posttoday

จำนำข้าวเริ่มฉาวโฉ่

25 กันยายน 2555

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า ไม่รู้จะต้องถมเงินงบประมาณไปกี่แสนล้านบาทถึงจะเต็ม กับนโยบายจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลเพื่อไทย

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า ไม่รู้จะต้องถมเงินงบประมาณไปกี่แสนล้านบาทถึงจะเต็ม กับนโยบายจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลเพื่อไทย

เพราะถึงวันนี้เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 และโครงการข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 (รอบพิเศษ) มีข้าวเปลือกเข้าโครงการจำนำทุกเมล็ดเกินกว่า 25 ล้านตันเข้าไปแล้ว

แบ่งเป็น ข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 รับจำนำข้าวเปลือกในโครงการ 6.951 ล้านตัน ใช้เงินไปแล้ว 118,535 ล้านบาท

ข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 รับจำนำข้าวเปลือกในโครงการ 11.470 ล้านตัน ใช้เงินไปอีก 170,00-1 ล้านบาท

และล่าสุด บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติอนุมัติเพิ่มกรอบปริมาณข้าวเปลือกที่จะเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 (รอบพิเศษ) เป็น 16.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 3.29 ล้านตัน โดยใช้เงินเพิ่มอีก 4.95 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ย. อนุมัติการขยายปริมาณและกรอบการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 11.11 ล้านตัน เป็น 13.31 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านตัน ใช้เงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก 3.2 หมื่นล้านบาท

สรุปแล้วโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 3 รอบการผลิต ใช้เงินงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 3.7 แสนล้านบาท

ไม่รวมกับเงินจ่ายขาด เช่น เงินจ่ายขาดขององค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (ไม่เกิน 105 บาท/ตัน) แยกเป็น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับฝากอีกตันละ 55 บาทต่อตัน และค่า Overhead ตันละ 50 บาท รวมเป็นวงเงิน 2,835 ล้านบาท

ค่าจ้างโรงสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร 500 บาทต่อตัน เป็นวงเงิน 13,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดเพื่อเป็นค่าดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายบริหารสินเชื่อให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 1.4 หมื่นล้านบาท ค่าประชาสัมพันธ์โครงการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกอีกกว่า 600 ล้านบาท

คิดเป็นเงินงบประมาณที่จ่ายขาดไปเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ข้าวสารที่รัฐบาลเก็บแช่ไว้ไว้ในสต๊อกจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 และนาปรัง 2555 ไม่รวมข้าวสารในโครงการนาปรังรอบพิเศษที่รอเข้าโครงการอีก 5 ล้านตัน ที่ ณ วันที่ 13 ก.ย. 2555 มีจำนวนสูงถึง 9.987 ล้านตัน

ไม่นับรวมข้าวสารที่อยู่ระหว่างการส่งมอบที่คาดว่าจะมีปริมาณ 23 ล้านตัน

ข้าวสารที่รัฐบาลแบกไว้เหล่านี้ต้องเสียค่าเช่าโกดังและค่ารักษาสภาพข้าว 55 บาทต่อตันต่อเดือน

คิดเป็นเงินจ่ายขาดเดือนละอย่างน้อย 500 ล้านบาท

เรียกว่า ยิ่งเก็บข้าวไว้นานยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่บานปลาย

นี่จึงเป็นที่มาของตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 517,958 ล้านบาท

แต่นั่นยังไม่พอ เพราะเมื่อตรวจสอบเอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีการสรุปปริมาณข้าวเปลือกที่จะเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังรอบพิเศษว่าจะมีปริมาณสูงถึง 8.586 ล้านตัน

ข้อมูลนี้สะท้อนชัดว่าแตกต่างจากตัวเลขที่คณะกรรมการ กขช.ที่มีบุญทรงเป็นประธาน และได้สรุปว่ามีข้าวเปลือกเข้าโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังรอบพิเศษเพิ่มขึ้นเพียง 5.49 ล้านตัน และเตรียมเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาอนุมัติ

โดยที่ประชุมอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว ครั้งที่ 12/2555 วันที่ 17 ก.ย. 2555 ที่มี ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานนั้น ผู้แทนจาก ธ.ก.ส. รายงานว่า ณ วันที่ 16 ก.ย. มีข้าวเปลือกที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 แล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14.237 ล้านตัน และกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานผลการขึ้นทะเบียนและออกหนังสือรับรองเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวเปลือกจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2555 พบว่ามีข้าวประมาณ 5.459 ล้านตัน

จำนำข้าวเริ่มฉาวโฉ่

 

ธ.ก.ส.จึงขอให้เสนอ กขช. และ ครม. ให้ขยายปริมาณข้าวเปลือกนาปรังรอบพิเศษ และขอให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินเพิ่มให้อีก 6 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ ครม.อนุมัติไว้ 269,160 ล้านบาท

ตรงนี้ชี้ให้เห็นใน 2 ประเด็น คือ 1.มีข้าวเปลือกที่รอเข้าโครงการเกินกว่ากรอบที่ ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2555 มีมติอนุมัติให้ขยายปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกจาก 11.11 ล้านตัน เป็น 13.31 ล้านตัน

เรียกได้ว่า มีข้าวเปลือกรอเข้าโครงการจำนวน 3.127 ล้านตัน ในลักษณะการ “ฝาก” ข้าวเปลือกไว้ที่โรงสี และทันทีที่ ครม.มีมติอนุมัติเพิ่มกรอบการจำนำข้าวเปลือกและอนุมัติการใช้เงิน ข้าวเหล่านี้จะเข้าสู่กระบวนการออกใบประทวนให้เกษตรกรและนำมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.ได้ทันที

2.มีข้าวเปลือกที่รอเก็บเกี่ยวใน “ท้องทุ่ง” เพื่อเข้าโครงการจนถึงวันที่ 30 ก.ย. อีก 5.459 ล้านตัน แม้ พรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จะระบุว่า ปริมาณข้าวเปลือกดังกล่าวเป็นตัวเลขข้าวเปลือกที่ปลูกและจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มิ.ย.ก.ย. 2555 ที่มีกว่า 5 ล้านตัน

แต่เมื่อนับอายุการปลูกข้าวก่อนเก็บเกี่ยวแต่ละรอบจะมีระยะเวลา 100-120 วัน จะพบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากข้าวที่ปลูกตั้งแต่เดือน มิ.ย. จะทยอยเข้าโครงการตั้งแต่ต้นเดือนปลายเดือน ส.ค.สิ้นเดือน ก.ย. 2555

จึงสรุปได้ว่า ข้าวเปลือกนาปรังรอบพิเศษจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 8.5 ล้านตัน ต่างจากตัวเลข 3.1 ล้านตัน ที่บุญทรงระบุอย่างลิบลับ

และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการขยายปริมาณข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำรอบพิเศษอีก 3 ล้านตัน

หากบุญทรงไม่ต้องการเห็นตัวเลขข้าวเปลือกในโครงการ “กระโดด” ไปถึง 18-19 ล้านตัน ก็จะไม่มีการเสนอขยายกรอบเข้า ครม.อีก

แต่ทว่าข้าวเปลือกล็อตนี้จะถูกดันเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในรอบปีการผลิต 2555/2556 อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐบาลเพื่อไทยมีนโยบายข้าวเปลือกรับจำนำข้าวทุกเมล็ด “ค้ำคอ” อยู่

แม้ล่าสุด บุญทรงเตรียมเสนอ ครม.วันที่ 25 ก.ย. 2555 รับจำนำข้าวเปลือกรอบปี 2555/2556 เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 255515 ก.ย. 2556 แบ่งเป็นการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 23 ล้านตัน และข้าวเปลือกนาปรัง 11 ล้านตัน ใช้เงินหมุนเวียน 4.05 แสนล้านบาท

แต่โอกาสที่ปริมาณข้าวจะสูงกว่ากรอบการรับจำนำ 23 ล้านตัน มีความเป็นไปได้สูงยิ่ง โดยมีข้ออ้างที่ว่าชาวนาปลูกข้าวกันมาก เพราะข้าวมีราคาดี ชาวนาจึงแห่กันนำข้าวมาจำนำ

ในขณะที่ฟากฝั่งนักวิชาการอย่าง สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ที่ระบุว่า จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปกติจะอยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 666 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตตกประมาณ 10-11 ล้านตัน

สมพร ชี้ว่า ดังนั้นการที่อ้างว่าเกษตรกรปลูกข้าวเพิ่มขึ้นหลังน้ำท่วม ทำให้มีข้าวเปลือกเข้าโครงการเพิ่มมากขึ้นก็เป็นไปได้ แต่ก็ไม่น่าจะสูงถึง 16-19 ล้านตัน เพราะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังส่วนใหญ่ปลูกกันในเขตชลประทาน

สมพร จึงสรุปว่า ข้าวเปลือกที่เข้าโครงการเป็น “ข้าวเก๊”

โดยมีกระบวนการที่โรงสีเร่ซื้อใบรับรองจากเกษตรกร 1,000 บาทต่อใบ หรือหากใบรับรองมีระบุปริมาณข้าวเปลือกไว้สูงก็จะซื้อเกิน 1,000 บาทต่อใบ จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการออกใบประทวนและนำไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.

ดังนั้น ไม่ว่าข้าวเปลือกที่ชาวนาเก็บไว้กินหรือเก็บไว้ทำพันธุ์ก็ตาม แต่ข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่เขียนไว้ใน “กระดาษ” ล้วนแต่จะเข้าโครงการรับจำนำ แลกกับการที่ชาวนาได้เงินส่วนต่างๆ เล็กน้อย แต่โรงสีที่นำข้าวเปลือกมาสวมสิทธิรับกันเนื้อๆ ตันละ 3,000-4,000 บาท

ขณะที่นักวิชาการที่มี อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกล่าชื่อนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และยื่นหนังสือต่อประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์นี้ ว่าโครงการรับจำนำข้าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1) ที่ระบุว่า ห้ามรัฐบาลทำการค้าแข่งกับเอกชน

โดยหวังว่าจะอาศัยคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะปูทางไปสู่การ “ยุติ” โครงการจำนำข้าวเปลือกที่สร้างความเสียหายให้ประเทศมหาศาล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะวันนี้ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ชี้ว่าศาลจะรับคำร้องไว้หรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงการคลังก็เป็นหนึ่งใน “ตัวตั้ง-ตัวตี” ในการคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 โดย ธ.ก.ส. ที่ระบุสอดคล้องกันว่า รัฐบาลต้องหาเงินให้ ธ.ก.ส. เพราะวันนี้ ธ.ก.ส.ไม่มีสภาพคล่องเหลืออยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่มีเงินให้ก็รับจำนำไม่ได้

ขณะที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บอกว่า ได้เตรียมเงินสนับสนุนโครงการจำนำข้าวเพียง 1.5 แสนล้านบาท จากเงินที่ต้องใช้ 4.05 แสนล้านบาท เพราะหาก สบน.กันเงินไว้มากกว่านี้จะเบียดงบลงทุนส่วนอื่นๆ จึงส่งสัญญาณให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวในสต๊อกเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่

“ตรงนี้เป็นกลยุทธ์ที่กระทรวงการคลังกดดันให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวออกไป เพราะหากให้กระทรวงการคลังต้องกู้เงินมาตลอดจะเกิดปัญหาวินัยการเงินการคลังได้ และก่อให้เกิดภาระหนี้ประเทศเพิ่ม” แหล่งข่าวกระทรวงการคลังวิเคราะห์

แน่นอนว่า โครงการจำนำข้าวเปลือกเป็นที่ถูกอกถูกใจชาวนา 3-4 ล้านครัวเรือน ที่ได้เงินขายข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นตันละ 3,000-4,000 บาท อีกทั้งถูกใจนักการเมือง พ่อค้า และโรงสีที่ช่องทางทำมาหากินในโครงการนี้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง หากจะเลิกโครงการก็ยาก

เพราะจะมีเสียงคัดค้านจากชาวนานับล้านอย่างแน่นอน

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกจึงยังมีอยู่ต่อไป

แต่ว่าการใช้งบประมาณจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว พร้อม

แต่ว่าการใช้งบประมาณจะเพิ่มมากขึ้นเป็น‌เงาตามตัว พร้อมๆ กับกลิ่นทุจริตโกงกินใน‌โครงการจะโชยกลิ่นเหม็นคลุ้งและฉาวโฉ่ทุก‌วัน จนกว่าคนไทยทั้งประเทศจะทนไม่ได้