posttoday

ทิ้งทวนทุบคอป.ทำลายปรองดอง

19 กันยายน 2555

พลันที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

พลันที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ตั้งโต๊ะแถลงรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อสังคมก็เกิดเสียงตอบโต้อย่างรุนแรง

โดยเฉพาะจากฝ่ายพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ที่สะท้อนความไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด

รายงานฉบับสุดท้ายของ คอป.มีหลายส่วนที่น่าสนใจ เช่น ข้อเสนอแนะในการสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืน การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ การตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 บทสรุปต้นเหตุและรากเหง้าความขัดแย้ง

แต่ที่ร้อนที่สุดคือ ผลการตรวจสอบ ข้อค้นพบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด 13 เหตุการณ์ ในช่วงเดือน เม.ย.พ.ค. 2553 รวมถึงการชำแหละพฤติกรรมของชายชุดดำ ม็อบเสื้อแดง และการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุ

คอป. ระบุว่า ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 92 ราย แยกเป็นทหาร 8 ตำรวจ 2 ที่เหลือพลเรือน 82 ราย

ในจำนวนนี้มีข้อมูลชี้ชัด ว่า เสียชีวิตจากการโจมตีของชายชุดดำ 9 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นาย ตำรวจ 2 นาย กลุ่มคนรักสีลม 1 คน จำนวนมากเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน

การทำงานของ คอป. ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และใช้เวลา 2 ปี ค้นหาความจริงและทำข้อเสนอแนะถึงการสร้างความปรองดองได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนหลากหลายกว่า 160 แห่ง เช่น ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม องค์กรท้องถิ่น และบุคคล 450 คน ทั้งคู่ขัดแย้งฝ่ายเสื้อแดง ผู้ได้รับผลกระทบ ญาติเหยื่อ ผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศที่อยู่ในเหตุการณ์

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากนักการทูต ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธีจากต่างประเทศ

นี่จึงยืนยันว่า การทำงานของ คอป. นอกจากมีความชอบธรรมและมีน้ำหนักแล้ว ยังเป็นองค์กรหลักอย่างเป็นทางการของประเทศที่ตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์หนนี้

แม้แต่เสื้อแดงที่เคยโจมตี คอป. เมื่อครั้งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้น แต่เมื่อ คอป.ทำงานไปสักระยะ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยโดย “วัฒนา เมืองสุข” ได้ใช้ คอป.เป็นเวทีสร้างความปรองดองนัดทั้งแกนนำ นปช. กองทัพ พรรคประชาธิปัตย์หาทางออกเรื่องความขัดแย้ง

กระทั่งฝ่ายพรรคเพื่อไทยนปช. ได้ติดต่อให้ คณิต ณ นคร ประธาน คอป. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นพยานให้การชั้นศาล เมื่อเดือน ก.พ.ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ทนาย นปช.ยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว 8 แกนนำ นปช. จำเลยคดีก่อการร้าย

อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ ก่อแก้ว พิกุลทอง นิสิต สินธุไพร จนศาลยอมปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาแกนนำ นปช.เดินสายขอบคุณ “เสธ.หนั่นคณิต” ที่ช่วยให้เป็นอิสระและยืนยันจะสนับสนุน คอป.เต็มที่

ในทางการเมืองขณะนั้น คอป. ได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่ถูกกระทำคือ พรรคเพื่อไทยนปช.

และเมื่ออำนาจเปลี่ยน พรรคเพื่อไทยนปช. กลับมาเป็นรัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตอกย้ำว่าจะให้ คอป.ทำเรื่องปรองดองต่อไปจนจบสิ้นกระบวนความและให้เป็นเจ้าภาพหลัก โดยที่รัฐบาลจะสนับสนุนเต็มที่และไม่เข้าไปก้าวก่าย

ผ่านมา 1 ปี ท่าทีของแกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทย กลับออกมาโจมตี คอป.อย่างเผ็ดร้อน เพราะรับไม่ได้กับผลสรุปฉบับสมบูรณ์นี้ โดยเฉพาะที่ชำแหละความจริง เรื่อง “ชายชุดดำ” ว่าใช้ความรุนแรงแทบทุกสถานการณ์ และมีข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับแกนนำและการ์ด นปช.

