posttoday

แผนกระตุ้นรอบใหม่ โจทย์ใหญ่ผลัดใบผู้นำจีน

30 สิงหาคม 2555

งานเข้าอย่างจริงจังหนักหน่วงเสียแล้ว สำหรับมหาอำนาจอันดับหนึ่งแห่งภูมิภาคเอเชียอย่างประเทศจีน

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

งานเข้าอย่างจริงจังหนักหน่วงเสียแล้ว สำหรับมหาอำนาจอันดับหนึ่งแห่งภูมิภาคเอเชียอย่างประเทศจีน

เพราะปัญหาที่รัฐบาลแดนมังกรกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การควานหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.5% เท่านั้น

ความท้าทายของบททดสอบข้างต้นยังเพิ่มระดับความยากด้วยเงื่อนไขของข้อเท็จจริงที่ว่า เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็จะได้วาระเวลาผลัดเปลี่ยนผู้นำส่งผ่านอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน (ซีพีซี) พรรคการเมืองหนึ่งเดียวที่กุมอำนาจในการบริหารประเทศ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ จีนในตอนนี้ได้เดินมาถึงทางแยกสำคัญที่ต้องใคร่ครวญให้ดีในการที่จะต้องเลือกระหว่าง 1) หาทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนเปลี่ยนผู้นำ หรือ 2) เสี่ยงวัดดวงกับรัฐบาลชุดใหม่ให้รับไม้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการผลัดเปลี่ยนผู้นำที่เกือบ 10 ปีจะมีเพียงครั้งนี้ ดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้ปัญหาหนักใจให้ต้องกังวล เพราะผลพวงมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งของพญามังกรเอง จนกลายเป็นความชอบธรรมที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับกับการสืบทอดอำนาจของพรรคซีพีซี

หรืออาจเรียกได้ว่า ยอมให้พรรคซีพีซีปกครองประเทศเพราะเชื่อมั่นในศักยภาพ และความสามารถในการบริหารประเทศของพรรคซีพีซีที่จะสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรือง

ทว่า เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน ซึ่งชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า การส่งต่ออำนาจจากประธานาธิบดี เวินเจียเป่า ไปยังผู้นำคนใหม่คราวนี้ อาจกลายเป็นชนวนสำคัญสะเทือนฐานอำนาจการปกครองของรัฐบาลจีน

แผนกระตุ้นรอบใหม่ โจทย์ใหญ่ผลัดใบผู้นำจีน

เพราะความผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเกี่ยวพันถึงปากท้องของพลเมืองจีนแม้เพียงนิด อาจสร้างรอยแผลหรือความไม่พอใจในหมู่ประชาชนจนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงของพรรคซีพีซี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนในขณะนี้อยู่ในสภาพที่ต้องการการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน โดยสาเหตุสำคัญสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอยเซื่องซึม อันเป็นผลพวงจากวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรป และปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างหนักของรัฐบาลสหรัฐ มหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ได้เริ่มแผลงฤทธิ์ปล่อยหมัดฮุกใส่จีนค่อนข้างแน่ชัดเรียบร้อยแล้ว โดยมีตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจเป็นหลักฐานยืนยัน

เริ่มต้นตั้งแต่ตัวเลขผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งร่วงลงต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน เช่นเดียวกันกับผลกำไรของบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ลดลงเหลือเพียง 5.4%

ตามด้วยผลประกอบการของภาคการเงินการธนาคารที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อกำไรของธนาคารขยายตัวลดลงจนน่าใจหาย โดยธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน (ซีซีบี) 1 ใน 4 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของจีนเติบโตในระดับที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 ตามรอยธนาคารแห่งชาติจีน (แบงก์ออฟไชนา) ซึ่งประกาศผลกำไรที่ลดลงของตนเองไปก่อนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่ตัวเลขการส่งออกของจีน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในการผลักดันเศรษฐกิจแดนมังกรให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษให้หลังมานี้ ก็อยู่ในสภาพที่น่าวิตกไม่แตกต่างกัน โดยแม้รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี เวินเจียเป่า จะตั้งเป้าการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 10% แต่ตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือน ก.ค. กลับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. อีก 1% อันเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลงในยุโรป หนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าและบริการที่สำคัญของประเทศจีน

