posttoday

ส่งออกไทยเครื่องดับเศรษฐกิจสาหัส

03 กันยายน 2555

ทยอยปรับลดเป้าหมายการส่งออกกันถ้วนหน้า เมื่อพายุวิกฤตยูโรโซนโหมซัดกระแทกเศรษฐกิจโลกอย่างจัง

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ทยอยปรับลดเป้าหมายการส่งออกกันถ้วนหน้า เมื่อพายุวิกฤตยูโรโซนโหมซัดกระแทกเศรษฐกิจโลกอย่างจัง

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า วิกฤตยุโรปส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยคาดว่าจะทำให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้เพียง 56%

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์การส่งออกปี 2555 ลงจาก 15.10% เหลือแค่ 7.3%

เช่นเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยืนยันตัวเลขส่งออกที่ระดับ 7% มาตลอด ก็มีทีท่าว่าจะปรับลดประมาณการการส่งออกลงอีกในประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 5 ก.ย.นี้

เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. บอกว่า ถ้ายังมีมูลค่าการส่งออกใน 5 เดือนที่เหลือ ทำได้แค่เดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแค่ 4% ก็ถือว่าหืดขึ้นคอ

แม้แต่เอกชนเองก็มีมุมมองเป็นเชิงลบกับตัวเลขการส่งออกที่น่าจะขยายตัว 35% เพราะสภาผู้ส่งออกแห่งประเทศไทย (TNSC) ระบุว่า ยอดคำสั่งซื้อสินค้า 52 สาขาในไตรมาส 4 หดตัวถึง 510%

มีเพียงบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ 7% แม้วิกฤตหนี้ยุโรปขยายตัวเป็นวงกว้างและบั่นทอนกำลังของยูโรโซนและคู่ค้า

แต่กลับมีสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของการส่งออกไทยที่อ่อนแอลง

เพราะทุกคนเห็นตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย.ก.ค. ที่ออกมาน่า “ผิดหวัง” โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดจีนและญี่ปุ่นที่ขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา

ในเดือน ก.ค. การส่งออกไทยไปจีนขยายตัวติดลบ 4.52% ลดลงต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. ที่ขยายตัว 6.9% และเดือน พ.ค. ที่ขยายตัว 25.67% การส่งออกไปญี่ปุ่นก็ดูแย่ไม่แพ้กัน เดือน ก.ค. ติดลบ 0.42% ลดลงต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. ที่ขยายตัว 1.72% และเดือน พ.ค. ที่ขยายตัว 8.05%

การส่งออกของไทยไปตลาดจีน ซึ่งมีสัดส่วน 11-12% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย มีสัญญาณหดตัวชัดเจนมากขึ้น หลังทางการจีนรายงานตัวเลขการส่งออกในเดือน ก.ค. เติบโต 1% เท่านั้น

แต่นั่นก็เป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลกลางเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจพังครืนฉับพลัน หรือ “Hard Landing”

ยิ่งเศรษฐกิจยุโรปไม่ต้องพูดถึง เพราะนอกจากไม่มีทีท่าจะฟื้นจากอาการโคม่าแล้ว อาการมีแต่ทรุดลงทุกวัน

เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกไทยไปกลุ่มยุโรป 27 ประเทศ เดือน ก.ค. หดตัว 19.2% จากเดือน มิ.ย. ที่หดตัว 15.27% และเดือน พ.ค. ที่ขยายตัว 7.27%

ขณะที่กลุ่ม PIIGS ทยอยขอความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกลางยุโรปต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศสที่เป็นเสาหลักค้ำกลุ่มยูโรโซน มีสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจสหรัฐที่แม้พยุงกายลุกขึ้นได้บ้างแล้ว แต่ไม่สามารถออกวิ่งได้ ต้องรอยากระตุ้นจากมาตรการคิวอี 3 แต่ก็อาจได้ผลเพียงระยะสั้นๆ และไม่ได้แรงเหมือนยาชุดก่อน เช่นที่ ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช. ระบุว่า “ยิ่งอัดฉีดเงินหลายครั้ง ผลที่ได้ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ”

ขณะที่ตลาดอาเซียนที่เป็นความหวังของการส่งออกไทยพบว่าตัวเลขย่ำแย่ไม่แพ้กัน โดยเดือน ก.ค. การส่งออกขยายตัว 0.52% ลดลงจากเดือน มิ.ย. ที่การส่งออกขยายตัว 5.24% ในขณะที่เดือน พ.ค. ขยายตัว 16.59%

ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ 7 เดือนแรกปีนี้การส่งออกไทยหดตัว 0.4% ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ แต่ยังขยายตัวได้ที่ 2.2% ในรูปเงินบาท เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ส่งออกไทยเครื่องดับเศรษฐกิจสาหัส

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงกว่า 5 เดือนที่เหลือ การส่งออกจะดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยฤดูกาล แต่ไม่ถึงกับทำให้การส่งออกโตกระฉูด และน่าจะได้เห็นการส่งออกไตรมาส 3 หดตัวอีก

เพราะไตรมาส 3 ปีที่แล้วการส่งออกขยายตัว 16.6% และน่าจะเห็นการส่งออกขยายตัวอีกครั้งไตรมาส 4 เพราะน้ำท่วมปลายปีทำให้การส่งออกไตรมาสนี้โตแค่ 6.9%

การที่จะได้เห็นการส่งออกเติบโตที่ 9% ตามที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ตั้งเป้าหมายไว้ 15% จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว

จะเห็นได้ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่อาจพึ่งพาการส่งออกเป็นหัวรถจักรในการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะเศรษฐกิจไทยขยายตัวโดยพึ่งพาการส่งออกถึง 70.5%

ดังนั้น การสร้างกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จึงเป็นกำลังหลักที่จะมาทดแทนการส่งออกที่หายไปได้

โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่ออกตัวแรงในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากในช่วงแรกของการฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วม เห็นได้จากการที่เอกชนเร่งนำเข้าเครื่องจักรเพื่อฟื้นฟูการผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วมเป็นการใหญ่ โดย 7 เดือนแรกการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า ฯ ขยายตัว 45.53% และการนำเข้าเครื่องจักรกล ฯ ขยายตัว 65.13%

ขณะที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม ที่ขณะนี้ได้จัดสรรเงินไปแล้ว 97-98% นอกเหนือจากการอัดฉีดสินเชื่อทั้งจาก ธปท. และธนาคารรัฐไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท

และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% ล้วนแล้วแต่สนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนต่อเนื่องเป็น 11.3% จากปีที่แล้วที่ขยายตัว 3.3%

อีกทั้งต้องยอมรับว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มค่าตอบแทนข้าราชการวุฒิปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท นโยบายจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน โครงการพักหนี้ดี 3 ปี และโครงการรถยนต์คันแรก ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง

ถึงขนาดมีการคาดว่าการบริโภคปีนี้จะขยายตัวที่ 4.7% จากปีที่แล้วที่ขยายตัว 1.3% เท่านั้น

มีเพียงนโยบายบ้านหลังแรกเท่านั้นที่พลาดเป้า เพราะเงื่อนไขไม่จูงใจ

แต่นโยบายเหล่านี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5.5-6% ได้หรือไม่ยังเป็นคำถาม

เพราะในหัวรถจักรหลักของระบบเศรษฐกิจนั้นการส่งออกกินสัดส่วนของระบบไปถึง 70.5% ถ้าหัวรถจักรเครื่องใหญ่ดับ อย่าหวังว่ารถอีแต๋นจะมาฉุดกระชากลากถูให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้

ขณะที่นโยบายกระตุ้นกำลังซื้อนั้นมีผลข้างเคียงสูงในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่แม้ไม่ทำให้อัตราว่างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ทำให้แรงงานจำนวนมากย้ายไปสู่ภาคเกษตรกรรมและทำอาชีพอิสระ จนทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ขยายการจ้างงาน เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

จึงต้องติดตามต่อว่านโยบายกระตุ้นกำลังซื้อที่ก่อให้เกิดผลดีในระยะสั้นจะมีผลกระทบในระยะยาวอย่างไร

แต่ทว่าเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาในภาคการผลิต ที่รัฐบาลตั้งความหวังว่า ก็พบสัญญาณไม่สู้ดีนัก โดยเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ค. ลดลงเหลือ 6-6.8% จากเดือน มิ.ย. ที่การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 72.4%

ขณะที่ไส้ในของการใช้กำลังผลิตจะพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเรียกว่าใช้กำลังการผลิตเต็มที่สายการผลิตรถยนต์เดินต่อเนื่อง 3 กะ เพราะอานิสงส์นโยบายรถคันแรกที่คาดว่าจะมีรถยนต์เข้าโครงการ 6-6.5 แสนคัน และการส่งออกรถยนต์ที่ขยายตัว 23.06%

ส่วนคอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้าหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้าที่เดือน ก.ค. หดตัว 33.23% และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค.-ก.ค. ติดลบมากกว่า 30% ทุกเดือน เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นการกระจายรายได้และรายได้ของแรงงานอยู่ในภาวะ “โตกระจุก”

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเป็นเจ้ามือรับจำนำข้าวทุกเมล็ดแล้วกอดไว้ในสต๊อกกว่า 10 ล้านตันข้าวสาร หรือโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง 9.5 ล้านตันเก็บไว้ในสต๊อก แม้ทำให้ตัวเลขการส่งออกข้าวและมันสำปะหลังลดลง แต่ถือว่าทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงกว่าในอดีตที่ขายข้าวเปลือกได้ 7,000-8,000 บาทต่อตัน

แต่นั่นแลกมาด้วยการที่รัฐบาลยอมแบกรับผลการขาดทุนไว้เอง หากมีการระบายข้าวในราคาตลาดโลก

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีแรงกู้เงินเพื่อรับจำนำสินค้าเกษตรราคาสูงๆ ได้อีกนานเท่าไหร่ และจะมีกระสุนเพียงพอสำหรับรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อต่อไปจนถึงปีหน้าได้หรือไม่

หากไม่มี...ก็คงได้แต่ก้มหน้าก้มตากู้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่นโยบายประชานิยมที่มีจุดอ่อนและทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบโดยไม่มีที่สิ้นสุด การใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่อนุมัติจัดสรรงบแล้ว 1.78 หมื่นล้านบาท แต่เบิกจ่ายได้เพียง 462 ล้านบาท ส่วนงบที่เหลือจะเบิกจ่ายเร็วที่สุดก็เป็นต้นปีหน้า

จึงน่าห่วงว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตไม่ถึง 5.5-6%

แต่ที่น่าห่วงมากกว่า คือ เศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่ไม่รู้ว่าจะออกมาลูกผีลูกคน