posttoday

พยุงอียูกู้วิกฤตหนุนอีซีบีลุยซื้อบอนด์

03 กันยายน 2555

หลังจากยิ้มแย้มยินดีกับข่าวดีจาก เบน เบอร์นันคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

หลังจากยิ้มแย้มยินดีกับข่าวดีจาก เบน เบอร์นันคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ออกมาส่งสัญญาณพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเต็มที่ จนทำให้ราคาหุ้น น้ำมัน และทองคำ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ขานรับด้วยการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลกต่างก็เบนสายตากลับมาจับจ้องกึ่งคาดคั้นกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกอีกครั้ง

เพราะแม้ว่าจะเผชิญหน้ากับปัญหาในรูปแบบเดียวกับแดนลุงแซม แต่สถานการณ์ของภูมิภาคยุโรป หรือสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม 17 ชาติสมาชิกยูโรโซนนั้นถือได้ว่าร้ายแรงแสนสาหัส

ไล่เรียงตั้งแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในภาวะเชื่องช้าเข้าขั้นเลวร้าย โดยมีบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่ตัวเลขจีดีพี ซึ่งแสดงการเติบโตอยู่ที่ 0% เท่านั้น ขณะที่ตัวเลขการว่างงานใน 27 ประเทศของภูมิภาคก็พุ่งทำสถิติหวิดหายนะที่จำนวน 25.254 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมถึงต้นตอของปัญหาความย่ำแย่ อย่างวิกฤตหนี้สาธารณะที่บานปลายลุกลามราวไฟลามทุ่ง ฉุดเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของหลายๆ ประเทศดิ่งลงเหว โดยมีเหยื่อรายล่าสุด คืออิตาลีและสเปน

ทั้งนี้ หลักฐานซึ่งบ่งชี้ว่ายุโรปยังคงร่อแร่ข้างต้น ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิเคราะห์จากหลายสำนักหลากสถาบันต่างพร้อมใจกันพูดเสียงดังฟังชัดว่า อียูต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

และหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้ได้อย่างรวดเร็วทันใจก็คือ “อีซีบี” ซึ่งมีไพ่ตายอยู่ในมืออย่าง มาตรการทุ่มซื้อพันธบัตร

มาตรการหนึ่งเดียวที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เกือบค่อนโลกเห็นตรงกันว่า เป็นทางเลือกหนึ่งเดียวในการฉุดเศรษฐกิจของยุโรปที่พอจะทำได้และเป็นได้อยู่ในขณะนี้

และเป็นมาตรการที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างตั้งความหวังและตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะได้เห็นมากที่สุดจากการประชุมคณะกรรมการอีซีบี ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนในวันพฤหัสบดีที่6 ก.ย.นี้

เห็นได้จากท่าทีล่าสุดของ แองเจล กูร์เรีย เลขาธิการใหญ่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ที่ออกมาแสดงความเห็นเชิงเสนอแนะเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ก่อนหน้าการประชุมประจำเดือนของอีซีบีอย่างชัดเจนว่า อีซีบีสมควรจะเริ่มต้นโครงการซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัดได้แล้ว ยิ่งเร็วยิ่งดี

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า มาตรการทุ่มซื้อบอนด์นี้ เหมาะสมที่สุดแล้วเป็นเพราะมาตรการของอีซีบีที่ออกมาก่อนหน้านี้ล้วนไม่ส่งผลใดๆ เลย

พยุงอียูกู้วิกฤตหนุนอีซีบีลุยซื้อบอนด์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะเวลา 3 ปี หรือมาตรการแอลทีอาร์โอ (Long Term Refinancing Operation) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่า 1 ล้านล้านยูโร (ราว 40 ล้านล้าน) โดยเป็นมาตรการเสริมสภาพคล่องที่อีซีบีตั้งใจอัดฉีดเงินให้กับธนาคารทั่วภูมิภาคยุโรปโดยตรงเพื่อให้ธนาคารเหล่านั้นนำเงินที่ได้ไปปล่อยกู้ให้กับบรรดาเจ้าของกิจการทั้งหลายนำไปพยุงสถานะขององค์กร

นัยว่าเพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงให้มีการขับเคลื่อนคืบหน้าได้บ้าง ก่อนที่จะแถมท้ายด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ 0.75% เป็นการปิดท้าย

ทว่า พอเอาเข้าจริงแล้ว บรรดาธนาคารเหล่านี้กลับนำเงินที่กู้มาได้มาเก็บสำรองไว้ไม่ปล่อยออกมา เห็นได้จากผลการสำรวจของอีซีบีประจำไตรมาส 2 เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า การปล่อยกู้ของธนาคารทั่วยุโรปไม่แตกต่างจากไตรมาสแรกของปีมากนัก ซึ่งเฉพาะการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 9%

เรียกได้ว่า ความตั้งใจที่จะเสริมสภาพคล่อง กระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบีไม่ได้ส่งผลใดๆ มากนัก

แต่มาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรนั้นมีแนวทางที่แตกต่างออกไป

เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นการยื่นมือเข้าช่วยรัฐบาลของประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่องโดยตรง

ขณะที่เป้าหมายสำคัญของการทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลของอีซีบีที่มุ่งช่วยลดภาระต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาล จะทำให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ มีเวลาในการจัดการรับมือแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของตนเอง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็อดปริวิตกไม่ได้ว่า การประชุมของอีซีบีที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อาจสร้างความผิดหวังให้นักลงทุนทั่วโลกที่ตั้งตารอคอย

เนื่องจากมาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรได้รับการคัดค้านแบบหัวชนฝาจากหัวเรือใหญ่อย่างบุนเดสแบงก์ ของเยอรมนี

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่อีซีบีสามารถบรรลุความขัดแย้งประกาศใช้มาตรการที่ว่าได้ ก็ต้องติดเงื่อนไขใหญ่ที่จะต้องใช้ควบคู่ไปกับกองทุนช่วยเหลืออย่างกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะประกาศออกมาใช้ เพราะติดอยู่ที่สภาเยอรมนียังไม่อนุมัติ โดยมีวี่แววอาจยืดเยื้อต่อไปจนถึงปีหน้า

ท้ายที่สุดก็จะเข้ารูปรอยเดิมที่ถึงแม้อีซีบีจะพยายามมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ยังมีขีดจำกัดที่เกินขอบเขตอำนาจความสามารถของอีซีบีอยู่ดี

และยังคงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องติดตามลุ้นตอนจบของวิกฤตยุโรปต่อไป อีกนาน!