย่อยนั้น สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมาก คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล โดยในห้วงสุดท้ายของปีนี้คาดว่าสินเชื่อลูกค้ารายย่อยจะเติบโตขึ้นอีกมากจากนโยบายรถคันแรก รวมทั้งการแข่งขันนำเสนอผลิตภัณฑ์ในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายสินค้า ก็ยิ่งเป็นแรงหนุนให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายเติบโตเป็นเลข 2 หลัก

นี่คือผลสะท้อนที่เห็นได้ชัดว่า หนี้รายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีนี้ และอาจเพิ่มอีกในระยะข้างหน้า หากฟากรัฐใช้นโยบายประชานิยม โดยธนาคารพาณิชย์ใช้ช่วงจังหวะต้องซื้อ ต้องจับจ่าย เล่นกับจิตวิทยาคนเป็นทุนเดิม

กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ส่งเสริมการตลาดลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทย ยอมรับว่าการโฆษณาโดยอัดแคมเปญการตลาดให้ผ่านสายตาลูกค้าต่อเนื่อง มีผลต่อจิตวิทยาลูกค้า สามารถกระตุ้นความรู้สึกส่วนลึกของคนได้จริง ทั้งที่บางครั้งไม่มีความจำเป็นต้องกู้ก็อยู่ได้ โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยที่มีเงินเดือนระดับหมื่นบาทต้นๆ เป็นกลุ่มที่เป็นหนี้ได้ง่ายที่สุด และมีความต้องการใช้จ่ายมากที่สุด แต่หากเงินเดือนเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไป สัดส่วนการกู้ก็จะน้อยลง กรณีน้ำท่วมปลายปีก่อนเป็นตัวสะท้อนการตลาดลูกค้ารายย่อยได้ดีที่สุด แม้ลูกค้าบางรายจะรู้สึกว่าไม่ต้องซื้อของเข้าบ้านก็ได้ แต่เมื่อมีแคมเปญสินเชื่อส่วนบุคคลนำเสนอพร้อมโปรโมชัน ลูกค้ากลับให้ความสนใจ และลืมความรู้สึกแรกก่อนการเป็นหนี้

หากเป็นเช่นนี้อีกไม่นานคนไทยจะติดกับดักการเป็นหนี้ทุกหย่อมหญ้าจากแคมเปญการตลาดที่รื้อถอนวัฒนธรรมการออมจนหมด เมื่อประชาชนเป็นหนี้มากแล้วจะมีกำลังใจทำงาน มีเวลาคิดทำสิ่งอื่นได้อย่างไร

นี่คือสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต้องขบคิดให้ยาว พอกับแบงก์ชาติที่ต้องคิดให้หนักในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานเศรษฐกิจ