posttoday

จับตาธนาคารกลางโลก ลุยสู้เศรษฐกิจ "ฝืนธรรมชาติ ก่อปัญหาใหญ่"

20 กันยายน 2555

สมตามความคาดหวังและการรอคอยของบรรดานักลงทุน โดยเฉพาะเหล่านักเก็งกำไรส่วนใหญ่ทั่วโลก เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สมตามความคาดหวังและการรอคอยของบรรดานักลงทุน โดยเฉพาะเหล่านักเก็งกำไรส่วนใหญ่ทั่วโลก เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) พร้อมใจประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดสภาพคล่องอีกระลอกในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

สำหรับเฟด ก็คือ มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในนามคิวอี 3 โดยคราวนี้จะอัดฉีดเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (เอ็มบีเอส) ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เป็นวงเงินสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ต่อเดือน โดยไม่จำกัดระยะเวลาการเข้าซื้อ พร้อมกับการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับต่ำสุดๆ ที่ 00.25% ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะยาวนานไปจนถึงกลางปี 2558 จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงสิ้นปี 2557

ส่วนอีซีบี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด คือ การทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ทั่วโลกคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยมีทั้งมาตรการปล่อยเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ (แอลทีอาร์โอ) และมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 3 ปี หรือสั้นกว่าแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อให้ชาติสมาชิกยูโรโซนซึ่งกำลังปวดหัวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งสูงขึ้น ได้มีเวลาหายใจหายคอ จัดการหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเองต่อไป

ยังไม่นับรวมกรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ประกาศเดินหน้าแทรกแซงนโยบายทางการเงินของประเทศด้วยการเพิ่มเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีก 10 ล้านล้านเยน เป็น 80 ล้านล้านเยน (ราว 30.4 ล้านล้านบาท) เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินเยนแข็งจนกระทบภาคการส่งออกที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ แม้จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่ทั้งเฟดและอีซีบีก็มีเป้าหมายสูงสุดเหมือนกัน คือ การกดอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ทางการเงินลดต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ มีต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลง พร้อมสนับสนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในทางอ้อม

แน่นอนว่า หากยึดถือตามหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แล้ว มาตรการของเฟดและอีซีบีย่อมสมควรเป็นไปในตามที่คาดหมายกันข้างต้น แต่ทว่าในความเป็นจริงนอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ได้ผลสมใจนึกแล้ว การเข้าแทรกแซงของธนาคารกลางยังอาจส่งผลเสียหายร้ายแรง รวมถึงบิดเบือนภาคเศรษฐกิจจริงอย่างร้ายกาจเสียด้วย

นั่นเป็นเพราะว่า ในภาคปฏิบัติจริงแล้วเม็ดเงินที่อัดลงมาจากธนาคารลงสู่ภาคการเงิน และธนาคารพาณิชย์กลับกระจายไปไม่ทั่วถึง และแทบจะไม่เคยถึงมือผู้ใช้เงินที่จะกระตุ้นจีดีพีได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ แม้ว่ารายงานของอีซีบีจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ธนาคารพาณิชย์ทั่วภูมิภาคยุโรปตบเท้าเข้าคิวยื่นเรื่องขอกู้เงินจากโครงการของอีซีบีเพิ่มมากขึ้น แต่จนแล้วจนรอดเงินจำนวนดังกล่าวก็ยังกระจุกตัวอยู่แต่ในธนาคารพาณิชย์ ไม่กระจายถึงภาคธุรกิจสักเท่าไรนัก ขณะที่รายงานอีกฉบับแสดงให้เห็นว่า จำนวนการกู้ยืมของภาคครัวเรือนในแถบยูโรโซนในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาลดลงจากเดือนก่อนหน้า

นักกลยุทธ์ส่วนหนึ่งมองว่า สาเหตุดังกล่าวสืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้ธนาคารเริ่มไม่มั่นใจว่าการปล่อยเงินกู้ออกไปโดยให้ดอกเบี้ยต่ำจะทำให้สถานะของธนาคารปลอดภัยหรือไม่ โดยนอกจากจะไม่ได้เงินคืนแล้ว ยังต้องแบกรับภาระหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก จนอาจนำไปสู่สถานะที่สั่นคลอนของธนาคารในอนาคต

ความหวาดวิตกดังกล่าวจึงทำให้ธนาคารเพิ่มเงื่อนไขปลีกย่อยและยกระดับเกณฑ์การกู้ยืมให้เข้มงวดมากขึ้น จนบรรดาประชาชนตลอดจนผู้ประกอบการหวาดกลัวหรือหมดกำลังใจที่จะเข้ามายืมเงินจากธนาคาร

ขณะเดียวกันแม้ธนาคารกลางจะจูงใจโดยการทุ่มเงินให้ธนาคารพาณิชย์ได้ครอบครองเงินด้วยต้นทุกที่ถูก แต่การเอามาปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำนี้ เป็นมาตรการที่ค่อนข้างฝืนกับธรรมชาติของธนาคาร ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่จำต้องแสวงหากำไรเช่นกัน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้ นอกจากจะทำให้สถานะของธนาคารเสี่ยงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ธนาคารไม่มีกำไรคุ้มการลงทุนอีกด้วย

