posttoday

จีนนอนมา คว้างานลงทุนน้ำ3แสนล้าน

24 กันยายน 2555

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเสียแล้ว เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้เสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเสียแล้ว เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้เสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ (ทีโออาร์น้ำ) จาก 34 กลุ่มบริษัทเหลือ 7 กลุ่มบริษัทที่เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า หรือ Consortium จาก 3 ประเทศ ไม่นับรวมนักลงทุนไทย คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ได้แก่ 1.บริษัท วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (K Water) ประเทศเกาหลีใต้

2.กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV ประกอบด้วย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บริษัท พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า บริษัท ไชน่า เก๋อโจวบ๋า กรุ๊ป และบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ เป็นต้น

3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 3 บริษัท ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์ บริษัท เอส.เค.วาย. คอนสตรัคชั่น และบริษัท ยูเนี่ยน อินฟาร์เทค

4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง บริษัท ช.การช่าง (ลาว) และบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) เป็นต้น

5.China CAMC Engineering Co.Ltd. (จีน)

6.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย 11 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีทีไอ เอ็นจิเนียริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท โอบายาชิ คอร์ปอเรชั่น บริษัท คาจิมา คอร์ปอเรชั่น และองค์กรบริหารน้ำประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

และ 7.กลุ่ม Consortium TKC Blobal (เกาหลี) 16 บริษัท ได้แก่ Pyunghwa Engineering Consultants Co.Ltd. Dongho Co.Ltd. Soosung Engineering Co.Ltd. และ Hyundai Architects&Engineers Assoctates Co.Ltd. เป็นต้น

จีนนอนมา คว้างานลงทุนน้ำ3แสนล้าน

นั่นเพราะหลังอุทกภัยใหญ่ของประเทศเมื่อปลายปี 2554 จนถึงวันนี้

ต้องถือว่ารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามบันทึกความเข้าใจกับนานาประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างน้อย 5 ประเทศ 8 ฉบับ ไม่รับรวมการขอความร่วมมือทางวิชาการไม่เป็นทางการ เช่น เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และสหรัฐ

แบ่งเป็นบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการและความเป็นไปได้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทย-จีน 4 ฉบับ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำไทย-เกาหลี 1 ฉบับ

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในสาขาการบริหารจัดการภัยพิบัติไทยเยอรมนี 1 ฉบับ บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการน้ำไทยออสเตรเลีย 1 ฉบับ

และบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กและกรีนแลนด์ ซึ่งครอบคลุมการศึกษาการบูรณาการระบบน้ำทั่วประเทศ 25 ลุ่มน้ำ 1 ฉบับ

ในขณะที่การเยือนญี่ปุ่นของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 6-9 มี.ค. 2555 ญี่ปุ่นได้เสนอความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ไทยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาอุทกภัยในด้านเทคนิคการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และการสร้างทางยกระดับวงแหวนรอบนอก

แต่เมื่อประมวลสาระสำคัญบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่รัฐบาลไทยเซ็นกับรัฐบาลทุกประเทศพบประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงนามบันทึกเอ็มโอยูการจัดการน้ำระหว่างไทยจีนนั้น

มีเนื้อหาเอื้อประโยชน์และปูทางให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนระบบน้ำได้สะดวกที่สุด

ไล่ตั้งแต่ประกอบด้วยปลายปี 2554 ครม.ยิ่งลักษณ์ มีมติเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2554 อนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีความร่วมมือ 4 ด้าน

โดยเฉพาะข้อ 1.2 ที่ระบุความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรที่ส่งเสริมการพัฒนาทางการเกษตรอย่างยั่งยืน และการพัฒนามาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อการป้องกันอุทกภัย และภาวะภัยแล้งในประเทศไทย รวมทั้งความร่วมมือด้านการเสริมสร้างศักยภาพ

ต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2555 ที่อนุมัติให้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน

ที่กำหนดให้ 1.ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการบนหลักของผลประโยชน์ร่วมกัน 2.ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อดูแล เสนอแนะ และประสานความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ

3.ทั้งสองฝ่ายจะหารือรูปแบบสำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ในความร่วมมือระบบการจัดการแบบบูรณาการ ซึ่งครอบคลุมถึงการวางแผนการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ การวางแผนควบคุมอุทกภัยและลดความเสียหาย การวางแผนการใช้ทรัพยากรน้ำ การวางแผนเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรน้ำ การวางแผนบริหารลุ่มน้ำ และการวางแผนเพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วมในอ่าวไทย

และ 4.ผลการศึกษาความเป็นไปได้จะนำไปเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการต่อไป โดยให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบทั้งสองฝ่าย

แต่ต่อมาการประชุม ครม. วันที่ 17 เม.ย. 2555 ครม.มีมติให้ตัดเนื้อหาในข้อ 4 ของร่างบันทึกความตกลงฯ ที่ ครม.เห็นว่าเป็นเงื่อนไข “ผูกมัด” ให้ไทยต้องนำผลการศึกษาระบบน้ำร่วมกับจีนมาใช้เป็นแนวทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ

ในขณะที่การลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการบริหารจัดการน้ำกับอีก 4 ประเทศ คือ เกาหลี ออสเตรเลีย เยอรมนี เดนมาร์ก และกรีนแลนด์นั้น เป็นเพียงความร่วมมือในด้านวิชาการหรือแลกเปลี่ยนนักวิชาการเท่านั้น

หากจำกันได้ ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ เผยเอกสารบันทึกความเข้าใจการจัดการน้ำระหว่างไทยจีน 3 ฉบับ ที่มีเนื้อหาที่บ่งชี้ว่าเป็นไทยเปิดประตูให้นักลงทุนจีนเข้ามาฮุบโครงการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท “เต็มตัว”

แต่ไม่กี่วันถัดมา ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ออกมาตอบโต้ ต่อตระกูล ทันที โดยระบุว่า ต่อตระกูลถือสิทธิอะไรไปด่านายกฯ ไปจีน ตนก็ไปด้วย เพื่อไปดูงานกระทรวงน้ำ เพราะไทยประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนจีน จึงขอให้จีนส่งผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์แผนการจัดการน้ำของไทยว่าเห็นอย่างไร

“ผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับเอกชนเลย ผู้เชี่ยวชาญของจีนก็กลับไปหลายเดือนแล้ว นายต่อตระกูลเอาหูเอาตาไปไหน ไจกาของญี่ปุ่นก็ส่งคนมาทำงานเรื่องน้ำในไทยเช่นกัน และก่อนที่ผมไปอเมริกาในช่วงแรงๆ อเมริกาก็ส่งผู้เชี่ยวชาญมา ใครเขารู้ แนะนำก็ฟัง เชื่อไม่เชื่อก็เรื่องของเรา แล้วทำไมต้องไปกล่าวหาคนโน้นคนนี้” ปลอดประสพ กล่าว

ทว่า วันนี้เหมือนเค้าลางที่ ต่อตระกูล แสดงความห่วงใย ค่อยๆ ปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง

เพราะบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเสนอกรอบแนวคิดลงทุนระบบน้ำมีกลุ่มบริษัทจีนติดโผ 2 กลุ่มบริษัท โดยเฉพาะ 1 ใน 2 กลุ่มบริษัท เป็นการจับมือร่วมกันกับ 1 ใน 5 เสือก่อสร้างไทย นั่นคือ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ

ส่วนบริษัท ช.การช่าง มาในนามก๊วนบริษัทคนไทยที่เบื้องต้นไม่มีเอี่ยวกับบริษัทจีน แต่หากได้รับการคัดเลือกอาจมีการ “ซับคอนแทรกต์” หรือจ้างเหมาช่วงงานให้บริษัทจีนหรือไม่นั้น ยังไม่มีใครรู้

ที่แน่ๆ เงินลงทุนระบบน้ำก้อนมหึมานี้ บริษัทจีนมีส่วนร่วมแบ่งเค้กแน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น การประมูลโครงการแท็บเล็ตนักเรียน ป.1 ที่กระทรวงไอซีทีลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2555 จัดซื้อจัดจ้างเครื่องแท็บเล็ตไม่เกิน 1 ล้านเครื่อง กับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จากจีน

หากเมื่อพลิกไปดูบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2554

พบว่าข้อ 1.4 มีเนื้อหาว่าไทยและจีนจะร่วมมือกันในการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตชนบท โดยส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล การเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์เพื่อการศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต

จึงจะเห็นได้ว่า การที่ไทยสั่งซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตจากจีนที่ราคาถูกแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลต่อการตัดสินใจอยู่ไม่น้อย

เช่นเดียวกับบริษัทญี่ปุ่น ที่ไม่น่าจะพลาดการงานโครงการนี้เช่นกัน เพราะปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทย การจัดสรรโครงการลงทุนน้ำจึงต้องอยู่บนพื้นฐานการรักษาสัมพันธ์อันดีในระยะยาว ทั้งเป็นการตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นไปในตัว

ไม่เพียงเท่านั้น ในการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำระยะยาวของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) นั้น ก็ได้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจกา ให้ข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ

เมื่อโยงใยความสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งจากความร่วมมือระหว่างในรูปแบบการลงนามเอ็มโอยูไทย-จีน ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นไทย-ญี่ปุ่น และกลุ่มทุนก่อสร้างไทยที่มีอิทธิพลต่อนักการเมือง จะทำให้การลงทุนระบบน้ำก้อนนี้ถูกจัดสรรภายในลักษณะ “สมยอม” มากกว่าการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา

แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีข้อดี ข้อด้อย คือ จีนมีจุดเด่นที่ราคาถูก ญี่ปุ่นมีจุดเด่นที่เรื่องประสิทธิภาพการจัดการน้ำที่สูง ส่วนนักลงทุนไทยมีจุดเด่นในเรื่องความสัมพันธ์ที่ดี

งานนี้ต้องให้ ปลอดประสพ และรัฐบาล ตัดสินใจว่าจะเลือกให้การลงทุนจัดการน้ำไปในทิศทางไหน