posttoday

รายได้หลุดเป้าเครดิตรัฐบาลเสื่อม

14 กันยายน 2555

ในที่สุดทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ที่กำกับดูแลกรมจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลัง ก็ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ในที่สุดทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ที่กำกับดูแลกรมจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลัง ก็ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า การเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2555 ที่ตั้งเป้าไว้ 1.98 ล้านล้านบาท จะทำได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ร่วม 5 หมื่นล้านบาท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้หลุดเป้ามาจากนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถมของรัฐบาล โดยกรมสรรพากรเจอพิษการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% นโยบายลดหย่อนภาษีต่างๆ จากบ้านหลังแรก ซ่อมรถซ่อมบ้านจากน้ำท่วม ผสมกับฤทธิ์น้ำท่วม ทำให้ภาษีหลุดเป้าไป 1.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ต้นปีคาดว่าจะเก็บภาษีได้เกินเป้าถึง 1.5 แสนล้านบาท

ขณะที่กรมสรรพสามิตที่เจอพิษลดภาษีน้ำมันดีเซลทำรายได้หายไปกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ยังโชคดีที่ได้ภาษีรถยนต์ สุรา ยาสูบ มาช่วยโปะ ทำให้การเก็บภาษีคาดว่าจะหลุดเป้า 1.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของเก็บภาษีของกรมศุลกากรที่ทำได้เกินเป้า และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจจะได้ดีกว่าคาด ส่งผลให้ภาพรวมของรายได้รัฐบาลกระเตื้องดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่สามารถยืนอยู่เหนือเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

จะว่าไปแล้วรายได้ของรัฐบาลที่หลุดเป้าครั้งนี้ ในแง่ของนักวิชาการและนักการเงินถือว่าไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ก็มีการเตือนรัฐบาลเรื่องการทำโครงการประชานิยมมาตลอดว่าจะทำให้ประเทศถังแตก

รายได้หลุดเป้าเครดิตรัฐบาลเสื่อม

 

จะมีก็แต่รัฐบาลเท่านั้นที่ยืนกระต่ายขาเดียวว่า การแจกแบบมือเติบไม่กระทบฐานะการเงินการคลังของประเทศ ตลอดที่บริหารประเทศมา 1 ปี

ถึงวันนี้ความจริงปรากฏว่า การเก็บรายได้ถึงจุดอับ ทำให้รัฐบาลจนมุมหนีไม่ออกเลี่ยงบาลีต่อไปไม่ได้ จนต้องออกมายอมรับว่าการเก็บรายได้ของประเทศมีปัญหาไปไม่ถึงเป้า

การเก็บรายได้ที่ไม่ถึงเป้าของรัฐบาล นอกจากสะท้อนความล้มเหลวของการบริหารการเงินการคลังของประเทศที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แล้วยังเป็นเรื่องสะเทือนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตข้อมูลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สะท้อนความเป็นจริงจนเสื่อมมนต์ขลัง

ที่ผ่านมา ช่วงสินค้าราคาแพงรัฐบาลก็ถูกมองว่าทำตัวเลขเงินเฟ้อผิดเพี้ยนต่ำกว่าความเป็นจริง ค้านความรู้สึกของคนหาเช้ากินค่ำทั้งประเทศ

นอกจากนี้ การแถลงตัวเลขการส่งออกของรัฐบาลในบางเดือนก็ผิดพลาดต่ำกว่าความเป็นจริง จนต้องแถลงแก้ ทำให้หลายคนแคลงใจว่าพลาดได้อย่างไร

หรือแม้แต่การตั้งเป้าการส่งออกของรัฐบาลที่ตั้งไว้สูง 15% เกินความเป็นจริง โดยอ้างว่าบิดเบือนตัวเลขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สวนทางกับหน่วยของรัฐและเอกชนอื่นที่คาดว่าการส่งออกของไทยปีนี่อย่างเก่งได้แค่ 45%