ปีเตอร์ ฟิชเชอร์ หัวหน้าฝ่ายการลงทุนในตราสารหนี้กองทุนแบล็กร็อก แสดงความเห็นไว้อย่างชัดเจนว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์เงินออกมาเพื่อกดให้อัตราดอกเบี้ยทั้งในระยะยาวและระยะสั้นปรับตัวต่ำลงนี้ จะไม่ทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเพิ่มที่น่าจะนำไปสู่การลงทุนฟื้นเศรษฐกิจตามความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะเมื่อคนปล่อยกู้ได้ดอกเบี้ยต่ำในระดับไม่เกิน 2% คนย่อมไม่อยากปล่อยกู้

ท้ายที่สุดสภาพการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับ “กับดับสภาพคล่อง” (Liquidity Trap) ที่จะทำให้คนเลือกเก็บเงินกับธนาคารต่อไปมากกว่าที่จะนำออกมาใช้

เหตุผลประการต่อมา เพราะเงินที่ธนาคารกลางอัดเข้าสู่ระบบไปนั้น กลับไหลเข้าสู่สินค้าตลาดโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เพื่อเก็งกำไรจนทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งจะบีบให้คนต้องประหยัดกันมากขึ้นกว่าเดิม

รูเชียร์ ชาร์มา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์มหภาคของกองทุนมอร์แกน สแตนเลย์ แสดงความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ไว้อย่างชัดเจนว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐเลือกพิมพ์เงินอัดเข้าระบบเป็นจำนวนมาก จะทำให้เงินทะลักเข้าไปเก็งกำไรในราคาอาหารและราคาน้ำมันเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว

จับตาธนาคารกลางโลก ลุยสู้เศรษฐกิจ "ฝืนธรรมชาติ ก่อปัญหาใหญ่"

 

เมื่อราคาสินค้าและอาหารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อของประชาชนก็ย่อมต้องลดลง โดยชาร์มาได้คำนวณไว้เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ว่า หากคิวอี 3 ล่าสุดที่ออกมาทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ราว 3,600 บาท) ผู้บริโภคในสหรัฐจะต้องใช้เงินเพื่อซื้อน้ำมันเกินกว่า 6% ของรายได้

ทั้งนี้ ประวัติการสำรวจที่ผ่านมาของสหรัฐระบุชัดว่า การที่ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันเกินกว่า 6% ของรายได้จะส่งผลให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยในสินค้าอื่นๆ ลง จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวในช่วงกลางปี 2553-2554

หนำซ้ำผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นก็คือผู้มีรายได้น้อย ที่กว่า 75% ของรายได้หมดไปกับอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องชีวิตประจำวัน

และเพราะการแทรกแซงโอบอุ้มดังกล่าว คือ การฝืนธรรมชาติที่จะทำให้กลไกราคาตลาดบิดเบือน

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า การกระทำดังกล่าวของธนาคารกลางเป็นการฝืนธรรมชาติของวิกฤตเศรษฐกิจ โดยแทนที่จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินอย่างน้อย 5-6 ปี ก่อนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธนาคารกลางกลับเลือกใช้วิธีการข้างต้นเข้าไปอุ้มเศรษฐกิจฝืนไม่ให้ตกต่ำ และเร่งดันให้ฟื้นขึ้นโดยใช้ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี

ฟิล แกรมม์ และจอห์น เทย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางทุ่มซื้อพันธบัตรหลายล้านเหรียญสหรัฐ ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังขาดดุลงบประมาณปีแล้วปีเล่า จะเป็นการขัดขวางมากกว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

เนื่องจากเงินที่ไหลเข้ามาจะทำให้มูลค่าของเงินกลายเป็นไร้ค่า การแบ่งสันปันส่วนเงินทุนไหลไปอยู่ผิดที่ผิดทาง และดันให้ธนาคารกลางแบกรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้

เรียกได้ว่า มาตรการของธนาคารกลางทั้งหมดนี้เป็นมาตรการเอาตัวรอดเฉพาะหน้าที่มีแต่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศตนเอง รวมถึงบรรดาประเทศอื่นๆ ทั่วโลกย่ำแย่หนักมากกว่าเดิม

กระทั่ง เจนส์ ไวด์แมนน์ ประธานธนาคารบุนเดสแบงก์ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ถึงกับลุกขึ้นมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า มาตรการเคลื่อนไหวล่าสุดของอีซีบีไม่ต่างอะไรกับการกระทำของปีศาจ! ขณะที่นักวิเคราะห์รวมถึงผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ เห็นว่า ธนาคารกลางเหล่านั้นลงมือทำเกินหน้าที่ของธนาคารกลาง

เนื่องจากธนาคารกลางมีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมด้านการเงิน ส่วนหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจคือหน้าที่ของรัฐบาล

ขณะเดียวกันแม้ธนาคารกลางจะมีหน้าที่พิมพ์ธนบัตร แต่หากสามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้จับจ่ายในตลาดแบบไม่จำกัดตามอำเภอใจโดยไม่ต้องอ้างอิงหรือพึ่งพากับหลักทรัพย์ใดๆ แล้วสกุลเงินเหล่านั้นจะสามารถรักษามูลค่าของตนเองได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะมองในแง่ดีว่า แม้การประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องของบรรดาธนาคารกลางทั้งหลายจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซบเซาที่เกิดขึ้นสักเท่าไรนัก

กระนั้น อย่างน้อยก็เป็นหลักฐานพิสูจน์เพิ่มเติมอีกหนึ่งชิ้นที่กระตุ้นให้ธนาคารกลาง ตลอดจนรัฐบาลของประเทศนั้นๆ รู้ตัวว่าจะต้องคิดหาหนทางอื่นๆ เพิ่มเติมมากขึ้นต่อไป