posttoday

ดองยาว...กองทุนการออมแห่งชาติ

01 ตุลาคม 2555

กลายเป็นกองทุนที่ไม่มีอนาคตไปแล้ว สำหรับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ทั้งๆ ที่กฎหมายมีผลบังคับมา 1 ปีกว่า

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

บากบั่น บุญเลิศ

กลายเป็นกองทุนที่ไม่มีอนาคตไปแล้ว สำหรับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ทั้งๆ ที่กฎหมายมีผลบังคับมา 1 ปีกว่า และตามกำหนดเดิมต้องเริ่มรับสมาชิกตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้กองทุนยังไม่สามารถตั้งไข่ได้และยังไร้ทิศทางว่าจะอยู่หรือจะไป

กอช. ถูกผลักดันโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีเป้าหมายเพื่อสร้างสวัสดิการฐานรากแรงงานนอกระบบ35 ล้านคน ให้มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า กอช.นอกจากสร้างความมั่นคงให้กับคนฐานรากที่มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ยังเป็นการประหยัดงบประมาณให้กับประเทศในอนาคตที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ที่สำคัญ กอช.เป็นการสร้างสังคมให้เกิดการออม ไม่เป็นฝ่ายรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

กอช.เป็นกองทุนภาคสมัครใจให้กับแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบกองทุนสวัสดิการอื่นๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนประกันสังคม

โดยแรงงานนอกระบบที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุน โดยจ่ายเงินสมทบได้ตั้งแต่ 50 บาท แต่ไม่เกิน 1.32 หมื่นบาทต่อปี โดยรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้50-100 บาท ตามขั้นบันไดอายุของสมาชิก ประกอบด้วย สมาชิกอายุ 15 ปี ไม่เกิน 30 ปี รัฐบาลสมทบ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี

ขณะที่สมาชิกอายุ 30 ปี ไม่เกิน 50 ปี รัฐบาลสมทบ 80% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี และสมาชิกอายุ 50 ปี ไม่เกิน 60 ปี รัฐบาลสมทบ 100% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลกอช.ก็ไม่ได้รับความเหลียวแลจากรัฐบาล เพราะกลัวเป็นการสร้างผลงานให้กับคู่แข่ง

นอกจากนี้ กอช.ยังไม่เข้ากับแนวนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่เน้นลดแลกแจกแถมสะบัดผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าวราคาสูงกว่าตลาดเป็นเท่าตัว รถคันแรกให้คืนเงินภาษีถึง 1 แสนบาท บ้านหลังแรกให้ลดหย่อนภาษี ได้ดอกเบี้ยต่ำ

ดองยาว...กองทุนการออมแห่งชาติ

 

ยังมีโครงการพักหนี้ดีรายละไม่เกิน 5 แสนบาทลดดอกเบี้ยให้ทันที 3% จะเห็นว่าทั้งหมดเน้นแจกมัดใจเป็นหลักสำคัญ ทำให้ กอช.ต้องเคว้ง เดินหน้าไม่ได้ตามเป้า

แม้แต่ว่าที่เลขาธิการ กอช. อย่าง ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารออมสิน ยังไหวตัวทัน ขอถอนตัวจากตำแหน่งไม่มาเซ็นสัญญาทำงาน เพราะรู้ว่ารัฐบาลใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับกองทุนนี้

ล่าสุด กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ยังไม่ยอมลงนามแต่งตั้งเลขาธิการ กอช.คนใหม่ ที่คณะกรรมการ กอช. เสนอรายชื่อคนใหม่ขึ้นไป

ถือเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลพยายามทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้กองทุนนี้เกิดได้

ขณะที่งบประมาณที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตั้งไว้ให้กองทุน กอช. 1,000 ล้านบาท ยังถูกรัฐบาลเพื่อไทยตัดเหลือจิ๊บจ๊อย 225 ล้านบาท เพื่อบอนไซโครงการนี้ไม่ให้โต

