posttoday

"สุเทพ" แค่เครียดโอกาสรอดคดีสูง

12 กันยายน 2555

ชะตาชีวิตทางการเมืองของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ชะตาชีวิตทางการเมืองของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในระยะนี้หากจะบอกว่า “พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก” ก็คงไม่แปลกอะไรนัก เพราะโดนมรสุมรุมล้อมรอบด้าน นับตั้งแต่แพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยและต้องเป็นฝ่ายค้าน

ไล่มาตั้งแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระชับพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่างถึงพริกถึงขิงในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มาจนถึงถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน

วิบากกรรมอย่างหลังนับว่าสร้างความร้อนๆ หนาวๆ ให้กับนายใหญ่แห่งพรรคประชาธิปัตย์อยู่พอสมควร

เรื่องของเรื่องมาจากการที่ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอส่ง สส.และคณะรวม 19 คน ไปช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2551 เลยเข้าความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266 ว่าด้วยการห้ามใช้อำนาจแทรกแซงส่วนราชการ

“แม้สุเทพได้ขอถอนเรื่องการส่ง สส.ไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรมคืนแล้ว แต่ ป.ป.ช.ถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดสำเร็จแล้วเข้าลักษณะองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 1.คิด 2.ตัดสินใจ 3.ตระเตรียม และ 4.ลงมือ ซึ่งกรณีนี้ได้คิดที่จะส่งคนไปช่วยงาน ตัดสินใจส่งคนไปช่วยงาน ตระเตรียมร่างหนังสือส่งคนไปช่วยงาน และลงมือด้วยการส่งหนังสือไปถึงรัฐมนตรี” ส่วนหนึ่งจากข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 274 กำหนดว่า หากวุฒิสภามติ 3 ใน 5 ขึ้นไป ซึ่งในกรณีนี้คือ 89 คน จาก สว.ทั้งหมด 146 คน จะมีผลให้สุเทพต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับว่าเป็นโทษฉกรรจ์สำหรับนักการเมืองไม่ต่างอะไรกับการควบคุมตัวในเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม การถอดถอนครั้งนี้ถือว่ามีความแตกต่างกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาด้วยเหตุผล 2 ประการสำคัญ คือ

1.วุฒิสภาได้เปลี่ยนขั้วจากสายสรรหามาเป็นสายเลือกตั้ง หลังจาก “นิคม ไวยรัชพานิช” สว.ฉะเชิงเทรา ผงาดในตำแหน่งประธานวุฒิสภา

2.เป็นครั้งแรกที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญกับคดีถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังจากทั้งสองครั้งก่อนหน้านี้เป็นของฝ่ายพรรคเพื่อไทย

บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวได้กลายเป็นสงครามย่อยๆ ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีวุฒิสภาเป็นสนามรบให้ชั่วคราว นำมาสู่การปล่อยข่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีความพยายามล็อบบี้เสียง สว.ให้ได้มากกว่า 89 เสียง เพื่อหวังเช็กบิลสุเทพแบบทบต้นทบดอก

ที่สำคัญการเปลี่ยนขั้วในสภาสูงจากสายสรรหามาเป็นเลือกตั้งอาจมองได้ว่า เอื้อประโยชน์ในทางอ้อมกับพรรคเพื่อไทยในการประสานงานกับวุฒิสภาได้ง่ายขึ้น ถ้าเทียบกับเมื่อครั้งสายสรรหาเป็นใหญ่ อย่างน้อยนักเลือกตั้งด้วยกันย่อมคุยด้วยภาษาเดียวกัน

ทว่า โอกาสและความเป็นไปได้ในการเห็นสุเทพโดนน็อกกลางวุฒิสภายังเป็นไปได้ยากอยู่

"สุเทพ" แค่เครียดโอกาสรอดคดีสูง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้การพิจารณาการถอดถอนของวุฒิสภาเฉพาะนักการเมืองทั้งสองครั้งไม่เคยทำสำเร็จได้แม้แต่ครั้งเดียว