ข้อมูลชายชุดดำส่วนหนึ่งมาจาก “คนในเสื้อแดง” ที่สมชาย หอมลออ กรรมการ คอป. ระบุไว้คือ มีประมาณ 100 คน แต่ปฏิบัติจริงๆ มีไม่มาก โดยร่วมกับการ์ดผู้ชุมนุมบางส่วนด้วยการรู้เห็นของแกนนำ นปช.บางคน

ทิ้งทวนทุบคอป.ทำลายปรองดอง

 

“พบว่าเคยมีการปราศรัยบนเวทีในเดือน ม.ค. เกี่ยวกับ “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” ที่พร้อมจะมาช่วยผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้วสามประการของการต่อสู้คือ พรรคการเมือง มวลชน และกองกำลัง โดยแกนนำการชุมนุมคนอื่นๆ ก็มิได้ดำเนินการใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธถึงการปราศรัยดังกล่าว แม้ นปช.จะประกาศว่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ นปช. แต่แกนนำ นปช. บางคนและการ์ดส่วนหนึ่งยังมีความสัมพันธ์กับ พล.ต.ขัตติยะ โดย พล.ต.ขัตติยะ ได้พูดต่อสาธารณะเกี่ยวกับคนชุดดำ หรือนักรบโรนินว่ามาช่วยผู้ชุมนุม และยังพูดถึงแก้วสามประการของการต่อสู้คือ พรรคการเมือง มวลชน และกองกำลังไม่ทราบฝ่าย”

ผลสรุปนี้ทำให้การชุมนุมม็อบเสื้อแดงที่แกนนำต้องการจารึกให้เป็นประวัติศาสตร์ว่า เป็นการชุมนุมอย่างสันติครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ จนสามารถขับไล่รัฐบาลอำมาตย์สำเร็จ กลับไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อ คอป.สรุปว่า การชุมนุมของ นปช.ไม่ได้เป็นการชุมนุมอย่างสงบจากพฤติกรรมการยั่วยุ ยึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ คุกคามหน่วยแพทย์ สื่อมวลชน ทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชน ขณะที่แกนนำก็ให้ท้าย ปราศรัยยั่วยุ ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง

จึงไม่แปลกที่ “นพ.เหวงณัฐวุฒิ” ที่เคยยอมรับ กลับออกมาถล่ม คอป.อย่างหนักหน่วง เพราะผลที่ออกมาไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

ทั้งที่บทสรุปของ คอป.ล้วนกระทบทุกฝ่ายไม่เฉพาะแกนนำ นปช.ชุดดำ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น คอป.ได้เรียกร้องให้กล่าวขอโทษ เพราะบกพร่องในการจัดการความขัดแย้งจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

กองทัพ มีความผิดพลาดเรื่อง รัฐประหาร การเข้ามายุ่งกับการเมือง การเข้าควบคุมฝูงชน

ศอฉ. ออกคำสั่งควบคุมการชุมนุม ที่ไม่อยู่ในมาตรฐานและใช้กำลังอาวุธ ไม่เหมาะสม

กระบวนการยุติธรรม ต้องทำหน้าที่อย่างอิสระ เป็นกลางและไม่ถูกแทรกแซง

นอกจากนี้ คอป.ยังได้เสนอแนวทางการบังคับใช้ กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างปรองดองเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ฝ่ายแดงอิสระได้เรียกร้องมาก่อนหน้านี้

หวานอมขมกลืนกันถ้วนหน้า เป็น “ความจริง” ที่รับไม่ได้ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย

กระนั้น เหตุหนึ่งที่ คอป.ถูกทำลายความน่าเชื่อถือทิ้งท้าย เพราะข้อเสนอต่อการสร้างปรองดองหลายข้อไม่ถูกใจฝ่ายพรรคเพื่อไทย

เช่น การระบุชัดให้รัฐไม่เร่งรัดให้เกิดการนิรโทษกรรม เพราะเห็นว่าจะสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง รัฐต้องไม่เร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุติการดำเนินการใดๆ ที่นำไปสู่การสร้างความขัดแย้ง

สองเรื่อง คือ การนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเพื่อไทยนปช. ติดหล่ม เดินไม่สำเร็จ ยังเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้

โดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองนิรโทษทุกฝ่าย ที่ยังคาอยู่ในระเบียบวาระการประชุม พร้อมกับการเร่งคดี 92 ศพ ที่ดีเอสไอกำลังสอบสวนให้เสร็จเร็ววัน บวกกับคดีที่การเสียชีวิตของ “พัน คำกอง” แท็กซี่เสื้อแดงที่ศาลมีคำสั่งว่า ตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และเตรียมเข้าสู่กระบวนการส่งฟ้องเอาผิด “อภิสิทธิ์สุเทพ”

ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การเร่งออก พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อล้างผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้บรรยากาศขณะนี้ กลับมาร้อนอีกคำรบ ทั้งที่ คอป.เพิ่งออกรายงานปรองดองแห่งชาติที่น่าจะเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายกลับมา “ยอมรับความจริง” และน่าจะเป็นจุดร่วมของสร้างการปรองดองอย่างจริงจัง

เมื่อไม่ยอมรับข้อเสนอ คอป.ฉันใด สถานการณ์ประเทศก็ยังไม่ปรองดองฉันนั้น