ทั้งหมดทำให้ กอช. ที่ สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กอช.ตามกฎหมาย ตั้งเป้าว่าจะเปิดรับสมาชิกในปีนี้ให้ได้ 5 แสนราย และในปีหน้าเพิ่มอีก 1 ล้านราย จึงเป็นฝันสลายในยามดึก

ขณะที่แผนการให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแขนขาหาสมาชิกให้ กอช. ก็ต้องล้มไปด้วย เพราะนโยบายไม่สานต่อและการลงทุนระบบต้องใช้เงินลงทุนถึง 700 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา กอช.เพิ่งลงทุนระบบไม่กี่สิบล้านบาท เพราะงบประมาณมีจำกัด

การชิงเหลี่ยมทางการเมือง ทำให้ กอช.กลายเป็นตัวประกันที่โดนลูกหลงไปในที่สุด

แม้ว่าโดยหลักการแล้ว กอช.จะเป็นประโยชน์กับผู้เกษียณอายุมีเงินดำรงชีพ โดยมีการประเมินว่า หากสมาชิกสะสมตั้งแต่อายุยังน้อย จะได้เงินบำนาญไว้ใช้ในยามชราภาพถึงเดือนละ 5,000-6,000 บาทต่อปี

แต่สมาชิกบางรายที่จ่ายสะสมน้อยและเวลาสะสมไม่มาก ก็ต้องยอมรับว่าอาจได้เงินบำนาญหลังเกษียณน้อย ไม่พอใช้ในชีวิต แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีหลักประกันอะไรเลย

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่รัฐบาลนี้ไม่ให้ความสำคัญกับกองทุนนี้

แม้ว่าล่าสุด กิตติรัตน์ จะออกมาแก้ต่างว่า ยังเดินหน้า กอช. แต่ก็สั่งให้มีการรื้อใหญ่ กอช.ใหม่ ให้ สศค.ศึกษาทบทวนใน 3 ประเด็น เพื่อให้ กอช.มีความน่าสนใจของแรงงานนอกระบบที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่ 1 ที่ให้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินตอบแทนหลังจากที่สมาชิกเกษียณอายุ 60 ปี กฎหมายเดิมกำหนดไว้อย่างเดียวว่าให้รับเป็นบำนาญ ทำให้แรงงานไม่สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก เพราะเห็นว่ารายได้ต่อเดือนที่ได้หลังเกษียณเป็นจำนวนน้อย ไม่กี่พันบาท โดยเปิดให้สมาชิกเลือกได้ว่าจะรับเป็นบำเหน็จหรือเป็นเงินก้อน

ประเด็นที่ 2 เรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลที่กำหนดไว้เป็นขั้นบันได 50 บาท 80 บาท และ 100 บาท ให้จ่ายสมทบเป็นอัตรา 100 เท่ากันหมด

ประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องของการบริหารการลงทุน ที่ให้นำเงินของสมาชิกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ ควรมีหรือไม่ เพราะอาจทำให้แรงงานเป็นกังวลและไม่มาเป็นสมาชิก

แต่พอยกร่างขึ้นมาหลายคนต้องผวาเฮือก!

หนึ่ง สมชัย ผู้อำนวยการ สศค. บอกว่า กิตติรัตน์ เห็นชอบให้เสนอแก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก่อนส่งให้สภาพิจารณา

ดังนั้น กว่าจะดำเนินการได้เสร็จภายในปีหน้าจึงจะสามารถเริ่มรับสมาชิกแรงงานนอกระบบ 30 ล้านคน เข้ามาเป็นสมาชิกได้

แต่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความไว้ใจอย่างยิ่ง

ประการต่อมา เมื่อพิจารณาสาระของการแก้ไขกฎหมาย กอช.มีสาระคัญ ประกอบด้วยให้สมาชิกเลือกที่จะรับเงินหลังเกษียณอายุ 60 ปี เป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ จากเดิมที่เป็นเงินบำนาญอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังแก้ไขการจ่ายเงินสมทบของภาครัฐที่เดิมจ่ายเป็นขั้นบันได้ตามอายุของสมาชิก เริ่มตั้งแต่ 50 บาท80 บาท และ 100 บาท ให้จ่ายเป็นอัตราเดียว 100 บาท แต่ทั้งปีต้องไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

