posttoday

ปรับ "ยงยุทธ" พ้น ครม. ล้างมลทินรัฐบาล

28 กันยายน 2555

ชะตากรรมทางการเมืองของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ชะตากรรมทางการเมืองของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กำลังใกล้เข้าสู่จุดหักเหสำคัญเข้าไปทุกขณะ ท่ามกลางความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมากว่าจะยื้ออยู่ในตำแหน่งได้อีกนานแค่ไหน

ล่าสุด ได้เริ่มปฏิบัติการยื้อรอบใหม่ด้วยการยื่นเรื่องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็น สส.ของตัวเอง เพื่อให้มีความเห็นเบื้องต้นว่าสิ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรีและ สส.หรือไม่ ตามมาตรา 102 (6) และ 174 (4) หลังจากคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติให้ออกจากราชการตามความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากคดีทุจริตสนามกอล์ฟอัลไพน์

ตามขั้นตอนเมื่อยื่นให้ กกต.แล้ว บทบัญญัติมาตรา 91 วรรค 3 ระบุว่า ในกรณีที่ กกต.มีความเห็นให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ต้องส่งเรื่องกลับมายังประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ในจุดนี้เองจะทำให้รู้ว่าชะตากรรมของ ยงยุทธ จะออกหัวหรือออกก้อย

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีเสียงวิจารณ์ตามติดเป็นเงาตามตัว กดดันให้ ยงยุทธ แสดงสปิริตทางการเมืองเพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเดือดร้อนเข้ามารับหน้าเสื่อวินิจฉัยเผือกร้อนชิ้นนี้

หากเสียงวิจารณ์ที่ออกมาได้รับการเพิกเฉย กลับเลือกส่งเรื่องไปให้ กกต.เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองในเบื้องต้นแล้ว ไม่ใช่สวมหมวกรัฐมนตรีไปเรื่อยๆ โดยที่ปราศจากการตรวจสอบจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญ สามารถใช้ประโยชน์เพื่อส่งสัญญาณให้เลิกวิจารณ์เรื่องจริยธรรมทางการเมืองของตัวเองชั่วคราว จนกว่า กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นออกมาด้วย ผ่านการยกข้ออ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดการกดดันการทำงานของทั้งสององค์กร

“จะไม่ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องนี้อีก ขอให้เรื่องจบ ไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อต่อไป” เป็นประโยคที่เผยไต๋ว่า นับจากนี้ มท.1 จะใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว

ไม่เพียงเท่านี้ ยังป้องกันไม่ให้ตัวเองหลุดคำพูดอะไรออกมาที่อาจจะมีผลผูกพันต่อการพิจารณาคดีนี้ในอนาคต

แต่ใช่ว่าการทอดเวลาอยู่บนเก้าอี้ต่อไปลักษณะนี้จะช่วยให้รอดจากเสียงติฉินนินทาไปได้ เพราะกำลังมีแนวโน้มว่ากระทรวงมหาดไทยจะเกิดเกียร์ว่าง

เนื่องมาจากเจ้ากระทรวงก็ยังข้องใจถึงสถานะตัวเองอยู่พอสมควร ส่งผลให้ไม่กล้าลงนามในคำสั่งที่อาจมีผลผูกพันต่อกระทรวง ดังนั้นอย่างมากก็ทำงานเฉพาะตรวจเยี่ยมพื้นที่และงานธุรการทั่วไป

ปรับ "ยงยุทธ" พ้น ครม. ล้างมลทินรัฐบาล

 

ในทางกลับกัน ถ้าเกิดเซ็นคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรไปอาจเข้าข่ายมีความผิดได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 92 วรรคท้าย จะคุ้มครองให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยก็ตาม แต่สถานการณ์ที่ไม่เข้าใครออกใครเช่นนี้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปล่อยให้เกิดสุญญากาศชั่วคราวขึ้น

