posttoday

รื้อภาษีรถยนต์"รัฐโกยรายได้-คนซื้อจ่ายเพิ่ม"

04 ตุลาคม 2555

การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ใกล้คลอดเข้ามาทุกที ล่าสุด กรมสรรพสามิตได้เสนอให้โครงสร้างภาษีรถใหม่ให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ใกล้คลอดเข้ามาทุกที ล่าสุด กรมสรรพสามิตได้เสนอให้โครงสร้างภาษีรถใหม่ให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย

ตอนนี้ก็เหลือแต่ว่า รมว.คลัง จะนำเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไฟเขียวเมื่อไหร่เท่านั้น

สำหรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะให้เวลาผู้ประกอบการ 3 ปี หาก ครม. เห็นชอบภายในปลายปีนี้ โครงสร้างภาษีรถใหม่ก็จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2558

โดยโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราภาษีอิงตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นหัวใจสำคัญ

กรอบโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ก็ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อย เหลือแต่อัตราภาษีเท่านั้นที่ยังถูกเก็บเป็นความลับ

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จะแยกเป็นรถยนต์ที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี และเครื่องยนต์มากกว่า 3,000 ซีซี ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิการปล่อย CO2 เพราะถือเป็นรถขนาดใหญ่ราคาแพง เสียภาษีในอัตราเดิม 50%

สำหรับรถยนต์ที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี ที่ปัจจุบันเสียภาษีอยู่ที่ 30-40% หากปล่อย CO2 ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร คาดว่าจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าที่เสียอยู่ในปัจจุบัน หากปล่อย 100-150 กรัมต่อกิโลเมตร คาดว่าจะเสียภาษีในอัตราใกล้เคียงกับอัตราเดิมที่เสียอยู่ และหากปล่อย CO2 เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร คาดว่าจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่เคยจ่ายอยู่

ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่าอัตราภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มหรือลดลงอยู่ที่บวกลบ 5% จากอัตราที่เสียอยู่ในระดับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตยืนยันว่าอัตราภาษีใหม่จะยังคงมีการกำหนดประเภทการใช้พลังงานของรถยนต์ แต่จะยกเลิกสิทธิประโยชน์ในส่วนของรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E10 และ E20 โดยให้กลับไปใช้ฐานภาษีเดิมที่ 30% ไม่ได้ส่วนลด 5% เช่นเดิม แต่รถยนต์ใช้เอ็นจีวี รถยนต์ใช้น้ำมัน E85 รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ใช้ไฟฟ้า จะมีการกำหนดชัดเจนว่า หากปล่อย CO2 ระดับไหนจะต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไหร่

ขณะที่รถยนต์กระบะที่เสียภาษีอยู่ 3% รถยนต์ดับเบิลแค็บ 12% หากปล่อย CO2 ต่ำกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีในอัตราเดิม แต่ถ้าปล่อย CO2 เกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จะต้องเสียภาษีเพิ่มจากอัตราปกติ ส่วนรถยนต์ PPV ที่เสียภาษีอยู่ที่ 20% จะมีปรับฐานภาษีเพิ่มขึ้น โดยอาจจะอยู่ที่ 25% และคิดอัตราภาษีตามการปล่อย CO2 เหมือนรถกระบะ

การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ดังกล่าว ส่งผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์

ในส่วนของภาครัฐ การปรับโครงสร้างภาษีมีเรื่องที่ต้องคำนึงนอกจากสนับสนุนให้รถยนต์ในอนาคตที่ต้องประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องคำนึงว่าต้องไม่กระทบกับการเก็บรายได้ให้ลดลงไปจากเดิมอีกด้วย

จากการประมาณการเบื้องต้นของกรมสรรพสามิต พบว่า หลังโครงสร้างภาษีใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 2558 ภาษีรถยนต์จะเก็บเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเดิม ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของการซื้อขายรถยนต์ตามปกติ และอีกส่วนหนึ่งมาจากรถยนต์ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะรถยนต์จำนวนมากยังไม่สามารถผ่านการปล่อย CO2 ในระดับต่ำ ทำให้หนีไม่พ้นต้องเสียภาษีเพิ่ม

รื้อภาษีรถยนต์"รัฐโกยรายได้-คนซื้อจ่ายเพิ่ม"

 

