posttoday

พท.สำลักน้ำงมหาผู้ว่าเมืองกรุง

11 กันยายน 2555

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายก่อนครบวาระ 4 ปี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายก่อนครบวาระ 4 ปี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่จะพ้นจากตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2556 และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.

คู่แข่งหนีไม่พ้นสองพรรคใหญ่ที่ต่างมีฐานเสียงหนาแน่นพอกันในเมืองหลวง

พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะต้นสังกัดผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน กับพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรครัฐบาล

การชิงไหวชิงพริบ เกมงัดข้อ จึงเข้มข้น ผลจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่นับถอยหลังอีก 4-6 เดือนจากนี้

ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ตรวจสอบการบริหารงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มาต่อเนื่อง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้จังหวะที่รัฐบาลพลาดเรื่องการซักซ้อมระบายน้ำมาขยายแผลถล่มรัฐบาลกลับ

พรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้มีสองตัวเลือก คนแรก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ยืนยันหนักแน่นจะลงสมัครต่ออีกครั้ง ล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณชัด สนับสนุน “คุณชายหมู” ลงต่อ ให้เหตุผลเพื่อความต่อเนื่อง

ส่วนอีกตัวเลือก กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค และ สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี สส.บางส่วนใน กทม.หนุนหลัง ทว่าสุดท้ายอาจต้องเล่นการเมืองระดับชาติเหมือนเดิม

หันมาดูฟากพรรคเพื่อไทย ยังฝุ่นตลบ ตัดสินใจไม่ได้ รอความชัดเจนจากฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก่อนถึงจะกำหนดคู่ชิงอีกครั้ง

ตัวเลือกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำพรรค โยนหินถามทางและเคยวางตัวไว้ จนถึงขณะนี้มีหลายชื่อ

1.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าทีม กทม. แกนนำ 111 ไทยรักไทย (เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ปี 2543)

2.ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย

3.พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

4.กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง

5.ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ปี 2551)

6.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.

รายของ “หญิงหน่อย” มีเป้าหมายชัดว่า อยากลงชิงผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง แม้ว่าครั้งนี้เป็นโอกาสแรกที่เพิ่งได้เป็นอิสระหลังพ้นถูกตัดสิทธิเลือกตั้งมา 5 ปีเต็ม กับผลพวงคดียุบพรรคไทยรักไทย แต่จังหวะของ “หญิงหน่อย” ที่จะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเพื่อไทย ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน เพราะขณะนี้เป็นรุ่นของ “ทีมซี” พรรคเพื่อไทย ขณะที่ “ทีมเอ” ไทยรักไทย ที่จะเป็นรัฐมนตรี รอบนี้ก็ไม่มีชื่อ “หญิงหน่อย” ติดโผ

ขณะเดียวกันดุลอำนาจของ “หญิงหน่อย” ในพรรคเพื่อไทยวันนี้ กลับไม่เบ่งบานเหมือนก่อน ทั้งที่ปัจจุบันยังกุมบังเหียน กทม.ในพรรคเพื่อไทยอยู่

พท.สำลักน้ำงมหาผู้ว่าเมืองกรุง

 

สถานการณ์เปลี่ยน ทุกอย่างจึงเปลี่ยน....

นั่นเพราะผลงานของ “หญิงหน่อย” ไม่เป็นที่ปลาบปลื้ม จากที่การเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา ทำไม่ได้ตามเป้า หลายเขตพ่ายให้กับพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งพรรคเพื่อไทยเกิดก๊กใหม่มาประลองกำลัง โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่เพิ่งเข้ามาอยู่กับทักษิณ และกำลังสยายปีกขอแบ่งอำนาจจากคุณหญิงสุดารัตน์ คุม กทม.โซนฝั่งธนฯ บ้าง

โอกาสทางการเมืองของ “หญิงหน่อย” จึงต้องเบนมาที่ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะคนคุมพื้นที่ กทม.ตั้งแต่ยุคพลังธรรม-ไทยรักไทย กระทั่งพลังประชาชน อีกด้านได้รับการสนับสนุนจาก สส.กทม. สก.และ สข.ของพรรค ซึ่งเป็นฐานดั้งเดิมของคุณหญิงสุดารัตน์ แต่สัญญาณจาก “คนทางไกล” ก็ไม่ชัดว่าจะสนับสนุนหรือไม่ โดยอ้างว่า โพลที่ทำมาคะแนนของ “หญิงหน่อย” สู้ฝ่ายประชาธิปัตย์ไม่ได้

