posttoday

เงินเยอะ-ศก.ใหญ่ ไม่ได้ช่วย ศึกนี้จีน ไม่ชนะญี่ปุ่น

26 กันยายน 2555

ศึกพิพาทแย่งชิงเกาะเตียวหยู หรือเซนกากุ ระหว่างจีนญี่ปุ่น อาจไม่ได้จบลงง่ายอย่างที่หลายฝ่ายคิดไว้ในตอนแรกๆ

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ศึกพิพาทแย่งชิงเกาะเตียวหยู หรือเซนกากุ ระหว่างจีนญี่ปุ่น อาจไม่ได้จบลงง่ายอย่างที่หลายฝ่ายคิดไว้ในตอนแรกๆ ว่า ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายที่ถูกกดดันอย่างหนักทางเศรษฐกิจจนต้องยอมล่าถอยไปเอง

ญี่ปุ่นนั้นเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหลมาเมื่อต้นปีที่แล้ว และยังคงบอบช้ำทางเศรษฐกิจอยู่มาก ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปีนี้ แต่รัฐบาลก็ต้องแบกรับรายจ่ายมหาศาลในการฟื้นประเทศและอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นการเปิดศึกกับจีน ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และยังเป็นฐานการผลิตสำคัญของนักลงทุนแดนปลาดิบ จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม สถานภาพการเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก” ซึ่งกุมอิทธิพลทางการผลิต การค้า และการลงทุน ก็อาจไม่ได้ช่วยให้จีนเป็นฝ่ายกำชัยชนะเหนือญี่ปุ่นในกรณีพิพาททางดินแดนครั้งนี้

เพราะหากต้องงัดข้อกันจริงๆ แล้ว จีนเองอาจเป็นฝ่าย “พ่ายแพ้” ไม่น้อยไปกว่าญี่ปุ่น เพราะจีนเองก็มี “จุดอ่อน” ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ส่วนจุดแข็งที่มองว่าเป็นการถือไพ่เหนือกว่านั้น ก็อาจไม่เป็นไปตามที่คิดเสมอไป

กรณีนี้อาจไม่ง่ายเหมือนข้อพิพาททางดินแดนครั้งก่อนๆ เช่นเมื่อครั้งที่จีนสั่งสอน “ฟิลิปปินส์” จากการพิพาทแย่งชิงหมู่เกาะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยการระงับการนำเข้ากล้วย โดยอ้างว่าพบแมลงศัตรูพืชและต้องคงสินค้าไว้ที่ด่านตรวจโรคกักกันสินค้าเป็นเวลานานจนปล่อยให้กล้วยเน่า

ทว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่ฟิลิปปินส์และไม่เหมือนอีกหลายประเทศในอาเซียน เพราะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ในโลก และเป็นคู่ค้าใหญ่สุดอันดับ 4 ของจีน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปีที่แล้วสูงถึง 3.429 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 10.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่ามูลค่าจีดีพีประเทศตลอดทั้งปีของไทย เมื่อปี 2554 เสียอีก

จุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเบอร์ 2 ยังไม่อาจเอาชนะเศรษฐกิจเบอร์ 3 ได้อย่างเด็ดขาดก็คือ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง”

แม้สินค้าทั่วโลกในวันนี้จะตีตราเมดอินไชนา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตของโลกไปแล้ว แต่จีนก็ยังไม่สามารถผลิต “ชิ้นส่วนทั้งหมด” ของสินค้าหลายประเภทได้ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเทคโนโลยี เช่น กล้อง สมาร์ตโฟน และโทรทัศน์ ซึ่งแม้จะผลิตและตีตราในจีน แต่ชิ้นส่วนเฉพาะในบางจุดยังคงเป็นสินค้าที่ส่งตรงมาจากญี่ปุ่นไม่ใช่สินค้าที่ผลิตในจีน เพราะเป็นชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต

กรณีนี้อาจเทียบให้เห็นง่ายๆ ได้กับไอโฟนที่ผลิตในจีน แต่ชิ้นส่วนของการประมวลผลส่วนใหญ่ยังคงต้องส่งมาจากโรงงานของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์

อีวาน เวลิทช์เชฟ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการจัดการนิอิงาตะ เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า เศรษฐกิจจีนยังคงต้องพึ่งพาญี่ปุ่นอยู่มาก ดังนั้นหากปล่อยให้ปัญหาบานปลายจนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต้องอ่อนแอลง ก็ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนเองในท้ายที่สุด ซึ่งบรรดาผู้นำแดนมังกรก็รู้ดีและฉลาดพอที่จะไม่ยอมให้เกิดขึ้น