ดังนั้น การเก็บภาษีรถยนต์ของภาครัฐจะได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น ยังไม่รวมกับการรวบอัตราภาษีรถยนต์นั่งที่เดิมมีการแบ่งขนาดเครื่องยนต์ย่อยจำนวนมาก แต่ของใหม่กำหนดให้เหลือเครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี และมากกว่า 3,000 ซีซี ทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ง่ายขึ้นและรั่วไหลน้อยกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังฉวยจังหวะปรับโครงสร้างภาษีรถใหม่ ปรับเพิ่มภาษีรถยนต์ PPV ที่เสียภาษีอยู่ 20% ให้ใกล้เคียงกับรถยนต์นั่งทั่วไป เพราะพบว่ามีการใช้รถ PPV ที่ราคาแพงเป็นรถยนต์นั่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่วนนี้จะทำให้รัฐบาลโกยรายได้อีกจำนวนมาก

ผลกระทบด้านผู้ประกอบการ แน่นอนว่า โครงสร้างภาษีใหม่ทำให้ต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดกันใหม่ รวมถึงต้องลงทุนเทคโนโลยีใหม่เพื่อทำให้รถปล่อย CO2 ในระดับต่ำ เพื่อทำให้รถเสียภาษีในอัตราที่ไม่สูง อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม ส่งผลทำให้ราคารถเพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะผู้ผลิตย่อมผลักภาระให้กับผู้บริโภคเพื่อรักษากำไรไว้ในระดับเดิม

นอกจากนี้ สำหรับรถยนต์ที่ยังปล่อย CO2 ในระดับสูง และต้องเสียภาษีแพงขึ้น ทำให้ราคารถแพงขึ้น ก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระไปให้กับผู้ซื้อรถเช่นกัน โดยมีการประเมินกันว่ารถที่ไม่ผ่าน CO2 จะมีราคาเพิ่มขึ้นคันละ 23 หมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโครงสร้างภาษีใหม่มีแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน ปล่อย CO2 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นประโยชน์กับประเทศในภาพรวม ลดการใช้น้ำมันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดและมีราคาแพงขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหามลพิษจากการใช้รถยนต์จำนวนมากในเมืองขนาดใหญ่

ดังนั้น ผลกระทบกับผู้ซื้อหนีไม่พ้นต้องควักเงินในกระเป๋าเพิ่มเพื่อซื้อรถใหม่ เพราะรถปล่อย CO2 สูง ต้องจ่ายภาษีเพิ่มทำให้ราคารถแพงขึ้น ขณะที่รถที่ปล่อย CO2 ต่ำ ก็มีต้นทุนเพิ่มสะท้อนกลับมาเป็นราคารถ ถึงแม้ว่าจะไม่แพงเท่ากับปล่อย CO2 สูงๆ แต่โดยรวมแล้วราคารถยนต์ก็ต้องสูงขึ้น

จะเห็นว่าการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ รัฐบาลได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะจะเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องเหนื่อยปรับตัวลงทุนเพิ่ม ส่วนผู้ซื้อรถต้องจ่ายเพิ่มไม่ว่าจะขับรถที่มีคุณภาพดีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือขับรถที่ปล่อยมลพิษสูงอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่เป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้า ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ให้ความใส่ใจกับรถยนต์ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากนี้ โครงสร้างภาษีรถยนต์เดิม มีหลายจุดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้เก็บรายได้น้อยกว่าความเป็นจริง เช่น กรณีรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E10 และ E20 ที่เสียภาษีในอัตราต่ำกว่ารถยนต์ปกติ แต่ไม่ได้ช่วยให้การใช้น้ำมันโดยรวมประหยัดลง

ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างภาษีรถใหม่ยังเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์ต้องการให้โครงสร้างภาษีรถยนต์มีความชัดเจนให้เร็วที่สุด เพื่อปรับตัวเตรียมพร้อมวางแผนการผลิตรถยนต์ที่คาดว่า หลังการเปิด AEC การผลิตรถยนต์ในประเทศจะสูงถึง 2.5 ล้านคัน ครึ่งหนึ่งขายในประเทศและอีกครึ่งหนึ่งส่งออกขายต่างประเทศ

ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่จึงส่งผลดีกับทุกฝ่าย รัฐบาลได้มากที่สุด เก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการมีปัญหาต้องปรับตัวและลงทุนเพิ่มในระยะแรก แต่เชื่อว่ายอดขายที่ขยายตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการโกยกำไรกลับคืนมาได้ไม่ยาก ส่วนผู้ซื้อรถยนต์ก็ได้ประโยชน์ ได้ขับรถที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับการจ่ายเงินเพิ่มขึ้น