posttoday

ตัดเนื้อร้ายปิดฉาก "ยงยุทธ"

05 ตุลาคม 2555

ผลพวงที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลว่า ยงยุทธ วิชัยดิษฐ

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ผลพวงที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลว่า ยงยุทธ วิชัยดิษฐ มีความผิดทางวินัยร้ายแรงคดีแปรธาตุที่ธรณีสงฆ์เป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ ได้ส่งผลสะเทือนกับ ยงยุทธ อย่างรุนแรงจนถึงขั้นแทบ “ปิดฉาก” กับพรรคเพื่อไทยที่ได้ร่วมก่อร่างสร้างพรรค

สัปดาห์ที่แล้ว ยงยุทธ เพิ่งยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย หวังลดกระแสร้อนที่รุมเร้ากระทบกับเจ้าตัว พรรคเพื่อไทย ที่สำคัญไม่ให้เป็นไฟลามทุ่ง ไปหานายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหลังจากอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย เสนอให้กระทรวงมหาดไทยลงโทษ ยงยุทธ โดยให้ออกจากราชการฐานความผิดที่ ป.ป.ช.มีมติว่ายงยุทธ ทุจริตต่อหน้าที่ราชการในคดีที่ดินอัลไพน์

สถานการณ์ดูคลี่คลายระดับหนึ่ง แต่พลันที่ฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะคุณสมบัติของ สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ถัดจากนั้นวันเดียว ยงยุทธ ก็ชิงแถลงลาออกจาก สส. และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หมดเกลี้ยงทุกเก้าอี้ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามลากโยงไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ แม้ว่าคดีนี้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก็ตาม

คนในพรรคถึงกับน้ำตาคลอ เพราะ ยงยุทธ แม้จะไม่มีความโดดเด่นอะไร เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของพรรคตัวจริง ทว่า4 ปีที่เขานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคในบรรยากาศความขัดแย้ง การถูกไล่ล่าเอาผิดได้ ถือว่าเสียสละแบกรับความเสี่ยงทุกอย่าง เพราะตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายสูง และในอดีตพรรคทักษิณทั้งไทยรักไทย และพลังประชาชน ถูกยุบหมด หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องเว้นวรรคคนละ 5 ปี มาปัจจุบันพรรคเพื่อไทยยังมองว่าฝ่ายตรงข้ามและองค์กรอิสระคอยจ้องเล่นงานอยู่ไม่ลดละ

พรรคเพื่อไทยจึงอยู่ในวงล้อมกับดักระเบิด หากทำผิดกฎหมายอาจโดนจับฟาวล์และขยายแผลจนสร้างแรงสั่นสะเทือนรัฐบาลทั้งคณะเหมือนที่เผชิญมาแล้ว

แกนนำพรรครายหนึ่ง ระบุว่า “เราจะเสี่ยงกับคุณยงยุทธอีกทำไม เพราะถ้าพรรคโดนยุบ มันก็เดือดร้อนกันทั้งพรรค”

พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์สูง เพราะถูกองค์กรอิสระตรวจสอบ ชี้มูลความผิดมาหลายคดี จึงชำนาญในการรับมือ หากคดีใดประเมินแล้วไปไม่รอด ก็ต้องตัดเนื้อร้ายทิ้ง

กล่าวสำหรับคดีอัลไพน์ที่ดูเหมือนเล็กๆเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลกับ ยงยุทธ แต่ก็อาจถูกขยายแผลเป็นเรื่องใหญ่ได้ ทางที่ดีต้องตัดทุกช่องทางที่จะนำไปสู่การเอาผิด

ในพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์กันว่า ข้อต่อสู้ของ ยงยุทธ คือ อ้าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 2550 จึงถือว่ามิได้เคยถูกลงโทษหรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ ทำให้ ยงยุทธ ไม่ขาดคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งข้าราชทางการเมือง

แต่ยกแรกกระแสที่ออกมา ยงยุทธ ต้านไม่อยู่ จึงแก้ลำด้วยการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติ แต่ก็ยังเอาไม่อยู่อีก เริ่มมีการขยายผลเรื่องการซื้อที่ขายที่อัลไพน์ ซึ่งการโอนขายที่ดิน ป.ป.ช.ชี้ว่ากระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ยงยุทธ หนึ่งในตัวละครที่ร่วมกระบวนการครั้งนี้ในสมัยที่เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง ป.ป.ช. ระบุว่า ยงยุทธ สร้างความเสียหายแก่ราชการฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เพราะได้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในสนามกอล์ฟอัลไพน์

ตัวละครอื่นในการเล่นแร่แปรธาตุที่ธรณีสงฆ์เป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์ ยังพันไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้ซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์จาก เสนาะ เทียนทอง ในราคา 500 ล้านบาท เสนาะ เองก็อยู่ในพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน โดยส่งหลาน คือ ฐานิสร์ เทียนทอง เป็น รมช.มหาดไทย

