posttoday

ชักน้ำเข้ากทม.ชักศึกเข้ารัฐบาล

03 กันยายน 2555

กลายเป็นประเด็นเรียกแขก และสร้างความหวาดผวาให้กับผู้คน เมื่อปลอดประสพ สุรัสวดี

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

กลายเป็นประเด็นเรียกแขก และสร้างความหวาดผวาให้กับผู้คน เมื่อปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ประกาศว่าจะทดสอบปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวันที่5 และ 7 ก.ย.เพื่อทดสอบระบบการระบายน้ำผ่านเครื่องสูบน้ำและการขุดลอกคูคลองทางตะวันออกและตะวันตกของ กทม. ว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

โดยวันที่ 5 ก.ย.จะทดสอบการระบายน้ำในฝั่งตะวันตก บริเวณคลองทวีวัฒนาและคลองอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกัน เช่น คลองภาษีเจริญ ส่วนวันที่ 7 ก.ย.จะทดสอบในคลองฝั่งตะวันออกผ่านคลองระพีพัฒน์แยกตก เข้าคลอง 2 ลงคลองลาดพร้าว และคลองระพีพัฒน์แยกใต้เข้าคลอง 13 ลงสู่คลองแสนแสบและเข้าสู่อุโมงค์ยักษ์ เพื่อลงคลองพระโขนงต่อไป

ล่าสุด เอแบคโพลล์สำรวจความเห็นประชาชน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบ 60% ไม่เห็นด้วยกับการซ้อมแผนระบายน้ำเข้า กทม.ของรัฐบาลเพราะเป็นช่วงมรสุมฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุน ขณะที่ 39.8% เห็นว่า เหมาะสมแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อการซ้อมแผนระบายน้ำเข้ากทม. พบว่า คน กทม.และปริมณฑลส่วนใหญ่ หรือ 74% กังวล โดยมีสัดส่วนมากกว่าคนในต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ที่ 55.6% รู้เหตุหนึ่งเพราะชาว กทม.ต่างก็รู้กันดีว่า การขุดลอกคลองหรือจัดการกับน้ำนั้น ยังไปไม่ถึงไหน ประกอบกับช่วงนี้ฝนกระหน่ำทุกเย็น ตกไม่ทันไร น้ำก็ท่วมขังในหลายพื้นที่เหมือนที่เกิดเป็นประจำ

สะท้อนว่าขนาดน้ำฝนยังเอาไม่อยู่ แล้วถ้าปล่อยน้ำเข้าเมืองมาอีก จะมั่นใจได้แค่ไหนว่า จะคุมอยู่ อีกส่วนเพราะหลายคนยังขนลุกขนพอง กับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งเกิดไม่ถึงปีซึ่งสร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และยอดผู้เสียชีวิตกว่า600 คน

ไม่เฉพาะกระแสสังคมที่ไม่มั่นใจกับแผนซักซ้อมของรัฐบาล นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญน้ำ รวมถึงฝ่าย กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็ออกมารุมตำหนิ

ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานชำแหละว่า ทุกครั้งที่ กบอ.ทำอะไรมักไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและธรรมชาติการทดสอบครั้งนี้ ถือว่า สุดโต่ง ไม้รู้ว่ามีเจตนาใดแอบแฝงหรือไม่ ประสิทธิภาพการระบายน้ำก็เท่าเดิมคือ ไหลแบบเฉื่อยๆ เพราะภูมิศาสตร์ของ กทม.เป็นแอ่งกระทะ

เช่นเดียวกับ เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า การซ้อมระบายน้ำอาจเป็นเพียงการโปรโมตผลงานของรัฐบาลแต่หลักการของมืออาชีพแล้วต้องทดลองในห้องแล็บ การทดลองอย่างนี้ จะไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อประชาชน

ไม่ต้องกล่าวถึงท่าทีจาก กทม. ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คุมการบริหารศาลาว่าการ กทม.ไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลเพื่อไทย ธีระชนมโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่า กทม.ไม่เห็นด้วยที่จะมาทดสอบกันในฤดูฝน

นักวิชาการต้นทุนสูง เจ้าของพื้นที่อย่าง กทม. และ โพลคนกรุงสะท้อนน้ำหนักให้เห็นว่า การระบายน้ำครั้งนี้ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ถึงแม้รัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยสร้างความเชื่อมั่นให้กระทรวงมหาดไทยแถลงข่าวร่วมกับผู้ว่า กทม. ให้เห็นถึงเอกภาพในการทำงานและสำทับจากปลอดประสพ ว่า ถ้าฝนตกเมื่อไร ก็จะหยุดการระบายน้ำ รวมถึง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับหน้าที่แจงเองว่า น้ำที่จะปล่อยออกมาเพื่อทดสอบระบบนั้น จะใช้เพียง 30% ของศักยภาพลำน้ำ ยืนยัน ไม่ล้นตลิ่งแน่นอน

