posttoday

"สุเทพ" รอดตัว สว.แค่ถอดแต่ไม่ถอน

18 กันยายน 2555

ทันทีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่า “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ทันทีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่า “สุเทพ เทือกสุบรรณ” มีความผิดตามมาตรา 266 (1) ในข้อหาใช้อำนาจรองนายกรัฐมนตรีแทรกแซงส่วนราชการด้วยการทำหนังสือถึง รมว.วัฒนธรรม เพื่อส่ง สส.พรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลอื่น รวม 19 คน ไปช่วยราชการ ส่งผลให้กลายเป็นนักการเมืองคนที่ 3 ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมืองนับตั้งแต่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550

สองคนแรก คือ “นพดล ปัทมะ” และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” แต่ทั้งสองครั้งที่ผ่านมายังไม่มีใครถูกวุฒิสภาถอดถอนได้สักที

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่การถอดถอนเพื่อนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ มาจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 274 กำหนดให้ต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 เสียง หรือคิดเป็น 90 เสียง จาก สว. 150 คน

ครั้งแรกของการพิจารณากรณี “สมชาย” วุฒิสภามีมติถอดถอนเพียง 76 เสียง ครั้งที่สองวุฒิสภาในราย “นพดล” ก็มีเสียงแค่ 57 เสียงเท่านั้น สถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นในเชิงประจักษ์ระดับหนึ่ง วุฒิสภาชุดนี้คงจะเอื้ออาทรสุเทพเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา

เพียงแต่เที่ยวนี้สุเทพอาจจะลุ้นเหนื่อยกว่าคนอื่นๆ

เหตุผลหลักมาจากการเปลี่ยนผ่านภายในวุฒิสภาถึง 2 ครั้งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คือ 1.การเปลี่ยนจาก สว.สรรหาชุดแรกมาเป็นสรรหาชุดสอง และ 2.การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานวุฒิสภาของ “นิคม ไวยรัชพานิช” สว.ฉะเชิงเทรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในกลุ่ม สว.สรรหามีผลต่อความเป็นเอกภาพใน สว.อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในสายสรรหาด้วยกันเอง

สะท้อนให้เห็นนับตั้งแต่การออกเสียงโหวตรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ครั้งนั้นมี สว.ลงมติเห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย 76 คน แยกย่อยเป็น สายเลือกตั้ง 59 คน สายสรรหา 17 คน ขณะที่ สว.สรรหา เหลือขุมกำลังหลักเพียง 43 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การวัดกำลังอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาก็ยังยืนยันชัดว่า สว.เลือกตั้งได้คุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูงเอาไว้หลังจากมีมติ 77 เสียงให้ “นิคม” เป็นประธานวุฒิสภา ขณะที่ “พิเชต สุนทรพิพิธ” ตัวแทนฝ่ายสรรหาได้ไปเพียง 69 เสียง

สนามประลองกำลังทั้งสองครั้งที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันชัดว่าวุฒิสภาได้แบ่งขั้วอย่างชัดเจนแล้วระหว่าง “เลือกตั้ง VS สรรหา” ฝ่ายแรกมีเสียงยืนพื้นราว 70-77 เสียง ฝ่ายหลังมีเสียงในกำมือประมาณ 65-70 เสียง จาก สว.ทั้งหมดที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในเวลานี้ 146 คน

"สุเทพ" รอดตัว สว.แค่ถอดแต่ไม่ถอน

 

เมื่อเสียงทั้งสองฝ่ายอยู่ในระดับก้ำกึ่งเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยพยายามล็อบบี้ สว.ให้ร่วมลงมติถอดถอนสุเทพ เป้าหมายอยู่ที่ สว.ขั้วกลางๆ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกลุ่มไม่งดเสียงโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 12 คน

เป็นการคิดในบนฐานทางคณิตศาสตร์การเมืองว่า ถ้าเอา 12 เสียงมารวมกับฐานคะแนนที่มีอยู่แล้วระดับ 70-77 เสียงจาก สว.ผู้โหวตสนับสนุนรัฐธรรมนูญและนิคม จะช่วยให้มีเสียงอย่างน้อยที่สุด 80 เสียงขึ้นไป ก็ถือเป็นระดับใกล้ๆ 88 เสียงอันเป็นเงื่อนไขถอดถอนจำนวน 3 ใน 5 ตามรัฐธรรมนูญจาก สว.ทั้งหมด 146 คน

