posttoday

ทั่วโลกลุยรีดภาษีคนรวยถึงเวลาคืนกลับสังคม

11 กันยายน 2555

ตกอยู่ในอาการหนาวๆ ร้อนๆ จนแทบจะนั่งไม่ติดเก้าอี้ไปตามๆ กัน สำหรับบรรดาอภิมหาเศรษฐีในประเทศฝรั่งเศส

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ตกอยู่ในอาการหนาวๆ ร้อนๆ จนแทบจะนั่งไม่ติดเก้าอี้ไปตามๆ กัน สำหรับบรรดาอภิมหาเศรษฐีในประเทศฝรั่งเศส เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำนิยมซ้าย เสนอนโยบายภาษีฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2556 ด้วยการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านยูโร (ราว 39.7 ล้านบาท) มากถึง 75%

เป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดการขาดดุลงบประมาณของประเทศให้เหลืออยู่ที่ระดับ 3% ภายในปีหน้า จากระดับ 4.5% ในปีนี้ ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเรียกความมั่นใจจากนักลงทุนให้หวนคืนสู่เมืองน้ำหอมที่กำลังต้องการแรงกระตุ้นแห่งนี้อีกครั้ง

ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ กระแสเศรษฐีฝรั่งเศสที่พากันหลั่งไหลออกนอกประเทศ โดยแม้จะไม่มีตัวเลขสถิติยืนยันการย้ายโอนสัญชาติ แต่ข้อมูลจากโซเธอร์บีส์ เรียลตี นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ของอังกฤษ แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการเทขายบ้านและที่ดินในฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก โดยช่วงระหว่างเดือน เม.ย.มิ.ย.ปีนี้ อสังหาริมทรัพย์ในฝรั่งเศสที่ราคา 1.7 ล้านยูโร (ราว 67.49 ล้านบาท) ขึ้นไป ประกาศขายแล้วมากกว่า 100 หลัง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมประเด็นการขอเปลี่ยนสัญชาติจากฝรั่งเศสเป็นเบลเยียมของ โรเบิร์ต อาร์ลโนล์ด อภิมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของโลก เจ้าของกิจการสินค้าแฟชั่นชั้นนำอย่างหลุยส์ วิตตอง ที่ออกมาประจวบเหมาะกับการประกาศนโยบายโขกภาษีของรัฐบาลประธานาธิบดีออลลองด์แบบพอดิบพอดี จนเหมือนกับว่า อาร์ลโนล์ด ตั้งใจหลีกเลี่ยงภาษี

เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำประณามจากสังคมถึงความงกและเห็นแก่ตัวของคนรวยอย่างสนั่นหู

ทว่า สิ่งที่น่าจับตามองไม่ใช่ความสำเร็จในการผลักดันนโยบายโขกภาษีจากคนรวยของฝรั่งเศส แต่เป็นกระแสเรียกร้องทั่วโลกที่ต้องการให้บรรดาคนรวยผู้มีอันจะกินทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบกับความยากลำบากที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้ในยุโรปและในสหรัฐ ประชาชนในซีกโลกตะวันตกต่างเจ็บปวดกับนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อหวังลดการขาดดุลงบประมาณประเทศของบรรดาผู้นำประเทศจนพูดไม่ออก

สารพัดมาตรการประหยัดถูกงัดออกมาใช้ ทั้งการตัดค่าใช้จ่าย ลดสวัสดิการ ปลดพนักงานลูกจ้าง และเพิ่มรายได้เข้ากระเป๋ารัฐด้วยการเพิ่มภาษี

แต่ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะไม่ช่วยการขาดดุลแล้ว ยังส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการการกระตุ้นเพื่อให้เติบโตกลับอยู่ในสภาวะหยุดชะงัก โดยมีบางประเทศ เช่น กรีซ เป็นหนักถึงกับอยู่ในสภาวะถดถอย หรือฝรั่งเศสที่มีการเติบโตหดตัวเพิ่มอีก 0.2% และปัญหาการว่างงานของประชาชนในแต่ละประเทศที่พุ่งขึ้น ทำให้ภูมิภาคยุโรปโดยเฉลี่ยมีคนตกงานสูงทุบสถิติที่ 11.3%