แต่หลังจากนั้น กทม.ก็เปิดประเด็นใหม่อีกครั้ง โดยระบุว่า เป็นห่วงพื้นที่คลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากโครงการขุดลอกทั้งสองคลอง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวิทย์ฯ ที่ปลอดประสพดูแลเองนั้น ยังไปไม่ถึงไหน อาจทำให้น้ำล้นตลิ่งในเขตสายไหม เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตลาดพร้าวและเขตห้วยขวางได้ ขณะเดียวกันประตูระบบป้องกันน้ำท่วมคลอง 812ก็ชำรุด ประตูระบายน้ำเสียหายอีก 7 จุด

ชักน้ำเข้ากทม.ชักศึกเข้ารัฐบาล

แต่จนแล้วจนรอด ปลอดประสพก็ยังยืนกรานเสียงแข็งเหมือนเดิมว่า เอาอยู่แน่นอน เพราะประตูระบายน้ำที่พังนั้น ซ่อมเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันคลองลาดพร้าวที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองก็ขุดลอกไปแล้วกว่า 50% พร้อมรับน้ำได้อย่างแน่นอน

วิวาทะของทั้งสองฝ่ายยังไม่จบ ก็มีเสียงของคนวงในที่เป็นห่วงเป็นใยแผนดังกล่าวออกมาอีก

แต่ที่กระทบกับรัฐบาลโดยตรง คือการวิจารณ์เอง อุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ระบุไว้ว่า ไม่เข้าใจปลอดประสพว่าคิดอะไรอยู่ เพราะน้ำระดับ 1020 ลบ.ม.ต่อวินาทีนั้น แทบจะมองไม่เห็นอะไรและวัดศักยภาพคูคลองไม่ได้เลย เมื่อเทียบกับคูคลองที่มีขนาดใหญ่ อย่างคลองมหาสวัสดิ์ที่กว้างมาก หากจะอ้างว่าต้องการตรวจสอบการขุดลอกคูคลอง ก็สามารถใช้โทรมาตรหรือเครื่องมือวัดระดับตามปกติก็ย่อมได้

เหนือไปกว่านั้น ระบบคลองในฝั่งตะวันตก แถวคลองทวีวัฒนา คลองภาษีเจริญและคลองมหาสวัสดิ์นั้นก็มีความซับซ้อน และมีทางออกของน้ำได้หลายช่องทาง หากปล่อยน้ำมา 10-20 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็ย่อมกระจายตัวก่อนไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครชัยศรี คลองราชมนตรีหรือแก้มลิงมหาชัย เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถวัดผลอะไรอย่างที่ กบอ.คาดหวังได้ เนื่องจากปลายทางก่อนลงแม่น้ำหรือลงแก้มลิงมหาชัยนั้น น้ำจะเหลือน้อยมาก

“ปัจจุบันน้ำในคลองต่างๆ เหล่านี้ ก็ไหลมากกว่า 10-20 ลบ.ม.ต่อวินาทีอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องทำอะไร หรือถ้าจะทำจริงๆ ก็ลองเปิดประตูระบายน้ำ 3 ลบ.ม.ต่อวินาทีสัก 3-5 ตัว ก็สามารถวัดผลด้วยเครื่องมือได้ เพราะกรมชลประทานเองมีเครื่องมือวัดการไหลของน้ำอยู่แล้ว ลองไปดูในแนวประตูก็รู้ว่าคลองลึกแค่ไหน ความลาดชันเป็นอย่างไร และมีขยะหรือมีอะไรกีดขวางทางน้ำบ้าง ซึ่งสุดท้ายการทดสอบนี้จะไม่ได้อะไรเลย” อุเทน แสดงความเป็นห่วง

ทว่าบทบาทของอุเทนในพรรค ก็ไม่ต่างจากสมาชิกพรรคคนอื่นๆ เพราะวันนี้อำนาจในการบริหารจัดการน้ำผูกขาดอยู่ภายใต้ปลอดประสพเพียงคนเดียว และความเห็นของเขายังขึ้นกับยิ่งลักษณ์โดยตรงอีกด้วย

ขณะเดียวกันมีเสียงกระเส็นกระสายภายในพรรคเพื่อไทยว่า ในระยะหลังหากมีโครงการอะไรเกี่ยวกับน้ำ ต้องขึ้นอยู่กับปลอดประสพทั้งหมด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หรือประเมินผลได้หรือไม่ก็ตาม และด้วยบุคลิกที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงของปลอดประสพ ทำให้ข้อเสนอแนะจาก กทม. นักวิชาการ วิศวกรหรือภาคประชาชน ถูกตอบกลับจากเขาด้วยเสียงที่แข็งกร้าวกลับมาอยู่ร่ำไป

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะใช้ปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อทำให้เห็นว่า รัฐบาลมีความพร้อมรับมือน้ำทุกด้าน ลบภาพผวาจากปีที่แล้ว รวมถึงเสียงวิจารณ์ต่อเนื่องว่า รัฐบาลไม่พร้อมผ่านแผนการจัดการน้ำระยะยาว 3.5 แสนล้านบาททว่าเสียงสะท้อนบนความห่วงใยทั้งหมดที่เชี่ยวกรากมาจากทุกทิศ ได้กระทบความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลพอควร