posttoday

แผนซื้อบอนด์แค่ยื้อเวลาปัญหายุโรปแรงเกินรับไหว

10 กันยายน 2555

เรียกเสียงปรบมือได้อย่างกึกก้องสำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เรียกเสียงปรบมือได้อย่างกึกก้องสำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ภายใต้การนำของประธานคนปัจจุบันอย่าง มาริโอ ดรากี ที่ตัดสินใจเดินหน้าประกาศใช้มาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลชนิดไม่มีอั้นอีกระลอกเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

เหตุผลคือ การกระทำดังกล่าวจะยังอานิสงส์ให้บรรดาประเทศในกลุ่มผู้ใช้สกุลเงินยูโร(ยูโรโซน) ที่กำลังปวดใจแทบขาดกับการต้องแบกรับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สเปนและอิตาลี ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาพุ่งทำสถิติเกิน 6% จนนักวิเคราะห์หลายฝ่ายพากันหวั่นใจว่าสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 และ 4 ของภูมิภาคจะเดินตามรอยกรีซยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้มีเวลาหายใจหายคอได้อย่างโล่งปลอดโปร่งมากขึ้น

เนื่องจากเวลาที่มากขึ้นและแรงกดดันเรื่องภาระกู้ยืมที่ลดลง จะทำให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ แห่งอิตาลี และรัฐบาลนายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย แห่งสเปน ซึ่งย้ำนักย้ำหนาว่าสถานะของประเทศยังไม่อับจนถึงขั้นต้องอ้าปากร้องขอความช่วยเหลือจากภายนอก สามารถคิดหาแผนมาจัดการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นข่าวดีจากอีซีบีให้นานาประเทศ โดยเฉพาะชาติสมาชิกอียูได้ชื่นอกชื่นใจเห็นได้จากเสียงตอบรับของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล แห่งเยอรมนี ที่ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนการตัดสินใจของอีซีบีเพียงหนึ่งวันหลังการประกาศมาตรการทุ่มซื้อบอนด์ แต่กระแสตอบรับจากบรรดานักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักลงทุนส่วนใหญ่ดูจะไม่ค่อยยินดียินร้ายกับมาตรการที่ว่าของอีซีบีสักเท่าไรนัก

เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหน มาตรการของอีซีบีก็ทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรปไม่ให้ทรุดหนักย่ำแย่ไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า การทุ่มซื้อพันธบัตรของอีซีบีเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคการเงินการธนาคารภายในกลุ่มประเทศที่กำลังประสบกับปัญหา แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจจริงที่กำลังถดถอยซบเซาอย่างหนัก รวมถึงปัญหาการขาดดุลงบประมาณมหาศาลของภาครัฐ ตลอดจนปัญหาการว่างงานที่เพิ่งจะทุบทำสถิติใหม่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์อดหวาดหวั่นไม่ได้สืบเนื่องมาจากสาเหตุที่แท้จริงของอีซีบีที่ต้องออกมาตรการทุ่มซื้อบอนด์ ก็เพื่อประวิงเวลาให้ภูมิภาคยุโรปจัดการหลีกเลี่ยง “กับระเบิด” มากมายซึ่งกำลังรอคอยการแก้ไขในอนาคตอันใกล้นี้

และเป็นหลุมระเบิดลูกใหญ่ซึ่งมีระดับความรุนแรงถึงขั้นทำให้วิกฤตหนี้สาธารณะของภูมิภาคยุโรปร้ายแรงเกินเยียวยา จนอาจส่งผลให้กลุ่มอียูและสกุลเงินยูโรแตกหักล่มสลายได้โดยง่าย

แผนซื้อบอนด์แค่ยื้อเวลาปัญหายุโรปแรงเกินรับไหว

ระเบิดลูกแรกก็คือกองทุนถาวรเพื่อกู้วิกฤตหนี้อย่างกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป(อีเอสเอ็ม) ซึ่งกำลังรอให้รัฐสภาเยอรมนี ประเทศหัวเรือใหญ่ของกลุ่มอียู อนุมัติรับรองในวันที่ 12 ก.ย.นี้ โดยแม้ผลสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 20 รายของรอยเตอร์สจะเห็นตรงกันว่า รัฐสภาเมืองเบียร์น่าจะพร้อมใจยกมือสนับสนุนกองทุนอีเอสเอ็มอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่น่าวิตกมากกว่าก็คือการรับรองกองทุนอีเอสเอ็มอาจมาพร้อมกับเงื่อนไขที่เข้มงวดมากกว่าเดิม

“เยอรมนีจะรับรองอีเอสเอ็มแน่ แต่น่าจะเพิ่มเงื่อนไขจำกัดการช่วยเหลือของเยอรมนีไม่ให้ต้องแบกรับภาระหนี้มากจนเกินไป” ไค ฟอน เลวินสกี อาจารย์ด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮัมโบล์ดท์ในกรุงเบอร์ลินแสดงความเห็น ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมายอีกส่วนหนึ่งมองว่า เงื่อนไขอาจครอบคลุมไปถึงการจัดทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับแนวทางแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้อย่างเหมาะสม

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า แค่กระบวนการนี้เพียงกระบวนการเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะส่งผลให้การยื้อเวลาของอีซีบีสูญเปล่า

ส่วนกับระเบิดประการต่อมาก็คือการที่คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเปิดเผยแนวมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้ลุกลามด้วยร่างแผน การสร้างสหภาพการธนาคาร (Banking Union) กระชับความร่วมมือด้านการคลัง (Fiscal Integration) และหาจุดสมดุลระหว่างวินัยการคลังกับการเติบโต

ทั้งนี้ จุดยืนของอีซีบีก็คือการมีอำนาจในการติดตามตรวจสอบกิจการของธนาคารทั่วยุโรปที่มีมากกว่า 6,000 แห่งอย่างเต็มที่ โดยให้เหตุผลว่า การมีหน่วยงานส่วนกลางเดียวเพื่อเฝ้าระวังโดยใช้มาตรฐานเดียวกันย่อมทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโรมากขึ้น

ทว่า รัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศ เยอรมนี กลับเห็นว่าการเรียกร้องดังกล่าวนั้นมากเกินไป เนื่องจากล่วงล้ำอำนาจการบริหารกิจการภายในของรัฐบาลไปเต็มๆ และหากจะตั้งสหภาพการธนาคารจริง ก็ควรจำกัดอยู่ที่ธนาคารใหญ่ๆ ที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวระหว่างประเทศมากกว่าทำให้ครอบคลุมธนาคารรายย่อยทั้งหมด

สำหรับลูกระเบิดสุดท้ายที่เห็นได้ชัดเจนก็คือมาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรของอีซีบีเองที่แม้จะประกาศชัดเจนว่าทำแน่ แต่เอาเข้าจริงแล้วบรรดาผู้นำประเทศในกลุ่มสมาชิกอียูกลับอยู่ในสภาพไปไม่เป็น

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ รู้ทั้งรู้ว่าอีซีบีมีมาตรการทุ่มซื้อพันธบัตร แต่ผู้นำอียูยังคงลังเลที่จะให้อีซีบีซื้อพันธบัตรของประเทศตนเอง โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายละเอียดเงื่อนไขของการเข้าซื้อพันธบัตรของอีซีบี ที่ต้องให้ประเทศดังกล่าวเป็นผู้ยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือมายังอีซีบีก่อน พร้อมกับการยินยอมเปิดเผยนโยบายเศรษฐกิจของประเทศตนเองให้คณะกรรมาธิการอียูที่เกี่ยวข้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน

แน่นอนว่า แค่เพียงเงื่อนไขข้อนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลที่คิดจะเปิดทางให้อีซีบีซื้อบอนด์ต้องหยุดชะงัก เพราะต่างก็ไม่ต้องการเสียอำนาจในการบริหารปกครองประเทศที่จะส่งผลต่อคะแนนความนิยมของตนเองทางการเมืองในอนาคต เห็นได้จากคำพูดของนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ แห่งอิตาลี ที่ปรารภออกมาว่าหากจะต้องขอเงินช่วยเหลือจริงก็ต้องผ่านการปรึกษาหารือในรายละเอียดกับรัฐสภาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน

นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงการพิจารณาแผนรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรีซโดยทีมทรอยกา ซึ่งประกอบด้วยอีซีบี อียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่นายกรัฐมนตรี อันโตนิส ซามาราส ต้องออกมาวอนว่า กรีซตัดจนสุดความสามารถแล้ว หากทรอยกาไม่ให้ผ่านก็มีแต่ต้องตัดใจเดินออกจากกลุ่มยูโรโซนเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัญหาแต่ละข้อแล้ว ส่งผลให้นักวิเคราะห์สรุปได้อย่างไม่ยากเย็นว่า การออกมาตรการซื้อบอนด์ของอีซีบีงวดนี้ก็เพียงเพื่อให้ยื้อเวลาให้กับบรรดาผู้นำอียูอีกรอบเท่านั้น

เนื่องจากที่สุดแล้ว ผู้ที่กุมชะตากรรมของภูมิภาคยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการคงอยู่ของสกุลเงินยูโร การจัดตั้งสหภาพธนาคาร ความสามารถทางการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ล้วนไม่ใช่ธนาคารกลางยุโรป แต่เป็นนักการเมืองของแต่ละประเทศนั่นเอง