กรณีเสนาะ แม้จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เพราะขณะเป็น รมช.มหาดไทย ระหว่างปี 2531-2534 ได้ใช้อำนาจมิชอบในการจดทะเบียนโอนมรดกและโอนขายที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร แต่ก็โชคดีเพราะศาลยกฟ้อง เนื่องจากคดีหมดอายุความไปแล้ว

ตัดเนื้อร้ายปิดฉาก "ยงยุทธ"

 

เมื่อคดีอัลไพน์เกี่ยวพันกับ ทักษิณ แน่นอน ยิ่งลักษณ์ ในฐานะน้องสาวและเป็นผู้นำรัฐบาลด้วยก็อาจถูกโยงได้ ดังนั้นหาก ยงยุทธ ยังยื้ออยู่ในตำแหน่งต่อจะกระทบกับ ยิ่งลักษณ์ โดยไม่จำเป็น

ยิ่งในภาวะที่เจอวิกฤตจำนำข้าวและศึกซักฟอกของฝ่ายค้านที่จ่อเข้ามา ฝ่ายค้านอาจหยิบคดีอัลไพน์มาโจมตี ยิ่งลักษณ์ ได้อีก

เดิมทีในพรรคเพื่อไทย โดยกรรมการยุทธศาสตร์สายตรง ทักษิณ ต้องการให้ ยงยุทธลาออกหมดทุกตำแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย สส.พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อตัดอวัยวะรักษาชีวิตรัฐบาล แต่ ยงยุทธ ยื้อขอลาออกเฉพาะตำแหน่งใน ครม. เหลือเก้าอี้ สส. และหัวหน้าพรรค ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงซึ่งสนับสนุน ยงยุทธ คัดค้านแรงบีบที่ให้ไขก๊อกทุกตำแหน่ง เพราะเห็นว่า ยงยุทธ ช่วยพรรคในยามยาก ควรไว้หน้ากันบ้าง

ยงยุทธ จึงขอลาออกเพียง 2 ตำแหน่งคือ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แต่เมื่อคนทางไกลเห็นว่ายังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาคุณสมบัติ สส. จึงบีบให้ออกหมดทุกตำแหน่ง

เพราะเมื่อดูข้อกฎหมายแล้ว ผลจากการที่ อ.ก.พ.มหาดไทย ให้ ยงยุทธ ลาออกจากราชการ และไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นโทษจาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ทำให้เจ้าตัวต้องเสี่ยงขาดการเป็น สส. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามไว้ มาตรา 102 (6) ที่ว่า “ต้องไม่ถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานรัฐ”

เมื่อคดีนี้จะเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงหนีไม่พ้นที่ ยงยุทธ จะต้องถูกฟันพ้นตำแหน่ง สส. และเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยพ่วงตามมาอีก ฝ่ายเพื่อไทยมองว่าไม่ว่าคดีใดที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โอกาสจะชนะคดีมีเพียง 30-40% ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปดิ้นสู้ ยิ่งข้อกฎหมายก็เอาชนะยากอยู่แล้ว

แต่ผลที่หนักกว่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ ยงยุทธ พ้น สส. ก็อาจถูกฝ่ายค้านหรือกลุ่มมวลชนฝ่ายตรงข้าม ที่พร้อมจะทุบพรรคเพื่อไทยทุกช่องทาง ยื่นเอาผิดให้ยุบพรรคเพื่อไทยอีกจากที่ ยงยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค!!

ผลจากการลาออกทุกตำแหน่งทางการเมือง สำหรับ ยงยุทธ อาจเป็นเรื่องโศกเศร้า แต่ก็ได้รู้ซึ้งถึงอำนาจ บารมีที่ไม่จีรังยั่งยืน เพราะไม่กี่สัปดาห์ก่อนยังมีอำนาจสูงสุดถึงรองนายกรัฐมนตรีควบ รมว.มหาดไทย คุมกลไกฝ่ายปกครองทั้งประเทศ แต่วันนี้ร่วงหล่นเป็นประชาชนธรรมดา และยังต้องเผชิญวิบากกรรมคดีอัลไพน์ที่เป็นกรรมเก่าอีก

แต่แรงบีบจนทำให้เจ้าตัวต้องลาออกด้านหนึ่งเท่ากับคลายปมอัลไพน์ไม่ให้กระทบพรรคเพื่อไทยและน้องสาวทักษิณ ส่วน ยงยุทธ “คนทางไกล” ถือว่าได้ชดใช้หนี้ ตอบแทนกันหมดแล้วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

จากนี้พรรคเพื่อไทยต้องคัดเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แว่วว่าเป็นมือขวาที่นายใหญ่เชื่อใจคนหนึ่ง แต่แม้ใครจะผงาดเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ บรรทัดสุดท้ายก็ยัง ทักษิณ ชินวัตร เช่นเดิม