รวมถึงแก้ไขให้คนที่อายุเกิน 60 ปี สามารถเป็นสมาชิกได้ แต่ต้องเป็นไม่ต่ำกว่า 5 ปี หากออกก่อนจะได้คืนเฉพาะเงินที่ตัวเองจ่ายสมทบเท่านั้น ไม่ได้ส่วนของที่ภาครัฐจ่ายสมทบ กรณีที่สมาชิกเกิดพิการ สามารถถอนเงินทั้งในส่วนที่ตัวเองจ่ายสมทบพร้อมกับเงินที่รัฐบาลจ่ายสมทบให้ จากที่กฎหมายเดิมให้ถอนเฉพาะที่สมาชิกจ่ายเท่านั้น

ยังมีอีก ตำแหน่งเลขาธิการ กอช. ก็ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยร่างที่แก้ไขไม่ต้องสรรหาคนนอกมาเป็นเลขาธิการ โดยให้ผู้อำนวยการ สศค.เป็นเลขาธิการ กอช.โดยตำแหน่ง

เท่ากับว่า โยนภาระหน้าที่การดูแลสินทรัพย์ไปให้ข้าราชการประจำที่ทำงานจิปาถะบันเทิงให้กับราชการ

ยังไม่พอ ได้มีการแก้ไขเรื่องการลงทุน ห้ามมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น การลงทุนในหุ้น ให้ลงทุนได้เฉพาะเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดทุน

ประกันได้เลยว่า กองทุนนี้อาจดูดีในยามตั้งต้น แต่พอถึงตอนปลาย รายได้ที่หามาจะไม่พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละปีแน่นอน เพราะรายรับดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ไม่พอยาไส้ให้บรรดาคนนอกระบบที่ต้องการมีสวัสดิการในยามแก่เฒ่า

การแก้ไขกฎหมายใหม่คาดว่าจะเสร็จภายในปีหน้า ถึงจะเริ่มรับสมาชิกได้ โดยกระทรวงการคลังเล็งผลเลิศว่าจะมีแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกถึง 20 ล้านคน โดยในปีแรกคาดว่าจะมีคนเข้ามาเป็นสมาชิกประมาณ 5 แสนคน

สำหรับการหาสมาชิกมาร่วมในกองทุนนั้น จะมอบหมายให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ที่งานล้นมืออยู่แล้วเป็นผู้หาสมาชิกให้ โดยจะให้สมาชิกเปิดบัญชีกับแบงก์นั้นเลย โดยสมาชิกต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าเดือนละ 50 บาท

เรียกว่า จ้างให้ธนาคารรัฐเป็นคนหาลูกค้าให้ แต่ไม่มีคอมมิชชัน

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้น แต่การแก้กฎหมายต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ต้องผ่านการกลั่นกรองของกฤษฎีกาและต้องผ่านการพิจารณาสภาอีกถึง 3 วาระ ทำให้ต้องใช้เวลาอีกนานนับปี ในกรณีที่รัฐบาลมีความจริงใจที่จะเดินหน้า กอช.

ในทางตรงข้าม หากรัฐบาลมีวาระในใจไม่เอากองทุน กอช.ตั้งแต่แรกอย่างที่มีความพยายามมาตลอด เพราะกลัวเป็นการสร้างงานให้กับคู่แข่ง การเดินหน้ารื้อกฎหมาย กอช.ใหม่ จึงเป็นฉากบังหน้าเตะถ่วงกองทุนการออมแห่งชาติที่ต้องการสร้างรากฐานให้กับบรรดาคนนอกระบบออกไปเรื่อยแบบไม่ให้มีอนาคตนั่นเอง