ประเด็นสำคัญ คนทางไกลเกรงว่า หากคุณหญิงสุดารัตน์ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็อาจ “บดบังรัศมี” ในบทบาทผู้นำหญิง จนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เหลือภาพความโดดเด่นอย่างที่เป็นอยู่ เหมือนช่วงที่ “หญิงหน่อย” พยายามไปแก้ปัญหาน้ำท่วม จนกลายเป็นแย่งซีนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไป

เพราะความเก๋าเกมทั้งบู๊และบุ๋น และการประชาสัมพันธ์ของ “หญิงหน่อย” กินขาดกว่ายิ่งลักษณ์หลายขุม

แว่วว่า ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระหารือเรื่องผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง “หญิงหน่อย” เข้าร่วมด้วย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถึงกับลงทุนมาเป็นประธานการประชุมด้วยตัวเอง ทั้งที่ตามปกติแล้วจะไม่ยุ่งในกิจการภายในพรรค

การเล่นบทคุมการคัดเลือกตัวแทนชิงผู้ว่าฯ กทม. ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นคำตอบในตัว นี่ทำให้ “หญิงหน่อย” ยอมรับสภาพ ก่อนจะส่งสัญญาณพร้อมถอย โดยอ้างว่า อยากขอทำงานที่ยิ่งใหญ่ รับใช้พระพุทธศาสนา บูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าอยู่แทน และเห็นว่านายกฯ มีตัวเลือกอยู่ในใจแล้ว

ในรายของ “ปลอดประสพ” และ “กิตติรัตน์” นั้น เดิมเป็นตัวเลือกในใจของทักษิณมาปีกว่าแล้ว

สำหรับ “ปลอดประสพ” การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ได้เป็นตัวแทนพรรคชี้แจงนโยบายแทบทุกเวที กลายเป็นกูเกิลด้านนโยบายของพรรค และทักษิณมองว่า “ปลอดประสพ” เป็นนักบริหารพร้อมลุยทุกสถานการณ์ ขณะที่เจ้าตัวก็เสนอตัวลงชิงผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน ล่าสุด “ปลอดประสพ” แสดงความพร้อมที่จะเป็นตัวแทนพรรคลงชิง หากได้รับการเสนอชื่อ

ส่วน “กิตติรัตน์” มาจากสองเหตุผล แรกที่มีชื่อเมื่อปีที่แล้ว ในฐานะคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ แต่ช่วงหลังเป็นเหตุผลที่แกนนำพรรคต้องการปรับ “กิตติรัตน์” ออกจาก ครม. เพราะเป็นเป้าฝ่ายค้านกรณีโกหกสีขาว และโครงการรับจำนำข้าวที่ส่อทุจริต จึงต้องหาตำแหน่งลงไปที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ แม่ทัพสีกากี ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ออกตัวหนุน เป็นเพราะสิ้นเดือน ก.ย.นี้ “บิ๊กออฟ” เกษียณในเก้าอี้ ผบ.ตร.พอดี และมีข่าวว่าจะเข้ามาเป็นรองนายกฯ คุมตำรวจ ซึ่งทับเก้าอี้ ร.ต.อ.เฉลิม จึงเดินเกมสกัดอย่างที่เห็น

อย่างไรก็ดี แรกเริ่มเดิมทีพรรคเพื่อไทยวางตัว “พล.ต.อ.พงศพัศ” เป็นตัวยืนจากภาพนายตำรวจนักประชาสัมพันธ์ โดยตั้งให้เป็นโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. แต่ขณะนั้นใครอยู่ ศปภ. กลับติดภาพลบกลับมา ล่าสุด ครม.มีมติแต่งตั้งให้ “พล.ต.อ.พงศพัศ” ให้เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ลุยงานรุกปราบยาเสพติดแทน

ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย มองว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ต้องเน้นการแก้ปัญหาน้ำเป็นหลัก เพราะคนกรุงยังผวากับวิกฤตน้ำท่วมปีที่แล้ว ดังนั้นต้องเลือกคนที่มีภาพแก้ปัญหาน้ำมาเป็นคู่ชิง นอกจาก “ปลอดประสพ” แล้ว ล่าสุดแกนนำพรรคเพื่อไทย ทาบทาม รอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ขณะนี้เป็น “ตัวเอก” ของรัฐบาลในการชี้แจงซักซ้อมการระบายน้ำ และชี้แจงสถานการณ์น้ำอยู่

ไม่ว่าจะเลือกใคร ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอาชนะแชมป์จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มาหลายสมัย เพราะคนกรุงกลุ่มที่เป็นตัวแปรมักเลือกจากฐานไว้ถ่วงดุลกับรัฐบาลส่วนกลาง

ที่สำคัญ หากตัดสินว่าพรรคใดแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ คำตอบก็ยิ่งห่างไกลจากพรรคเพื่อไทยมากขึ้น