เงินเยอะ-ศก.ใหญ่ ไม่ได้ช่วย ศึกนี้จีน ไม่ชนะญี่ปุ่น

 

ขณะที่ เจเรอมี สตีเวนส์ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท สแตนดาร์ด แบงค์ กรุ๊ป ในแอฟริกามองว่า ระบบซัพพลายเชนของโลกล้วนเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น มีหลายด้านและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทั้งฝ่ายจีนและญี่ปุ่นต่างก็ต้องพึ่งพากันและกันในระบบการค้าโลกวันนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย

นอกจากประเด็นจุดอ่อนของจีนแล้ว “จุดแข็ง” ของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ซึ่งถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศไว้กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 93 ล้านล้านบาท) ก็อาจไม่ได้ช่วยให้จีนถือไพ่เหนือกว่าญี่ปุ่นเสมอไปเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ไม่นาน จินไปสง เจ้าหน้าที่จากสถาบันการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ไชนา เดลี ในทำนองว่าหากญี่ปุ่นยังคงดื้อด้านจีนอาจต้องตอบโต้กลับทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นผู้ถือครองพันธบัตรรายใหญ่ของญี่ปุ่นเอาไว้ หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่นั่นเอง ซึ่งจีนอาจขายทิ้งพันธบัตรญี่ปุ่นแล้วถือเงินกลับประเทศแทนเพื่อสั่งสอน

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว การขายพันธบัตรทิ้งแล้วนำเงินกลับประเทศไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะเสี่ยงต่อการทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่เป็นผลดีต่อทั้งภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของจีน

หากจะขายทิ้งพันธบัตรจีนต้องหาแหล่งลงทุนอื่นๆ มารองรับเงินจำนวนมหาศาลก้อนนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่หาได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในภาวะการลงทุนทั่วโลกที่สุดผันผวนในเวลานี้ ซึ่งการถือครองพันธบัตรความเสี่ยงต่ำ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ และเยอรมนี ถือเป็นตัวเลือกต้นๆ ของนักลงทุนในการลดความเสี่ยงของความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังดีอยู่ก่อนปี 2551 หรือปีที่เกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่สหรัฐจนนำไปสู่การล่มสลายของวาณิชธนกิจเลห์แมน บราเธอร์ส ตราสารหนี้ของญี่ปุ่นยังไม่ได้เป็นที่ต้องการของทั่วโลกมากเช่นในปัจจุบัน ทว่าหลังจากนั้นมาอัตราการถือครองพันธบัตรญี่ปุ่นของจีนก็ได้เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนพุ่งไปแตะระดับสูงสุดเท่าที่เคยซื้อมาที่ 2.31 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.14 ล้านล้านบาท)

ขณะเดียวกัน การขายทิ้งพันธบัตรญี่ปุ่นก็จะทำให้เงินเยนอ่อนค่า ซึ่ง “เข้าทาง” ญี่ปุ่นพอดิบพอดีอีกด้วย

“ปัจจุบันกำลังมีแนวความคิดว่า การถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศมหาศาลจะช่วยให้จีนกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและอาจใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุนโยบายต่างประเทศ ทว่าความคิดนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป จีนซื้อพันธบัตรต่างชาติเพราะเป็นหนึ่งในนโยบายทางเศรษฐกิจและการลงทุนของจีน ดังนั้นถ้าจะขายพันธบัตรญี่ปุ่นก็ต้องหันไปซื้ออย่างอื่นแทน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและอาจกลับมาย้อนทำร้ายตัวเอง” แพตทริก โชวาเนก ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซิงหัว เปิดเผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซี

ภายใต้เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมต่อถึงกันหมด และเป็นยุคของถูกที่ต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ จีนจึงอาจปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นสักพัก เพื่อให้กระแสชาตินิยมกลบปัญหาเศรษฐกิจและข้อสงสัยทางการเมืองต่างๆ ในขณะที่กำลังจะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์ปลายปีนี้ ทว่า หากคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวแล้ว จีนย่อมไม่อาจปล่อยให้ปัญหาบานปลาย

เพราะหากญี่ปุ่นเจ็บ จีนก็ช้ำ ไม่ต่างกัน