posttoday

'กองทุนอินฟราฯ'ผ่าทางตันรัฐบาลถังแตก

28 สิงหาคม 2555

ในที่สุดการเดินหน้ากองทุนโครงการสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ ของรัฐบาลก็ใกล้เป็นความจริงอยู่แค่มือเอื้อม

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ในที่สุดการเดินหน้ากองทุนโครงการสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ ของรัฐบาลก็ใกล้เป็นความจริงอยู่แค่มือเอื้อม หลังจากที่ร่างกฎหมายต่างได้ยกร่างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยเหลือแค่รอให้มีผลบังคับในไม่ช้านี้

อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ ถือเป็นไม้ตายสำคัญของรัฐบาลที่จะมาผ่าทางตันปัญหางบประมาณมีไม่พอลงทุนพัฒนาประเทศ ขณะที่การกู้ก็มีข้อจำกัดเรื่องเพดานการกู้ให้อยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง

การตั้ง อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ ได้มีความพยายามมาหลายรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การจัดตั้งก็ไม่คืบหน้า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังต้องใช้เงินจากงบประมาณและการกู้เงินเป็นส่วนใหญ่

ต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เดินหน้าต่อจนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์ ในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลปัจจุบัน

ทั้งหมดเห็นได้ว่า แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะมีความเห็นแตกต่างเรื่องการบริหารเศรษฐกิจกันอย่างมาก แต่เรื่องการตั้งกองทุนอินฟราฯ ทุกรัฐบาลมีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์ในระยะยาวของการพัฒนาประเทศ

ปัญหาการตั้งกองทุนอินฟราฯ ได้รับการปลดล็อกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษีก็ให้มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการโอนสินทรัพย์ 2% เหลือ 0.01% ค่าจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% ค่าจดทะเบียนการเช่า 1% เหลือ 0.01% สำหรับผู้ที่ต้องการตั้งกองทุนอินฟราฯ

'กองทุนอินฟราฯ'ผ่าทางตันรัฐบาลถังแตก

นอกจากนี้ ให้มีการเว้นเงินภาษีผู้ซื้อหน่วยลงทุนและได้เงินปันผลและกำไรเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ตั้งกองทุน ซึ่งถือว่าจูงใจทั้งเอกชนที่จะมาตั้งกองทุน และนักลงทุนที่จะมาซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนอินฟราฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันนี้การตั้งกองทุนอินฟราฯ จะเริ่มเดินหน้าได้แล้ว แต่ในส่วนของภาครัฐที่เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กลับยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินการเรื่องนี้

เห็นได้ชัดแผนการออก พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ทั้งในระบบขนส่งทางรางรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม และพลังงาน ก็ยังเป็นเงินลงทุนจากการกู้ เนื่องจากเงินงบประมาณมีไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญการระดมเงินจากการกองทุนอินฟราฯ ทั้งสามารถเริ่มเดินหน้าจัดตั้งได้แล้ว

ตามแผนงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีแผนที่ชัดเจนในการตั้งกองทุนอินฟราฯ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) วงเงิน 2,000 ล้านบาทเท่านั้น เพื่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

การเริ่มต้นตั้งกองทุนอินฟราฯ ของ กฟผ.ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ถือว่ายังเป็นวงเงินที่น้อย เมื่อเทียบกับการลงทุนของ กฟผ. อีก 20 ปีข้างหน้า ที่ต้องใช้เงินลงทุนอีกถึง 8 แสนล้านบาท การลงทุนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ไม่สามารถพึ่งงบประมาณเพียงอย่างเดียวจะใช้เงินกู้เข้ามาช่วยก็ได้อีกไม่มาก เพราะการกู้เงินของรัฐบาลที่ผ่านมามีจำนวนมาก ทั้งจากการกู้ขาดดุลงบประมาณมีอย่างต่อเนื่อง การกู้แก้ไขน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท และการกู้เพื่อลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานในอีก 5-7 ปีข้างหน้า อีก 2 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของไทยจากปัจจุบันอยู่ที่ 42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเพิ่มเป็น 50-60% ต่อจีดีพี

ดังนั้น การตั้งกองทุนอินฟราฯ ถือเป็นเครื่องที่สำคัญในการลงทุนพัฒนาประเทศ โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดปีหนึ่งสูงถึง 3-4 แสนล้านบาท หรือ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากรัฐบาลสามารถผลักดันตั้งกองทุนอินฟราฯ ระดมเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ 10% จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณ หรือไม่ต้องกู้เงิน ได้ถึง 2 แสนล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า

แต่การที่รัฐวิสาหกิจไม่มีความพร้อม ทำให้เสียโอกาสเพราะนอกจาก กฟผ.ตั้งกองทุนอินฟราฯ 2,000 ล้านบาทแล้ว ก็มีการประปา การไฟฟ้า และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่มีแผนตั้งกองทุนอีก 3 กอง กองละ 1,000 ล้านบาท รวมเป็นกองทุน 3,000 ล้านบาท ก็ถือว่าน้อยนิดมาก เมื่อเทียบกับเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีละ 3-4 แสนล้านบาท

ต่างกับภาคเอกชนที่มีความตื่นตัวในการตั้งกองทุนมากกว่า โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเมินว่า จะมีเอกชนตั้งกองทุน 4-5 หมื่นล้านบาท ภายในไม่กี่ปี เพราะถือว่าเป็นช่องทางการระดมทุน

โดยที่ผ่านมาจะพบว่ามีเอกชนเดินหน้าตั้งกองทุนอินฟราฯ เป็นรูปเป็นร่างแล้ว เช่น ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับบริษัท เอสพีซีจี ตั้งกองทุนอินฟราฯ ระดมทุน 5,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มเชิงพาณิชย์ของเอสพีซีจีจำนวนไม่เกิน 7 โครงการ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟภ.

การที่เอกชนมีความพร้อมมากกว่ารัฐวิสาหกิจยิ่งเป็นกระจกส่องให้เห็นว่า ภาครัฐไม่มีความพร้อมที่จะทำกองทุนอินฟราฯ ทั้งที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของประเทศ ในช่วงที่ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจจากน้ำท่วมและปัญหาวิกฤตยุโรป ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก

ปัญหาที่รัฐวิสาหกิจไม่มีความพร้อมก็เพราะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ยกเครื่องการบริหารเพื่อให้แน่ใจได้ว่า จะมีรายได้เพียงพอที่จะมาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อหน่วยลงทุน ทำให้การระดมทุนได้เพียงพอ

การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจเกิดความโปร่งใสการดำเนินการมากขึ้น เพราะต้องผ่านการตรวจสอบจาก ก.ล.ต. และผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นดัชนีชี้วัดว่าโครงการมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินการที่ดี มีการลงทุนที่คุ้มค่า และมีรายได้จูงใจพอที่จะเข้าลงทุน เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว

ปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ไม่ตื่นตัว เพราะถือว่าอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้เดือดร้อน ใช้เงินจากงบประมาณสร้างโครงการต่างๆ ได้อยู่แล้ว หากเงินไม่พอก็ต้องแบกหน้าไปกู้และให้รัฐบาลค้ำประกันได้อยู่แล้ว

แต่ถึงเวลาที่รัฐวิสาหกิจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียที ถ้าไม่เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะบังคับเองในอนาคต