posttoday

ส่งออกเดี้ยง-สินเชื่อหดลางร้ายเศรษฐกิจปีหน้า

26 กันยายน 2555

เศรษฐกิจไทยในปีหน้า ที่หวังว่าจะสดใสในปีนี้ อาจจะเป็นได้แค่หวัง หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

เศรษฐกิจไทยในปีหน้า ที่หวังว่าจะสดใสในปีนี้ อาจจะเป็นได้แค่หวัง หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ไม่สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นเศรษฐกิจได้

แนวโน้มว่า มาตรการคิวอี 3 คือการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการฉีดเงินออกสู่ระบบโดยไม่จำกัดจำนวน ซึ่งถือเสมือนเป็นยาสามัญแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีผลระยะสั้นในการกระตุกให้ชีพจรเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว มากกว่าจะหวังผลได้ในระยะยาว และสิ่งที่ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้

สัญญาณร้ายเหล่านี้ส่งผ่านยอดคำสั่งซื้อสินค้าไตรมาสแรก ปี 2556 ที่ลูกค้าต่างชะลอคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ทั้งที่ปกติช่วงนี้จะต้องเริ่มมีการสั่งซื้อเข้ามาบ้าง หลังปิดคำสั่งซื้อไตรมาส 4 ของปี 2555 ไปแล้ว เนื่องจากลูกค้าต่างต้องการขอรอดูยอดขายช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในช่วง 2 เดือนนี้ก่อน เพราะยังไม่แน่ใจว่าสินค้าที่สั่งซื้อไปแล้วจะขายได้หรือไม่

นี่คือสัญญาณลบของการส่งออกที่ยังไม่มีวี่แววที่จะดีขึ้น นอกจากนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่ยังขอเจรจาลดราคาสินค้า โดยอ้างเหตุผลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและยังไม่มีแนวโน้มว่าฟื้นในระยะสั้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีนและญี่ปุ่น ตลอดจนต้องการรอดูสถานการณ์น้ำของไทยว่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมมากเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ เพราะห่วงจะกระทบต่อการผลิตและการขนส่งสินค้าไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด

การที่ผู้นำเข้าประเทศคู่ค้าของเรางอแง ขอเจรจาลดราคาสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ค่าเงินบาทผันผวนมากในช่วงนี้ เพียงเดือนครึ่งที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.5% หากเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดี ก็จะทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าสวนทาง ย่อมทำให้ราคาสินค้าจากไทยที่จะแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้นำเข้าจะใช้เวลาในการตัดสินใจสั่งซื้อประมาณ 2 เดือน

สุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังคงมาจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งสหรัฐและยุโรปที่ทำให้ภาคการส่งออกจะยังคงมีปัญหาสำหรับปี 2556

ด้าน อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ผลจากการที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ คือ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น (G3) ดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่น จะทำให้ปี 2556 เศรษฐกิจทั่วเอเชียรวมถึงไทยต้องเจอกับความกดดันของสภาพคล่องที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่า ตลอดจนการเริ่มก่อตัวของเงินเฟ้อที่มาจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้น (Asset Price Inflation) ตั้งแต่ปีนี้

“การดูแลเงินไหลเข้าและออกจะเป็นประเด็นที่ธนาคารกลางทั่วเอเชียให้ความสำคัญ เพราะถ้าปล่อยให้เกิด Asset Price Inflation จะสร้างปัญหาต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจริงได้

นอกจากนี้ มีโอกาสที่เศรษฐกิจเอเชียจะเจอกับปัญหา Stagation คือมีเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจโตต่ำ เพราะนอกจากจะเจอกับปัญหาการส่งออกที่จะต่ำลงแล้ว ยังมีผลข้างเคียงจากนโยบายของประเทศ G3 จะทำให้มีเงินไหลเข้าไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน หุ้น จนราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดเงินเฟ้อลักษณะนี้ขึ้นย่อมไม่เป็นประโยชน์กับการเติบโต” อุสรา กล่าว

หากการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำลง และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า อะไรจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทย

ต้องแยกส่วนของเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาคส่งออกและภาคตลาดเงินตลาดทุน การส่งออกจะลดลง แต่มีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อมาลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ มากขึ้น จะทำให้ดุลการค้าของประเทศดูแย่ลงไปอีก แถมดึงดุลบัญชีเดินสะพัดให้หดตัวลงอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการนำเข้าที่ขยายตัว 15%