แต่เมื่อถึงสถานการณ์ล่าสุดพรรคเพื่อไทยเองก็เลือกที่จะไม่เอาจริงกับเรื่องนี้มากนัก โดยประเมินแล้วว่าเสียงไม่ถึง 88 เสียงจริงๆ เพราะ สว.สายสรรหาที่มีกลุ่ม 40 สว.เป็นแกนหลักยังสามารถรวมกลุ่มกันได้ อย่างมากที่สุดคงได้เสียงข้างมากประมาณ 70-77 เสียงให้ลงมติถอดถอน แต่ไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 88 เสียง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ในวุฒิสภามีการวิเคราะห์กันถึงสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยไม่ค่อยเน้นมาจากไม่ต้องการให้สังคมมองว่ารัฐบาลได้เข้ามาครอบงำวุฒิสภา ประกอบกับคิดว่าการมีหรือไม่มีสุเทพในสนามการเมืองก็ไม่มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

โดยเชื่อว่าถึงอย่างไรเสียหากวุฒิสภาลงมติถอดถอนสุเทพจริง นายใหญ่ของฝ่ายค้านรายนี้ก็สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อยู่แล้วในฐานะผู้บารมีนอกพรรคประชาธิปัตย์ จึงเลือกที่เก็บพลังล็อบบี้เอาไว้ใช้ในงานสำคัญอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ในอนาคตน่าจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากพลังล็อบบี้ไม่ได้มีแรงพอถอดถอนสุเทพแล้ว ยังมีเหตุผลจากสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.เองด้วย

เนื่องจาก กรณีนี้ ป.ป.ช.ไม่สามารถชี้มูลความผิดทางอาญาสุเทพได้ แม้ว่า ป.ป.ช.จะมีความเห็นการส่งหนังสือส่งตัว สส.19 คนของพรรคเพื่อไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2552 จะเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 266 (1) ว่าด้วยข้อห้ามไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงส่วนราชการก็ตาม

ต่างจากกรณีของ “นพดลสมชาย” ซึ่ง ป.ป.ช.สามารถชี้มูลความผิดอาญาและส่งให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

เมื่อคดีของสุเทพเหลือเพียงแค่การถอดถอนทำให้น้ำหนักของคดีลดลงพอสมควร เพราะขาดเหตุผลรองรับอย่างชัดเจนว่ารัฐได้เกิดความเสียหายจริงหลังจากใช้อำนาจรองนายกฯ แทรกแซงกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่ง ป.ป.ช.เองก็ยอมรับต่อวุฒิสภาเองว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะชี้มูลความผิดทางอาญาได้ จึงทำได้เพียงเฉพาะในส่วนของการถอดถอนเท่านั้น

กลายเป็นช่องว่างให้สุเทพได้ย้ำและขยายแผล ป.ป.ช.ให้วุฒิสภาเห็นถึงจุดอ่อนของคดีว่า “ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 266 (1) มีเจตนารมณ์ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา แต่ในกรณีนี้รัฐยังไม่ได้เสียหายจากการกระทำของผมแม้แต่น้อย ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ทราบดี เพราะ ป.ป.ช.ไม่ได้ระบุไว้ในรายงานการสอบสวนไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวให้เกิดความเสียหายอย่างไร และซึ่ง ป.ป.ช.เองก็ระบุในรายงานและสำนวนว่า การกระทำนี้ไม่มีมูลทุจริตต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด”

เพราะฉะนั้น ด้วยปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดการนัดประชุมวุฒิสภาในวันนี้เพื่อลงมติชี้ขาดจึงเป็นไปได้สูงว่า เสียงที่ออกมาคงไม่มีพลังมากพอถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเวลา 5 ปีได้สำเร็จ โดยจะเป็นเพียงแสดงพลังของพรรคเพื่อไทยในวุฒิสภาเท่านั้น