การปล่อยให้มีสุญญากาศเช่นนี้ อาจเป็นผลดีต่อตัวรัฐมนตรีที่สามารถมีสถานะเสนาบดีต่อไปได้ แต่อีกด้านหนึ่งกำลังจะสร้างภาระให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี

“ยิ่งลักษณ์” จะทนต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้แค่ไหน อย่าลืมว่าไม่นานมานี้เพิ่งเจอกระแสกดดันให้ปลด “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มาแล้วครั้งหนึ่งจากกรณีโกหกสีขาว

แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบแรงกดดันระหว่าง “ยงยุทธ-กิตติรัตน์” แล้วต้องบอกว่าเป็นความเหมือนที่แตกต่าง ซึ่งสร้างความลำบากใจให้นายกฯ แทบทั้งสิ้น

ความเหมือนดังกล่าวอยู่ที่เป็นแรงกดดันให้นายกฯ เร่งดำเนินการกับทั้งสองคนให้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

ขณะที่ความแตกต่าง คือ รองฯ กิตติรัตน์ เผชิญกับปัญหาจริยธรรม แต่สำหรับรองฯ ยงยุทธ ต้องผจญทั้งแรงเสียดทานด้านจริยธรรมและด้านกฎหมายเกี่ยวกับความชัดเจนของสถานะรัฐมนตรี

สรุปได้ว่าแรงกดดันในกรณี มท.1 มีดีกรีสูงกว่ากรณีโกหกสีขาว

เมื่อกระแสกดดัน ยงยุทธ มีความเข้มข้นมากฉันใด กระแสก็ย่อมกดดันมาที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมากเท่ากันฉันนั้น

จุดนี้เองอาจเป็นปัจจัยให้ ยิ่งลักษณ์ ต้องปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย เพื่อนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ จากเดิมจะปรับ ครม.ตั้งแต่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษการเมือง

โดยเริ่มมีการคาดการณ์ว่าการปรับ ครม. จะมีขึ้นภายในเดือน ต.ค. ขึ้นอยู่ว่าจะก่อนหรือหลังการนำเสนอรายงานแสดงผลการดำเนินการของ ครม.ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 (แถลงผลงาน 1 ปีรัฐบาล) ต่อที่ประชุมรัฐสภา

รูปแบบการปรับ ครม.ครั้งนี้ จะเป็นการปรับรอบใหญ่ราว 10 ตำแหน่ง ภายใต้ 3 ที่มาสำคัญ

ปรับเอากลุ่มสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เข้ามา เริ่มปรากฏชื่อ “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” อดีต รมช.มหาดไทย สมัยรัฐบาลทักษิณ เข้ามาทำหน้าที่แทน ยงยุทธ

ปรับเพิ่มเสริมแกร่งทีมเศรษฐกิจรัฐบาล มีจุดประสงค์เพื่อเข้ามาซ่อมแซมนโยบายประชานิยมที่กำลังมีปัญหา เช่น นโยบายจำนำข้าว หรือปัญหาค่าครองชีพประชาชน

ปรับเพื่อทดแทนบุญคุณทางการเมือง

ผลพลอยได้ที่ ยิ่งลักษณ์ จะได้รับจากการปรับ ครม.รอบนี้นั้น นอกจากจะได้ลดกระแสกดดันและคำครหาแล้ว ยังจะมีประโยชน์ไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านในช่วงหลังการแถลงผลงานรัฐบาลด้วย

การได้ปรับรัฐมนตรีที่คาดว่าจะถูกฝ่ายค้านยื่นซักฟอกไปอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ช่วยให้ความเข้มข้นในการอภิปรายลดลงในระดับหนึ่งทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภาจะอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นที่ไม่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้

แรงกดดันที่มีต่อตัว ยงยุทธ จะเป็นตัวเร่งให้การปรับ ครม.เกิดเร็วขึ้นเพื่อเรียกศรัทธารัฐบาลปู และที่สุดแล้วจะเป็นการล้างมลทินต่ออายุและความชอบธรรมให้กับรัฐบาล ซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มขึ้นทันทีที่ ยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาในสุดสัปดาห์นี้