ส่งออกเดี้ยง-สินเชื่อหดลางร้ายเศรษฐกิจปีหน้า

 

แต่การไหลเข้าของเงินมาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร จะทำให้เกิดการเก็งกำไร เมื่อไหร่ที่ราคาหุ้นสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นฐาน นั่นคือการมีฟองสบู่ จะเป็นการสร้างความผันผวนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดเงิน และจะสร้างความเสียหายให้นักลงทุนมากเวลาตลาดปรับฐาน

เงินร้อนเหล่านี้เมื่อเข้ามาจะทำให้ ธปท.ต้องออกพันธบัตรมาดูดเงินบาทออกจากระบบเพื่อรักษาปริมาณเงินไม่ให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ ธปท.มีภาระดอกเบี้ยพันธบัตร ส่งผลให้บัญชีของ ธปท.มีโอกาสจะขาดทุนสะสมมากขึ้นอีก

ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจนั้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่เอื้ออำนวย แต่แรงกดดันในประเทศกลับเป็นตัวทำร้ายอุตสาหกรรมในประเทศเอง ด้วยการที่รัฐบาลยืนกรานที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือน ม.ค. 2556 วันละ 300 บาท ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจในปีหน้า ไม่น่ากลัวเท่ากับการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่ไม่ได้ มีออร์เดอร์ลดลง ก็จะต้องลดการจ้างงานตามมาเป็นธรรมดา

การว่างงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 0.9% แม้ว่าจะเป็นระดับที่ไม่น่ากังวล และต้องจับตาผลสะท้อนของผู้ประกอบการหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่จะเกิดตามมาจากการคาดการณ์ของ เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสินเชื่อทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ในปี 2556 มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ที่ระดับ 11.5% ลดลงจากในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตที่ 13%

การเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จะเริ่มชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยในปัจจุบันอาจทำให้บริษัทขนาดใหญ่ตัดสินใจเลือกระดมทุนด้วยตัวเอง เช่น การออกหุ้นกู้ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ (ไอพีโอ)มากกว่าการใช้สินเชื่อขณะเดียวกันเชื่อว่าผลจากเกณฑ์บาเซิล3 ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เองลดสัดส่วนการปล่อยกู้ในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ลงเช่นกัน เพราะเกณฑ์บาเซิล 3 จะทำให้การปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่กินทุนมาก ธนาคารพาณิชย์จึงจะหันมารุกหนักที่สินเชื่อเอสเอ็มอีและรายย่อย ซึ่งกินทุนน้อยและให้ผลตอบแทนสูง

กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาปรับสัดส่วนสินเชื่อในพอร์ตเพื่อรองรับเกณฑ์บาเซิล 3 โดยจะเน้นการเติบโตไปที่ธุรกิจรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอี ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่จะมีการลดสัดส่วนการปล่อยกู้ลงและหันไปสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแทน

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของการบริโภค และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แต่การบริโภคก็จะชะลอตัวกว่าปี 2555 เพราะมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลส่วนใหญ่สิ้นสุดลง ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องติดตาม คือ แรงกดดันของเงินเฟ้อ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามว่า การลงทุนภาครัฐจะเริ่มดำเนินการและเข้ามาทดแทนการชะลอตัวของต่างประเทศได้เพียงใด เพราะหากไม่คืบหน้าจะทำให้ไม่มีการลงทุนตามที่คาดไว้ โดยเฉพาะเงินลงทุนมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ที่กระบวนการประมูลโครงการจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 2556

ทอดตามองไปแล้ว แค่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ สัญญาณร้ายทางเศรษฐกิจก็ยังมีมาเป็นระยะ ข่าวดีมีน้อยเหลือเกิน

ที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจปีหน้าอาจจะดีกว่าปีนี้ เริ่มมีเห็นเค้าลางของความไม่แน่นอน และก็ยังไม่เห็นมาตรการเตรียมรับมือเศรษฐกิจหดตัวจากรัฐบาล นอกจากยืนยันที่จะซ้ำเติมด้วยการไม่สนใจคำขอของเอกชนและจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป