posttoday

ทัวร์ขุนค้อน ยิ่งกร่อนศรัทธา

24 กันยายน 2555

เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรของ“สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” สั่นคลอนหนักขึ้นอีกรอบ เมื่อสุดท้าย “ขุนค้อน” กลับลำในนาทีสุดท้าย

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรของ“สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” สั่นคลอนหนักขึ้นอีกรอบ เมื่อสุดท้าย “ขุนค้อน” กลับลำในนาทีสุดท้าย ตัดสินใจหิ้วกระเป๋าร่วมคณะทัวร์ยุโรป อังกฤษ เบลเยียม ฝรั่งเศส ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมกับการถลุงงบประมาณ 7 ล้านบาท ที่มาจากภาษีประชาชนไปกับภารกิจ ไปกับการหอบหิ้วสื่อมวลชน และนักวิชาการ บางกลุ่มบางฝ่ายไปเปิดหูเปิดตาดูงาน พ่วงกิจกรรมบันเทิงแน่นตาราง

แม้จะชะงักไปอึดใจหนึ่ง แถมเตรียมแผนสำรองเคลียร์คิวไปร่วมงานเปิดเอ็กซ์โปที่ประเทศจีนเพื่อลดแรงเสียดทานที่หนักหนาในช่วงนั้น ทว่าสุดท้าย “สมศักดิ์” ที่ยืนยันความโปร่งใสของทริปนี้ แม้จะมีข้อบกพร่องไปบ้างก็ตัดสินใจร่วมทริปนี้ โดยตัดทอนเหลือเฉพาะวันที่ 21-25 ก.ย. จากกำหนดการทั้งหมด19-27 ก.ย. เพื่อไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

ปัญหาประการแรกที่ทำให้ทริปดูงานรัฐสภาต่างประเทศนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง อยู่ตรงที่กิจกรรมบันเทิงที่สอดแทรกอยู่ในกำหนดการ นอกเหนือจากการชมรัฐสภาอังกฤษ ระบบจัดเก็บข้อมูล และระบบการทำงานของรัฐสภาอังกฤษ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จากนั้นช่วงบ่ายได้พาไปชมพิพิธภัณฑ์ The Imperial War Museum ชมสำนักงาน The Economist Group ชมสถานีโทรทัศน์บีบีซี เยี่ยมชม

ทัวร์ขุนค้อน ยิ่งกร่อนศรัทธา

รัฐสภาฝรั่งเศส และพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เยี่ยมชมรัฐสภายุโรปที่เบลเยียม ที่ดูจะเป็นเหตุผลในการใช้งบก้อนนี้

แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ตรงกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแวะพักรับประทานอาหารที่ภัตตาคารเจ้าดังแห่งลอนดอนอย่าง Four Seasons ไปจนถึงดินเนอร์ฝรั่งเศสสุดหรูบนเรือที่ล่องแม่น้ำแซนน์ โดยเฉพาะการวางคิวไว้ดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกคู่หยุดโลกศึกแดงเดือดระหว่าง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะเกินเลยกับการใช้ภาษีอากรของประชาชนไปเพื่อกิจกรรมศึกษาดูงาน

ประการถัดมาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อพบว่าตอนแรกมีรายชื่อของ “บุตรสาว”ของ “สมศักดิ์” ร่วมคณะเดินทางไปด้วยนั้นแต่ต่อมาได้ชี้แจงว่าทางบุตรสาวได้ออกค่าใช้จ่ายเอง

มาจนถึงประเด็นเรื่องสื่อมวลชน และนักวิชาการ ที่ถูกชักชวนให้ร่วมคณะเดินทางเที่ยวนี้ ถูกมองว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับทางรัฐบาลเพื่อไทย ยิ่งทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงมากขึ้นถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ต้องเชิญทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการมาร่วมคณะเดินทางนอกจากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่สภา ซึ่งต่อมาประธานสภาชี้แจงยืนยันว่าไม่มีเจตนาจูงใจสื่อหรือเอื้อพวกพ้อง

หลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง บุคคลที่เกี่ยวข้องพยายามออกมาชี้แจงว่ากระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตั้งแต่การใช้งบประมาณไปจนถึงการเลือกบุคคลมาร่วมทริป ในขณะที่อีกด้านทุกฝ่ายกลับโยนเผือกร้อนปัดความรับผิดชอบไม่ให้เกี่ยวข้องกับตัวเอง

“วัฒนา เซ่งไพเราะ” โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า โครงการนี้ได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากหน่วยงานของสภาที่รับผิดชอบ คือ สำนักการคลังและงบประมาณแล้ว