และล่าสุดมาถึงตัวเลขการเก็บรายได้ที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่าได้ตามเป้า แต่สุดท้ายก็ไม่ตามเป้า ยิ่งเป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่ถอยหลังเข้าคลองมากยิ่งขึ้นทุกวัน

นอกจากนี้ ข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลต่อไปในอนาคต ก็จะมีปัญหาความน่าเชื่อถือว่าเชื่อได้หรือไม่ได้ และสามารถนำไปประเมินวางแผนการลงทุนได้หรือไม่

ซึ่งในกรณีการเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้า และรัฐบาลออกมาระบุว่าไม่กระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะในส่วนของการเบิกจ่ายก็ทำไม่ได้ตามเป้า ถือเป็นการแก้ต่างที่เอาสีข้างเขาถู เพราะหากการเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้าไม่ทำให้เกิดปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องมีเป้าไว้ต่อไป

ตามหลักของการบริหารเศรษฐกิจ รัฐบาลมีหน้าที่บริหารเศรษฐกิจ รักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ การเก็บรายได้และการเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามเป้า เพื่อให้การขยายตัวเศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้า

หากรัฐบาลเก็บรายได้หลุดเป้า และการเบิกจ่ายก็ทำไม่ได้ตามที่ตั้งไว้อีก การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ 56% ก็อาจจะมีปัญหาทำไม่ได้ตามเป้าไปด้วย กระทบเป็นลูกโซ่จนภาพรวมเสียหาย

สิ่งที่สำคัญ คือเป้าหมายการเก็บรายได้ของรัฐบาล ยังมีความน่าเชื่อถือทำได้ตามเป้าอีกหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน เศรษฐกิจภายในที่ยังไม่แข็งแรงและยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

ขณะที่การลดแลกแจกแถมผ่านโครงการประชานิยมก็ยังไม่ได้ลดลง การลดภาษีนิติบุคคลปี 2556 จะเหลือ 20% กระทบการเก็บรายได้ของกรมสรรพากรมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการลดภาษีน้ำมันดีเซลยังต้องลดต่อไป คาดว่าทั้งปี 2556 ทำให้รายได้ของกรมสรรพสามิตหายไปอีกเป็นแสนล้านบาท

การเก็บรายได้ที่ถังแตกมากขึ้น กระทบเสถียรภาพการคลัง ทำให้การขาดดุลงบประมาณมากและนานกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ทำให้เครดิตของประเทศมีปัญหาเพราะการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง

ส่วนสัดส่วนการก่อหนี้ของรัฐบาลก็จะเพิ่มสูงขึ้น ในปีหน้ารัฐบาลต้องกู้เงินจากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3.5 แสนล้านบาทให้หมด เพราะปีนี้กู้ได้ไม่กี่หมื่นล้านบาท และต้องกู้รับจำนำข้าวรอบใหม่อีก 4 แสนล้านบาท ต้องกู้ขาดดุลงบประมาณ 2556 อีก 3 แสนล้านบาท หากรายได้ทำได้ต่ำกว่าเป้าอีก ก็ทำให้การกู้ในส่วนนี้ต้องเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะจาก 42% ต่อจีดีพี สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 50-60% ได้ภายในไม่กี่ปี

ผลที่ตามมาคือเครดิตของประเทศก็อาจจะถูกปรับลดลง เพราะที่ผ่านมาเครดิตของประเทศยืนอยู่ได้โดยไม่ถูกปรับลดลง ก็มาจากจุดแข็งด้านฐานะการเงินการคลังของประเทศ แต่หากจุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน เครดิตของประเทศก็จะทรุดตามไปด้วย

ดังนั้น การเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้าไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะหลายปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามาร่วมกัน และฟ้องว่ารัฐบาลสอบตกในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังทำให้เครดิตของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจมีปัญหาเพิ่มขึ้นมากอีกด้วย