posttoday

เด้งเลขา ปปท. สังเวยเกมรุกจับทุจริต

04 กันยายน 2555

การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายกระทรวงเวลานี้ คงหนีไม่พ้นการจัดวางคนให้ขึ้นมาทำหน้าที่ในการเสริมสร้างศักยภาพของรัฐมนตรีและรัฐบาล

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายกระทรวงเวลานี้ คงหนีไม่พ้นการจัดวางคนให้ขึ้นมาทำหน้าที่ในการเสริมสร้างศักยภาพของรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อที่จะสืบทอดอำนาจให้อยู่ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในหลายกระทรวงจึงถือโอกาสล้างบางขั้วตรงกันข้ามให้สิ้นซาก เพื่อนำคนของตัวเองที่ไว้วางใจขึ้นมากุมบังเหียนแทน กระทรวงยุติธรรม ก็เป็นหนึ่งในกระทรวงที่ตกเป็นเป้าในการเปลี่ยนแปลงรอบนี้

หากไม่ผิดพลาด พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโยกย้ายเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 4 ก.ย.นี้ 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อเปิดทางให้ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ขยับไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.

สำหรับตำแหน่งอื่นประกอบด้วย ชาติชาย สุทธิกลม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โดนเด้งไปเป็นผู้ตรวจ ธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นอธิบดีกรมพินิจฯ

ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ไปเป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. จะนั่งควบเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

จุดน่าจับตาอยู่ที่เก้าอี้เลขาธิการ ป.ป.ท. ซึ่ง พ.ต.อ.ดุษฎี ถูกเด้ง ทั้งที่ผลงานการปราบปรามการทุจริตเข้าตา

ภารกิจของ พ.ต.อ.ดุษฎี ทุกคดีกำลังคืบหน้า เพราะได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ตั้งศูนย์ยุทธศาสตร์ปราบปรามการทุจริตใน 3 เรื่อง สำคัญที่ถือเป็นวาระแห่งชาติคือ การดำเนินคดีกับผู้นำเข้ารถหรูเลี่ยงภาษี ที่ผลของการจับกุมนำมาสู่การยึดของกลางได้ 1,680 คัน นำไปซุ่มจอดไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือลาดกระบัง

ถัดมาเรื่องการบุกรุกที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ จ.ภูเก็ต คดีตรวจสอบทุจริตงบน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท และคดีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั้งในและต่างประเทศปล่อยกู้ให้กับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ส่งผลให้ธนาคารของรัฐมีมูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท และพ่วงด้วยธนาคารอื่นๆ อีกมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการทำงานของ ป.ป.ท.ได้ตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารรัฐหลายแห่งเข้าไปเกี่ยวข้อง และส่งเรื่องสำนวนการสอบสวนไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป

เด้งเลขา ปปท. สังเวยเกมรุกจับทุจริต

 

ล่าสุด พ.ต.อ.ดุษฎี ได้ออกมาเปิดโปงการทุจริตในโครงการใช้งบประมาณน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ในภาคอีสานว่า มีการทุจริตแทบทุกโครงการ จนฝ่ายค้านเตรียมไปขอข้อมูลมาขยายผล

จากผลงานอันโดดเด่นดังกล่าว ย่อมทำให้คนในรัฐบาลมองว่าเป็นอันตรายต่อรัฐบาล จึงต้องเขี่ยให้พ้นทางไปก่อน ไม่เช่นนั้นหากปล่อยให้เลขา ป.ป.ท.คนนี้เดินหน้าลุย ก็ยิ่งพบว่ารัฐบาลซ่อนความเหลวแหลกไว้ใต้พรมมากขึ้นไปทุกที ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาล

ปฏิบัติการย้ายเบรกเลขา ป.ป.ท. ครั้งนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อเปิดทางให้ พ.ต.อ.ประเวศน์ ซึ่งดูเหมือนว่าทำงานสนองรัฐบาลได้ดีกว่า ในคดีผู้เสียชีวิต 91 ศพ จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อช่วงเดือน เม.ย.พ.ค. 2553 ที่ผ่านมา เข้ามาคุมบังเหียนแทน

“ยอมรับว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้เรียกผมเองไปพบที่บ้านพักโดยให้เหตุผลว่า ให้ผมไปช่วยงานปราบปรามยาเสพติด เพราะท่านจะดึงตำรวจอีกคนมาเป็นเลขาธิการ ป.ป.ส.” เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม การย้ายเลขา ป.ป.ท.ครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อแนวทางปราบโกงของรัฐบาล ที่ได้ประกาศจะเอาจริงเอาจังเมื่อไม่นานมานี้ เพราะแนวทางกับการกระทำเริ่มขัดแย้งในตัวเอง คือมุมหนึ่งต้องการเดินหน้าปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง แต่ในทางปฏิบัติกลับโยกย้ายมือปราบทุจริตไปเข้ากรุ ย่อมทำให้งานตรวจสอบปราบทุจริตสะดุดลงไปด้วย

น่าสังเกตว่า คนที่เป็นตัวจริงไม่ถูกโยกอย่าง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยังเก้าอี้เหนียวของแท้ เพราะทำงานไม่มากไปและไม่น้อยไป จากคนที่เกือบไม่อยู่ในสายตาของรัฐบาล มาวันนี้กำลังจะกลายเป็น “มือที่ขาดไม่ได้” เพราะการตรวจสอบของดีเอสไอเข้าทางเพื่อไทยมากกว่าที่การตรวจสอบปราบโกงของ ป.ป.ท. กลายเป็นหนามแทงรัฐบาล

นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพราะรัฐบาลเช็กเรตติ้งอยู่ตลอดเวลา ด้วยการอาศัยกลไกข้าราชการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย แต่สุดท้ายถ้าใครทำดีเกินหน้าที่ ก็จำเป็นต้องยับยั้งให้อยู่หมัดเสียก่อน

แม้แต่ พ.ต.อ.ดุษฎี เองยังเชื่อว่า รัฐบาลใดก็ตามมีการทุจริตคอร์รัปชันก็ต้องถึงกาลอวสาน

“ลองตรวจสอบย้อนหลังไปสิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต รัฐบาลอยู่ไม่ได้ทั้งสิ้นเลย เพราะมีการทุจริตเกิดขึ้น จะมีการชิงยุบสภาก่อน มีการลาออกของนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องทุจริตทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงดำเนินการมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสีเสื้อระดับไหน ยิ่งเขามอง ป.ป.ท.เป็นเครื่องมือรัฐบาล เราต้องไม่ทำอย่างนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน”

เพียงเท่านี้ก็เข้าใจได้แล้ว เมื่อการตรวจสอบปราบทุจริตมากเกินตัว รัฐบาลจำเป็นต้องเบรกเกม ไม่ให้นโยบายกลายมาเป็นพิษต่อตัวเอง