“คัมภีร์ ดิษฐากรณ์” รองเลขาธิการสภา ชี้แจงว่า ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องการพาสื่อมวลชนร่วมไปดูงานในช่วงแรกเท่านั้น ก่อนโอนไปให้ฝ่ายต่างประเทศของสภาดำเนินการต่อ โดยคนที่คัดเลือกสื่อมวลชนไปครั้งนี้คือ “จักรพันธุ์ ยมจินดา” ตัวแทนจาก อสมท เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้นนั้น

เรื่องนี้ถูกขยายผลต่อไปในวงกว้าง และได้รับความสนใจจากสังคม โดยผลสำรวจจากเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่า 80.9% ต้องการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบเรื่องนี้ และ 68.5% ต้องการให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรชี้แจง

โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่ได้จังหวะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถล่ม “สมศักดิ์” ด้วยการเตรียมยื่นเรื่องต่อ “ไพจิต ศรีวรขาน” ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาเพื่อให้ตรวจสอบประธานสภาที่นำสื่อมวลชนไปดูงานยุโรป 3 ประเด็น คือ 1.งบประมาณ 7 ล้านบาทนั้น มีการทำเรื่องตั้งงบล่วงหน้าถูกต้องหรือไม่ 2.เนื้อหารายละเอียดการดูงาน การคัดเลือกตัวแทนสื่อ หรือบุคคลที่ไปร่วม ดู มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และ 3.หน่วยงาน ราชการ หรือรัฐสภา ต้องศึกษาและวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนในความสัมพันธ์ต่อสื่อมวลชน เพื่อขีดเส้นแบ่งไม่ให้ขัดต่อจริยธรรมของสื่อ

ต้องยอมรับว่าประเด็นที่ทำให้สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นเพราะ “สมศักดิ์” นอกจากมีสถานะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน จริยธรรม สูงกว่านักการเมืองทั่วไปแล้ว อีกด้านหนึ่ง “สมศักดิ์” ยังเป็นประธานกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรโดยตำแหน่งอีก นั่นยิ่งทำให้แรงเสียดทานเพิ่มมากขึ้นอีกเท่า

ที่สำคัญประเด็นนี้ยังส่งผลกัดกร่อนความน่าเชื่อถือประธานสภา ซ้ำเติมแผลเก่าที่ถูกสั่นคลอนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เมื่อครั้งพยายามดึงดันเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง เต็มสูบจนประชาธิปัตย์ต้องพลิกเกมมาเล่นบทบู๊ จนเกิดการฉุดกระชากลากถูประธานสภา หรือสส.ฝ่ายค้านตะโกนรุมด่า พร้อมปาเอกสารใส่ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ยิ่งฝ่ายค้านออกมาตั้งข้อสังเกตว่าการเร่งรัดเดินหน้ากฎหมายร้อนนี้เป็นเพราะมีใบสั่งจากต่างแดน ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวประธานสภาเพื่อความสง่างาม และเดินเกมเข้าชื่อยื่นถอดถอนในเวลาต่อมา ยิ่งทำให้“ขุนค้อน” สะบักสะบอมหนัก จนต้องลดดีกรีความดึงดันลงมา และเล่นบทประนีประนอมมาจนถึงปัจจุบัน

แต่เก้าอี้ประธานสภายังไม่หยุดสั่นคลอนเท่านั้น เมื่อ “คลิปเสียง” เปิดใจกลางงานวันเกิดที่ จ.เพชรบูรณ์ หลุดออกมาถึงฝ่ายค้าน และนำไปขยายแผลต่อเนื่องในรายการสายล่อฟ้า

ครั้งนี้ดูจะหนักหนากว่าทุกครั้ง เมื่อเนื้อหาในคลิปเป็นหลักฐานยืนยันมัดตัวเองว่า ตำแหน่งประธานสภาที่ควรจะวางตัวเป็นกลาง กลับอ้างถึงสัญญาณจากต่างแดน ในการขับเคลื่อนกฎหมายร้อนต่างๆ หนำซ้ำยังลากเอาแกนนำเพื่อไทยคนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับ “เผือกร้อน” ชิ้นใหม่นี้อีกด้วย

นับวัน “วิกฤตศรัทธา”ต่อเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงมีแต่จะก่อตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในวันที่ผลกระทบล่าสุดจากทัวร์ยุโรปดูงานรอบนี้กำลังจะถูกขยายแผลต่อจากนี้ ยิ่งมีแต่จะทำให้การทำงานในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