posttoday

คืนที่'ธรณีสงฆ์'กรรมซัดรัฐบาลปู

02 ตุลาคม 2555

แม้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย จะตัดสินใจลาออกแล้วก็ตาม แต่ปม สนามกอล์ฟอัลไพน์

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

แม้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย จะตัดสินใจลาออกแล้วก็ตาม แต่ปม สนามกอล์ฟอัลไพน์ นั้นยังอยู่ เพราะสิ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วินิจฉัยนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การชี้มูลความผิดยงยุทธ หากแต่ยังระบุว่า

“การกระทำของยงยุทธ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเพิกถอนคำสั่งของอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ที่เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ เจ้าของที่ดินและหมู่บ้านอัลไพน์ เป็นไปโดยมิชอบ และนั่นหมายความว่า จะต้องนำสนามกอล์ฟและหมู่บ้านอัลไพน์กลับมาเป็นที่ดินของรัฐทั้งหมด”

ย้อนอดีตกลับไป ที่ดินขนาด 927 ไร่ แปลงดังกล่าว เนื่อม ชำนาญชาติศักดา หรือยายเนื่อม เจ้าของที่ดินได้ทำพินัยกรรมมอบที่ดินผืนนี้ให้แก่วัดธรรมิการาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เสียชีวิตลงเมื่อปี 2514 ต่อมาราวปี 2531 วัดต้องการขายที่ดินผืนนี้ แต่เกิดกระบวนการบางอย่างที่ เสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนั้นเป็น รมช.มหาดไทย ทำหน้าที่กำกับดูแลกรมที่ดินไม่ต้องการให้วัดขายที่ดิน พร้อมกับมอบให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้จัดการมรดกแทน

แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าผู้จัดการมรดก กลับโอนขายที่ดินดังกล่าวให้บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ซึ่งมี อุไรวรรณเทียนทอง ภรรยาเสนาะ หรือคนดังเมืองปทุมธานี อย่าง ชูชีพ หาญสวัสดิ์ เป็นกรรมการบริษัทไปซะอย่างนั้นในปี 2533 และในเวลาต่อมาสนามกอล์ฟอัลไพน์และหมู่บ้านอัลไพน์ก็ถูกแยกออกจากกัน โดยในส่วนของสนามกอล์ฟ เสนาะขายให้กับเจ้าสัวใหญ่ที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2541 ภายใต้เงินก้อนใหญ่กว่า 500 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของหมู่บ้านนั้น กลายเป็นหมู่บ้านราชธานี คลองหลวง โดยมี นพ.บุญ วนาสิน อดีตประธานที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรียงยุทธ เป็นเจ้าของหมู่บ้านในปัจจุบัน!!

คืนที่'ธรณีสงฆ์'กรรมซัดรัฐบาลปู

เวลาผ่านมา 3 ปี เมื่อ 20 ธ.ค. 2544 ประวิทย์ สีห์โสภณ อธิบดีกรมที่ดินในขณะนั้น ได้ทำหนังสือไปถึงรักษาการปลัดฯ ชื่อยงยุทธ ให้ยกเลิกโฉนดที่แบ่งแยกและเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้จัดการมรดก ผู้โอน กับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้รับโอน และระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้ขาย กับบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ผู้ซื้อ ตามคำแนะนำของกฤษฎีกาฯ ที่ระบุว่ามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยไม่สามารถโอนขายที่ดินด้วยตัวเองได้ และต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น เนื่องจากที่ดินผืนนี้เป็นที่ธรณีสงฆ์ แต่ยงยุทธเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยเห็นว่าเสนาะในฐานะ รมช. ใช้อำนาจโดยชอบแล้ว

เวลาต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ไปร้องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดเสนาะ ยงยุทธ รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด รายของเสนาะนั้นโชคดีไป เพราะคดีหมดอายุความไปเรียบร้อย แต่เรื่องของยงยุทธนั้นเพิ่งเกิดเมื่อ 10 ปีที่แล้วนี้เอง เรื่องก็เลยพันติดตัวยงยุทธต่อมา แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ไปจนถึงวันที่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดด้วยดีกรีรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 และเป็นเจ้ากระทรวงคลองหลอด แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดดังกล่าวกับตัวเขา รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการยกเลิกการซื้อขายที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย

หลังจากยื้อเวลา ภายหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมานานกว่า 2 เดือน ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยก็จัดให้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ในวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ สุรพล พงษ์ทัดศิริกุล และอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ที่ต่างก็มีเหลืออายุราชการเพียง 2 สัปดาห์ เป็นคณะทำงาน

