posttoday

เอเชียตั้งการ์ดรับ คิวอี3 "เก็งกำไร-ฟองสบู่-เงินเฟ้อ" จ่อรุกรับหนัก

19 กันยายน 2555

การประกาศมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งที่ 3 โดยพิมพ์เงินเข้าซื้อตราสารหนี้เดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

การประกาศมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งที่ 3 โดยพิมพ์เงินเข้าซื้อตราสารหนี้เดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ไปต่อเนื่องอีกราวๆ 3 ปี อาจนับเป็นข่าวดีสำหรับคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เช่น สหรัฐเองที่จะได้รับการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนตลาดทุนทั่วโลกก็จะมีเงินร้อนก้อนใหญ่เข้ามาให้ได้เก็งกำไรกันสนุกมือไม่แพ้คิวอี 2 ระลอกก่อนหน้านี้

ทว่าสำหรับหลายประเทศในเอเชียแล้ว คิวอีอาจไม่ใช่ข่าวดีเสมอไป และยังถือเป็น “ความเสี่ยง” ที่ทำให้หลายชาติต้องออกอาการตั้งการ์ดรับให้แน่นหนาด้วย

เพราะสภาพคล่องหรือเงินร้อนมหาศาลที่จะทะลักมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ใช่เงินที่จะเข้ามาลงทุนให้เศรษฐกิจในเอเชียดีขึ้น หากแต่เป็นการ “เข้ามาเก็งกำไร” ที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจปั่นป่วนกว่าเดิม

จึงไม่น่าแปลกใจที่ปฏิกิริยาของทางฝั่งเอเชีย หลังการประกาศมาตรการคิวอีเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว จะเต็มไปด้วยความเห็นในเชิงกังวลและออกแนวตั้งรับ โดยเฉพาะในหลายประเทศที่คาดว่าจะตกเป็นเป้าของการเก็งกำไร “ค่าเงิน” และ “อสังหาริมทรัพย์”

ความกังวลเรื่องการเก็งกำไรค่าเงิน มาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศเอเชียอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ระหว่าง 00.25% จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญให้นักค้าเงินเข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ของเอเชียล้วนอยู่สูงเกินระดับ 3% ขึ้นไป มีเพียงไต้หวันที่อัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ในระดับ 1.875% นิวซีแลนด์ 2.5% ฮ่องกง 0.5% และญี่ปุ่น 0.1%

ความวิตกต่อกระแสเงินร้อน บวกกับแรงกดดันภายในประเทศให้ต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยภาคการส่งออกและการลงทุนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้าในสหรัฐ ส่งผลให้มีการคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ว่า บรรดาธนาคารกลางในเอเชียอาจเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ย ตามทิศทางของแบงก์ชาติทั่วโลก โดยแบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลด้านนโยบายการเงินโดยตรงนั้น กลายเป็นผู้รับบทหนักที่สุดในยามนี้ ที่ต้องจับตาทั้งเรื่องเงินทุนไหลเข้า ค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ยให้สมดุลกัน

ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เฟดจะออกมาตรการคิวอี ธนาคารกลางของ 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลับพร้อมใจกันเลือกที่จะ “ตรึงอัตราดอกเบี้ย”

กรณีของเกาหลีใต้นั้นถือว่าหักปากกานักวิเคราะห์มากที่สุด เพราะเป็นที่คาดกันมาตลอดว่าเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 4 ของเอเชียแห่งนี้ จะประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางการคลังอัดฉีดเงินกระตุ้นไปแล้วถึง 3 ระลอกในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์มองว่าเกาหลีใต้กำลังตั้งการ์ดเข้มมากขึ้นด้วยการไม่ผลีผลามตัดสินใจ และขอดูทิศทางของสหรัฐและยุโรปต่อไปอีกสักระยะ

เอเชียตั้งการ์ดรับ คิวอี3 "เก็งกำไร-ฟองสบู่-เงินเฟ้อ" จ่อรุกรับหนัก

 

ต้องเข้าใจว่าสภาพคล่องที่กำลังจะท่วมระบบการเงินโลกและการเงินเอเชียในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลข้างเคียงแค่เงินร้อนและการเก็งกำไร แต่ยังมีไซด์เอฟเฟกต์ไปถึง “ภาวะเงินเฟ้อ” อีกด้วย เพราะเงินร้อนๆ เดือนละ 1.2 ล้านล้านบาท ที่คาดกันว่าอาจกินระยะเวลานานถึง 3 ปี ตกแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 42 ล้านล้านบาท) นั้น ยังคาดว่าจะเข้าไปเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งรวมถึงน้ำมันและทองคำ

สุดสัปดาห์ที่แล้วหลังการประกาศมาตรการคิวอี ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ในตลาดไนเมกซ์สหรัฐ ปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 98.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก 94.81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้า ก่อนที่จะเห็นความผันผวนหลังจากการขายทำกำไรในสัปดาห์นี้ ซึ่งทำให้ราคาลดลงไปถึงเกือบ 3 เหรียญสหรัฐภายในวันเดียว ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะเข้าสู่ภาวะขาขึ้นไปอีกพักใหญ่ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงอาจจะไม่ได้เอื้ออำนวยนักก็ตาม

สภาพคล่องที่ท่วมระบบและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้เองที่ทำให้ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทย ถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ และยังมีขึ้นตามมาหลังจากที่โลกเพิ่งเผชิญกับภาวะราคาอาหารแพงครั้งใหม่ จากปัญหาดินฟ้าอากาศในสหรัฐ ยุโรปตะวันออก และเอเชีย ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ธนาคารกลางหลายประเทศได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และยังส่งผลให้ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมงวดที่เพิ่งผ่านมา อาทิ แบงก์ชาติฟิลิปปินส์ที่ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.75% ท่ามกลางแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวสูงขึ้นอีกหลังจากนี้

ขณะเดียวกัน แนวโน้ม “ฟองสบู่สินทรัพย์” โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลหลักของหลายชาติในเอเชียเช่นกัน โดยเฉพาะในจีนและฮ่องกง ที่ออกมาส่งสัญญาณแสดงความวิตกอย่างชัดเจน

คณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายการเงินฮ่องกง ซึ่งทำหน้าที่เสมือนธนาคารกลางของฮ่องกง ได้ออกโรงเตือนผลข้างเคียงจากคิวอีครั้งนี้ว่า อาจทำให้เกิดความเสี่ยงฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งทางการฮ่องกงอาจจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อบรรเทาความร้อนแรงของสินทรัพย์ในภาคนี้ตามมา หลังจากที่ราคาอสังหาฯ บนเกาะฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้นถึง 85% มานับตั้งแต่ต้นปี 2552 และทำให้ทางการต้องออกมาตรการควบคุมความเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง

ความเสี่ยงของฟองสบู่สินทรัพย์ยังรวมไปถึงตลาดหุ้นและตราสารหนี้ ที่แม้ดูจะเก็บเกี่ยวกำไรเป็นกอบเป็นกำกว่าใคร แต่ก็ต้องเตรียมตั้งรับให้ทันในกรณีที่ทุนไหลออกกลับประเทศด้วย

ผลข้างเคียงทั้งหมดนี้จึงล้วนเป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลและธนาคารกลางในเอเชียจำเป็นต้องตั้งการ์ดจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถรับมือกระแสการเก็งกำไรครั้งใหญ่ระลอกนี้ไปให้ได้

เพราะนโยบายที่ออกมาต้องไม่ได้คำนึงแค่นักลงทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ เพียงแค่ช่วงสั้นๆ แต่ต้องเป็นประโยชน์และปลอดภัยต่อทั้งประเทศโดยรวมด้วย