posttoday

เบรกจำนำข้าวรอยร้าวในรัฐบาล

20 กันยายน 2555

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/จตุพล สันตะกิจ

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/จตุพล สันตะกิจ

หลังตกเป็นเป้านิ่งมานานหลายสัปดาห์ “บิ๊กโต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง สร้างปรากฏการณ์ที่เป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อย

เมื่อ กิตติรัตน์ เซ็นชื่อสนับสนุนความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่มี “ดร.กบ” อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เสนอให้ชะลอโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 ที่ตั้งเป้ารับจำนำข้าวเปลือก 26 ล้านตัน และต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.05 แสนล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนออกไปก่อนจนกว่าจะจัดการกับสต๊อกเดิมให้เรียบร้อย

“ขอให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการสต๊อกและการระบายข้าวเปลือกให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ จะทำให้รัฐบาลต้องแบกสต๊อกข้าวเปลือกสะสม 50 ล้านตัน” เป็นข้อความที่ สลค.ให้ความเห็น

แม้จะเป็นข้อเสนอของ ดร.กบ ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่มองอีกมุมหนึ่งก็เท่ากับว่า กิตติรัตน์ เป็นผู้สั่งเบรกโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ ภายใต้ความเห็นของ สลค.นั่นเอง

เพียงแต่เป็นการยืมมือข้าราชการประจำมาเบรกนโยบายการรับจำนำข้าวของฝ่ายการเมือง

หากจำกันได้เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ก.ย. 2555 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” อย่างชัดเจนว่า จะมีการเสนอโครงการรับจำนำข้าวภาค 2 เข้า ครม.แน่นอน และมีการระบุวงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการเสร็จสรรพถึง 4 แสนล้านบาท

ขณะที่ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ บุญทรงและข้าราชการระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ออกมาให้ข่าวว่า จะมีการเสนอโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่เข้า ครม.กันแทบทุกสัปดาห์

แต่การประชุม ครม.ตลอดช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับไม่มีการเสนอโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแต่อย่างใด โดยมีการระบุว่า ขั้นตอนการเสนอเรื่องนี้เข้า ครม.อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นส่วนราชการ

ทว่าในช่วงที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่ถูก “เตะถ่วง” ไม่ให้มีการเสนอเรื่องเข้า ครม.

กิตติรัตน์ ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ และมีหน้าที่ลงนามเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ลงนามเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2555 โดยยืนยันให้เสนอเรื่องเข้า ครม. ยื่นตามข้อเสนอแนะของ สลค.ที่ขอให้ชะลอโครงการรับจำนำข้าวเปลือกไปก่อนจนกว่าจะมีการระบายข้าวสารในสต๊อก

ทั้งๆ บทบาทของ สลค.แทบทุกยุคมักไม่ค่อยมีบทบาทในการเสนอความเห็นต่อ ครม.เท่าใดนัก

แต่อาจเป็นข้อยกเว้นสำหรับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในยุคอำพนก็ได้

เพราะช่วง 2-3 ปีผ่านมา สำนักเลขาธิการ ครม. มักมีข้อสังเกตที่น่าสนใจและแฝงนัยพอควร

เช่นกรณีที่ บุญทรง เป็นประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเสนอ ครม.อนุมัติขายมันเส้น 6.5 หมื่นตัน ในราคาขาดทุน 631 บาทต่อตัน แตกต่างจากมติของคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง วันที่ 20 เม.ย. 2555 ที่ระบุว่า การระบายมันฯ ต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุน

“แต่เมื่อประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลังเป็นผู้เสนอเอง จึงต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาเป็นการเร่งด่วน” ความเห็นของ สลค. ระบุในการประชุม ครม.สัญจร จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2555

จึงจะเห็นได้ว่า กรณีการให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่นี้ ก็ไม่แตกต่างกัน

เรียกได้ว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแสดงความเห็นที่ “แหก” แนวปฏิบัติที่ผ่านมาเช่นเคย โดยที่รัฐมนตรีบางท่านอาศัยข้อเสนอแนะนั้นมาใช้ในการเบรกโครงการ

ที่สำคัญการเบรกโครงการรับจำนำข้าวของเลขาธิการ ครม.นั้น สอดรับกับความเห็นกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ที่ออกมาในทิศทางที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว

โดยเฉพาะการเสนอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐ ก่อนจะเริ่มเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่

เริ่มตั้งแต่ สศช. ที่ให้ข้อมูลว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 และข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 เป็นเงิน 517,958 ล้านบาท หรือสำนักงบประมาณ ที่ระบุว่า หากไม่มีการระบายข้าวออกมาจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของกระทรวงการคลังในการค้ำประกันเงินกู้ และมีภาระดอกเบี้ยสูงกว่าปกติในการจัดหาเงินกู้

เรียกได้ว่า สอดรับกันเป็นแนว 3 ประสาน สำนักเลขาธิการ ครม.สศช.สำนักงบประมาณ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนัก เพราะเลขาธิการครม. เลขาธิการสภาพัฒน์ และผู้อำนวยการสำนักงบฯ อยู่ในกลุ่มก๊วนที่ “ยกหู” หากันได้ตลอดเวลา

เบรกจำนำข้าวรอยร้าวในรัฐบาล

 

แต่จะบอกว่า กิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่รู้ไม่เห็น ก็คงไม่ได้

เมื่อไล่เรียงเหตุการณ์เหล่านี้ ก็พบว่ามีกลิ่นของความขัดแย้งบางอย่างแฝงอยู่

ยิ่งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มีข้อกล่าวหาว่าเป็นโครงการ “ทุจริตอย่างโปร่งใส” หรือ “ทุจริตทุกขั้นตอน”

และตัวกิตติรัตน์ ต้องรับบท “หนังหน้าไฟ” ชี้แจงโครงการเสียเองแทบทุกเรื่องในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

หากป้องกันไม่ให้โครงการจำนำข้าวมีการทุจริตขนานใหญ่ได้ กิตติรัตน์ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า วันนี้คนที่กุมบังเหียนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตัวจริงไม่ใช่กิตติรัตน์ โดยเฉพาะการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลที่มีกว่า 22-23 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร

หากแต่เป็น บุญทรง กับบรรดาทีมที่ปรึกษาส่วนตัว และข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ 2 คน ได้แก่ ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารฯ และ มนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คณะทำงานพิจารณาวิธีการระบายข้าว ซึ่งจะเกษียณอายุลงพร้อมกันในวันที่ 30 ก.ย.นี้

สิ่งที่กิตติรัตน์ต้องการส่งสัญญาณถึง บุญทรง คือ การเร่งระบายข้าวสารในสต๊อกออกไป

เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ยิ่งรัฐบาลกอดข้าวไว้ในสต๊อกนานเท่าใด ก็จะมีปัญหาใหญ่ๆ ตามมา 3 เรื่องให้กวนใจ

1.สต๊อกข้าวที่เก็บไว้จำนวนมากจะกดถ่วงไม่ให้ราคาข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น

2.ค่าเก็บรักษาแต่ละเดือนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งไม่นับรวมกับค่าเสื่อมสภาพข้าวที่ลดลงทุกวันที่เก็บข้าวไว้

และ 3.ความกังวลว่าจะมีการนำข้าวสารในโกดังมาเวียนเทียนเข้าโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่

ซึ่งนั่นจะทำให้รัฐบาลมีภาระเงินกู้มหาศาล และเงินตกอยู่มือโรงสี ข้าราชการ และนักการเมือง

เป็นไปได้หรือไม่ที่ กิตติรัตน์ จะมองเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากลบางอย่าง ที่เป็นเหตุผลให้กระทรวงพาณิชย์ยัง “รีรอ” ไม่ระบายข้าวสารออกมา นอกเหนือจากการเกรงว่า การระบายข้าวในสต๊อกจะทำให้รัฐบาลขาดทุนเป็นแสนล้านบาท

หรือกรณีการขายข้าวจีทูจีที่ บุญทรง ระบุว่า มีออร์เดอร์ 7 ล้านตันข้าวสาร ที่อาจมีการตั้งข้อสงสัยว่า มีจริงหรือไม่

ข้อมูลเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างรอยร้าวระหว่างกิตติรัตน์ และบุญทรง ในการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดในราคา 1.5 หมื่นบาทตัน ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่กวาดคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้น