ผลสรุปของการประชุมระบุว่า กระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องทำตามข้อเสนอของ ป.ป.ช. นั่นคือการเพิกถอนคำสั่งของยงยุทธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากไม่ดำเนินการตาม ก็มีโอกาสที่ ป.ป.ช.จะฟ้องปลัดกระทรวงมหาดไทยและข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่กระทรวงมหาดไทยก็เตรียมช่องทางอื่นไว้ด้วย เช่น ทำความเห็นปรึกษานักกฎหมายนอกกระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานรัฐอื่นว่าจะจัดการอย่างไร เพราะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชนในหมู่บ้านอีกหลายร้อยครัวเรือน ซึ่งเจ้าของหมู่บ้านอย่าง นพ.บุญ เคยประเมินไว้ว่า หากมีการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวจริง รัฐจะต้องชดเชยค่าเสียหายกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งหากต้องชดใช้ค่าเสียหายจริง ก็ยังตอบไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

รายงานล่าสุดแว่วมาว่า พระนาย สุวรรณรัฐ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยไปหยกๆ ยังไม่ได้ลงนามในหนังสือดังกล่าว และภาวะช็อกที่เจ้ากระทรวงต้องถูกเด้งออกไปอย่างกะทันหันก็ทำให้ผู้บริหารกระทรวงรอดูทิศทางลมกันอยู่ว่า รัฐมนตรีคนใหม่จะเอาอย่างไรต่อกับเรื่องนี้ แม้ วิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงคนใหม่ ที่เพิ่งรับตำแหน่ง จะระบุว่ามีขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมายที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่ออยู่แล้วก็ตามที แต่นั่นก็ยังไม่ชัดว่าจะมีการเดินหน้ายกเลิกคำสั่งหรือไม่

ไม่ต่างกับ ชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย ที่วันนี้นั่งรักษาการ รมว.มหาดไทย ซึ่งถูก องอาจ คล้ามไพบูลย์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ถามจี้ในสภาว่า บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท มีคนนามสกุลเดียวกับชูชาติถือหุ้นใหญ่ถึง 2 คน ทำให้ต้องอุ้มยงยุทธเป็นรัฐมนตรีต่อไป รวมถึงเพิกเฉยในเรื่องการดำเนินคดีหรือไม่ ทำเอาชูชาติไปต่อไม่ถูก โดยตอบกลับเพียงว่าไม่มีใครสั่ง และกลับอ้างเรื่องประสบการณ์การเป็นนักการเมืองที่ยาวนานแทน

เพราะเอาเข้าจริงเรื่องอัลไพน์นั้นเกี่ยวข้องเป็นโยงใยไปหมดตั้งแต่ตัว มท.1 อย่างยงยุทธที่หลุดเก้าอี้ไปแล้ว มท.2 ชูชาตินั้นก็เป็นน้องชายของชูชีพ หนึ่งในกรรมการบริหารบริษัท อัลไพน์ฯ และ มท.3 อย่าง ฐานิสร์ เทียนทอง หลานชายของเสนาะ ก็เกี่ยวข้องโดยตรง จึงดูลู่ทางแล้วก็มีสิทธิเป็นไปได้ว่าอาจจะปล่อยเรื่องอัลไพน์ให้ซาลงไปสักพัก แล้วค่อยทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน จำไม่ได้ ยิ่งเป้าใหญ่อย่างยงยุทธหลุดไปแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าเรื่องนี้จะถูกเก็บเข้าลิ้นชักของปลัดกระทรวงคนใหม่ต่อไป

แต่ดูท่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะท่าทีจากกรรมการ ป.ป.ช.เจ้าของเรื่องอย่าง วิชา มหาคุณ หรือเลขาธิการ ป.ป.ช.อย่าง อภินันท์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นั้นต้องการเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ไม่ต่างกับฝ่ายค้านมืออาชีพ ศูนย์รวมของบรรดานักกฎหมายอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งวันนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านออกมาให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันว่าจะบี้ไปยังกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลต่อเช่นกัน

หลังจากกระทรวงมหาดไทยลงโทษทางวินัยเพื่อปลดออกยงยุทธไปแล้ว วันนี้ยังเหลือขั้นตอนคดีอาญาที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องยงยุทธ จ่อรอคิวขึ้นศาลต่อไป ส่วนเรื่องการบีบให้รัฐบาลเร่งเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ก็ดูจะเขม็งเกลียวมากขึ้น แม้คดีผลประโยชน์ทับซ้อนเมื่อกว่า 22 ปีก่อนจะหมดอายุความไปแล้ว แต่การคืนความเป็นธรรม และการสร้างความถูก ต้องให้เกิดขึ้น กำลังกลายเป็นวิบากกรรมเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ที่ข้าราชการ และ รมว.มหาดไทยคนใหม่ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งใน พ.ศ.นี้