ทั้งในส่วน “นพดล ปัทมะ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ จากกรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชาสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ได้สั่งสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551

บรรยากาศแวดล้อมระหว่างการพิจารณาถอดถอนขณะนั้นนับว่า มีความเป็นไปได้สูงที่วุฒิสภาจะมีเสียงเกิน 3 ใน 5 เพื่อถอดถอนสองบิ๊กเพื่อไทย เพราะนอกจาก ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอนแล้ว ยังส่งสำนวนฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เอาผิดอาญาด้วย พ่วงด้วยการดำเนินความผิดทางวินัยกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องหลายราย

เป็นสองแรงบวกตอกย้ำความผิดของอดีตผู้บริหารประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ให้ชัดมากขึ้น โดยคงจะไม่เกิดข้อวิจารณ์ในสังคมมากนัก ถ้าวุฒิสภาลงมติถอดถอนขึ้นมาจริงๆ

แต่จนแล้วจนรอดก็ทำอะไรไม่ได้ ภายหลังวุฒิสภามีเสียงถอดถอนนพดลเพียง 57 ต่อ 55 เสียง และถอดถอนสมชายเพียง 76 ต่อ 49 เสียง ไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

แสดงให้เห็นว่าการล็อบบี้เสียง สว.ให้ได้ถึง 3 ใน 5 เสียงนั้นเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

ยิ่งผนวกกับสภาพวุฒิสภาขณะนี้มีลักษณะแบ่งขั้วชัดเจนจากการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาที่สายเลือกตั้งชนะสายสรรหา 77 ต่อ 69 เสียง หรือการเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งที่สายสรรหาชนะสายเลือกตั้ง 73 ต่อ 69 เสียง ส่งผลให้โอกาสของฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาล็อบบี้ สว.ผ่านสายเลือกตั้งที่สนับสนุน “นิคม ไวยรัชพานิช” และฝ่ายค้าน “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” ให้สอยสุเทพตกเก้าอี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้มากขึ้น แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้กุมอำนาจรัฐไว้ก็ตาม

หลักคิดของ สว.สรรหา+เลือกตั้งบางส่วนที่อยู่ในกลุ่ม 69-73 เสียงขั้วตรงข้ามประธานวุฒิสภาและพรรคเพื่อไทย มองว่า ประเด็นข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.อ่อนพอสมควร โดยเฉพาะการไม่สามารถชี้มูลความผิดอาญาและส่งศาลฎีกาฯ ได้

โดย “กล้านรงค์ จันทิก” โฆษก ป.ป.ช.ยอมรับกลางที่ประชุมวุฒิสภาในประเด็นดังกล่าวว่า “เป็นเพียงว่าส่อกระทำความผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้นไม่มีองค์ประกอบเพียงพอจะชี้มูลความผิดทางอาญา”

นี่เป็นเหตุผลให้สุเทพอาจรอดจากการถูกถอนได้

ขณะเดียวกัน นอกจากเหตุผลเรื่องสำนวน ป.ป.ช.แล้วยังมีเหตุผลทางการเมืองที่ช่วยให้วุฒิสภาไม่ถอดถอนสุเทพด้วย เพราะต้องรักษาสุเทพเอาไว้ สำหรับการปะทะกับเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย

ถึง สว.กลุ่มนี้จะไม่ใช่เครือข่ายประชาธิปัตย์ แต่เมื่อปฏิปักษ์คนเดียวกันก็ไม่มีเหตุผลเขี่ยสุเทพให้พ้นการเมือง โดยเล็งเห็นว่าการมีสุเทพในสภาไว้ย่อมสร้างความลำบากให้กับพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มากก็น้อย ทั้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการพิจารณาร่างกฎหมายปรองดอง

ประเมินสถานการณ์ของสุเทพ ณ ตอนนี้ คงเรียกได้ว่า “พ้นปากเหว” มาได้ในระดับหนึ่งแล้วเหลือแค่นับวันรอให้ถึงวันที่ 18 ก.ย. เพื่อประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการก่อนกลับไปรบกับเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ เต็มตัวอีกครั้ง