เรียกได้ว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนไม่มีวี่แววกระเตื้องขึ้นแม้แต่น้อย จนส่งผลให้เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของพญามังกรอยู่ในระดับต่ำกว่า 8%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งสรุปว่า อย่างน้อยที่สุดเพื่อเป็นหลักประกันให้การส่งผ่านอำนาจไปยังผู้สืบทอดให้เป็นไปอย่างราบรื่น สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจีนในขณะนี้จะต้องทำท่ามกลางเวลาของการอยู่ในตำแหน่งที่ร่อยหรอลงไปทุกขณะก็คือ การเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า รัฐบาลจีนเองก็ตระหนักในความจริงข้อนี้เช่นกัน เห็นได้จากการเดินทางเยือนมณฑลที่เป็นเสมือนหัวใจของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของประเทศอย่างมณฑลกว่างตง เป็นครั้งที่ 3 ของประธานาธิบดี เวินเจียเป่า ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน พร้อมส่งสัญญาณหาทางออกมาตรการกระตุ้นการส่งออกระลอกใหม่ ทั้งการเร่งให้รัฐบาลกระชับขั้นตอนการคืนเงินภาษีส่งออก ขยายวงเงินประกันการส่งออก และลดค่าธรรมเนียมการตรวจสอบ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่ออกมาก่อนหน้านี้ อย่างการลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องผ่านการปล่อยกู้ของธนาคาร การปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึงสองครั้ง และการประกาศเดินหน้าปั้นโครงการสร้างสาธารณูปโภคภายในประเทศเพิ่มเติม

ทว่า แม้จะทั้งผลักทั้งดันหลากหลายมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่จนแล้วจนรอด เศรษฐกิจของจีนก็ยังไม่คืบไปตามเป้าที่รัฐบาลแดนมังกรหวังไว้มากนัก

เพราะในมุมมองของนักวิเคราะห์ การมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการหวังพึ่งภาคการส่งออกไม่ใช่ทางที่เหมาะสม เนื่องจากจีนไม่สามารถกระตุ้นให้ส่งออกมากขึ้นไปกว่านี้ได้แน่นอน หากตลาดส่งออกไม่เล่นด้วย

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ถ้าตลาดรับสินค้าจีนอยู่ในสภาพอ่อนแอ ต่อให้จีนเร่งผลิตสินค้าส่งออกมากแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์

ดังนั้น แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่พอจะเป็นไปได้ในขณะนี้ และทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องได้เร็วเท่าทันกำหนดการเปลี่ยนผู้นำก็คือ การอัดเงินเข้าไปในสารพัดโครงการก่อสร้างทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม จีนได้ทุ่มเงินลงทุนในโครงการทั้งหลายเหล่านี้ไปมากถึง 50% ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายความว่า หากเร่งอัดมากเกินไปก็จะส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของหนี้สาธารณะที่อาจเปลี่ยนเป็นหนี้เสียได้ โดยยังไม่นับรวมถึงการอัดเงินเข้าระบบโดยตรงที่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพงกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน

สรุปได้ว่า จีนในขณะนี้เริ่มไม่เหลือทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก

กระนั้น นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นว่า พรรคซีพีซีของจีนจะยังสามารถทำหน้าที่ปกครองประเทศต่อไปได้ โดย ทิม คอนดอน จากไอเอ็นจี ในสิงคโปร์ กล่าวว่า บรรดาผู้นำของจีนไม่น่าจะเลือก “ยาแรง” กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเหมือนครั้งก่อน ที่อัดเงินเข้าระบบถึง 4 ล้านล้านหยวน (ราว 20 ล้านล้านบาท) เพราะถึงจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เลวร้าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์นั้นจะเป็นจุดจบของพรรคซีพีซี

แต่เมื่อจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก และมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลกให้เติบโตต่อไปได้ ดังนั้นทั่วโลกจึงอดไม่ได้ที่จะจับตามอง “จีน” อย่างลุ้นระทึกอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนการ “วัดใจ” ครั้งสำคัญของพญามังกรแห่งเอเชีย ว่าจะเดินหน้า “กระตุ้น” เศรษฐกิจอย่างไร