กระนั้นก็ตาม ในระหว่างที่คนส่วนใหญ่กำลังเจ็บปวดจนต้องดาหน้าออกมาเดินขบวนประท้วง บรรดาเศรษฐีทั้งหลายซึ่งรวมถึงเจ้าของบริษัท ผู้ประกอบการ และผู้บริหารธนาคาร สถาบันการเงินกลับอยู่ในสภาพที่นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งระบุว่า ได้รับการโอบอุ้มเอาใจจากรัฐบาลไม่น้อย

ทั่วโลกลุยรีดภาษีคนรวยถึงเวลาคืนกลับสังคม

 

ไล่เรียงตั้งแต่การตัดลดภาษี ยืดระยะเวลาไปจนถึงการยกเว้นภาษี และการที่ภาครัฐต้องเข้าอุ้มภาคธุรกิจรายใหญ่ไม่ให้ล้มละลาย และแบกรับหนี้แทน เช่น กรณีธนาคารแบงเกียของสเปน ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย ตัดสินใจให้เงิน 1.9 หมื่นล้านยูโร (ราว 47.6 แสนล้านบาท) เข้าไปช่วย

กลายเป็นคำถามคาใจถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน จนนำไปสู่การเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมว่า ถึงเวลาแล้วที่คนรวยทั้งหลายต้อง “จ่าย” คืนความมั่งคั่งสู่สังคมที่ตนเองตักตวงมา

ทั้งนี้ นอกจากนโยบายเก็บภาษีคนรวย 75% ที่ฝรั่งเศสแล้ว แผนการจัดเก็บภาษีของสหรัฐที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา กำลังผลักดัน ก็มีการเก็บภาษีจากคนรวยต้องเสียภาษีขั้นต่ำเพิ่มในระดับ 30% ขึ้นไป ขณะที่ มิตต์ รอมนีย์ ก็ใช้ประเด็นดังกล่าวในการหาเสียงด้วยการระบุว่า สนับสนุนนโยบายภาษีที่ผู้มีรายได้มากย่อมต้องเสียภาษีมากในสัดส่วนที่พอเหมาะกัน

ด้านรัฐบาลอังกฤษก็ไม่น้อยหน้า แม้ว่านายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน จะออกมาแสดงความเห็นในเชิงชวนให้เพื่อนบ้านหมั่นไส้ ด้วยการกวักมือเชิญเศรษฐีฝรั่งเศสให้มาอยู่ที่อังกฤษ เพื่อจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลผู้ดีในอัตราที่ 45% ซึ่งถูกกว่าอัตราใหม่ของรัฐบาลเมืองน้ำหอม แต่บรรดาสมาชิกสภาบางส่วนต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลอังกฤษควรปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีคนรวยให้รัดกุมและเหมาะสมกับรายได้ของเศรษฐีเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าแม้กระแสเก็บภาษีจากคนรวยท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี้ ส่วนหนึ่งจะมาจากการหวังผลทางการเมือง แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็นับเป็นข่าวดีท่ามกลางความเลวร้ายในขณะนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่จำต้องยอมรับโดยดุษณี คือ ต่อให้โขกเงินจากบรรดาอภิมหาเศรษฐีทั่วโลกมาได้ เงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือสยบปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลได้

คีธ ฮันเซน นักวิเคราะห์ในสหรัฐ คำนวณว่าหากกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีรายได้คนรวยทั่วสหรัฐแบบ 100% เต็ม รัฐบาลจะมีเงินเพียง 6.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (ราว 19.096 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเพียง 3% ของการขาดดุลงบประมาณในปัจจุบัน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น การเก็บภาษีจากคนรวยแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะฟื้นสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ เพราะท้ายที่สุดสัดส่วนของคนรวยมีเพียงจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนธรรมดาชนชั้นกลางทั่วโลก

“ถึงเวลาที่ต้องยอมรับกันแล้วว่า ไม่ว่าจะมีเงินเดือน 1,000 หรือ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เราทั้งหมดทุกคนต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล ไม่มีการยกเว้น” ฮัสเซน กล่าว

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นตรงกันว่า สิ่งที่รัฐบาลทั่วประเทศสมควรลงมือทำในขณะนี้ ไม่ใช่การไล่บี้ไล่เก็บภาษีจากคนมีเงินถุงเงินถัง แต่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้ยุติธรรมเท่าเทียมอย่างทั่วหน้าและทั่วถึงกัน

เพราะการเสียสละไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบที่สมควรแบกรับร่วมกัน เพื่อความอยู่รอดของคนทุกคนในสังคม

ไม่ว่าจะรวยหรือว่าจน ไม่ว่าจะคนเดินดินหรือนักการเมือง!