posttoday

จับตาศึกพิพาท 3 ยักษ์ จีน-ญี่ปุ่น-โสม น่านน้ำวัดใจสายสัมพันธ์เศรษฐกิจ

27 สิงหาคม 2555

กลายเป็นประเด็นให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกอดวิตกหวั่นไหวกันไม่ได้อีกระลอก

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นประเด็นให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกอดวิตกหวั่นไหวกันไม่ได้อีกระลอก เมื่อ 3 ชาติระดับบิ๊กชั้นแนวหน้าทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย มีอันต้องนั่งร่วมโต๊ะซด “เกาเหลา” ชามใหญ่ด้วยกัน

จีน มหาอำนาจอันดับหนึ่งแห่งเอเชียแสดงท่าทีไม่พอใจ ญี่ปุ่น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของภูมิภาคอย่างชัดเจน ในกรณีเกาะเตียวหยู หรือเกาะเซนโกกุ ขณะเดียวกันแดนปลาดิบก็มีเหตุให้ต้องมีเรื่องเขม่นกับ เกาหลีใต้ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในอันดับ 4 ของเอเชีย กรณีที่ผู้นำโสมขาวเยือนเกาะด๊กโดหรือเกาะทาเคชิมา

หนักถึงขนาดที่ว่าประชาชนในจีนเดินขบวนประท้วงและต่อต้านญี่ปุ่นรวมถึงสินค้าจากญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ อย่างรุนแรง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเองต้องเรียกตัวทูตมารับฟังรายงานสถานการณ์โดยตรง

ขณะเดียวกันกระแสความขัดแย้งก็โหมกระพือรุนแรงขึ้นไปอีกขั้น เมื่อประชาชนของแต่ละชาติใช้วิธีการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันเข้าต่อกรกัน โดยมีหลักฐานยืนยันล่าสุดจากกรณีระหว่างจีนกับญี่ปุ่นบนเกาะเตียวหยูหรือเกาะเซนโคคุ ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวจีนเดินทางไปปักธงบนเกาะดังกล่าวจนโดนจับ ก่อนที่นักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นจะเอาอย่างบ้าง และจบลงด้วยการที่รัฐบาลของแต่ละฝ่ายต้องออกหน้าเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหว โดยมีกระแสความชื่นชมยอมรับจากประชาชนทั่วประเทศของตนเองเป็นรางวัล

เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในขณะนี้ กำลัง “ไม่กินเส้นกัน” หรือไม่สู้ดีนัก สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนบริเวณหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก (East Asia Sea) และทะเลญี่ปุ่น (Sea of Japan) ซึ่งคาดกันว่าพื้นที่ดังกล่าวร่ำรวยและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่เปี่ยมด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล จนกระเทือนถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 ชาติ

และเป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์อดออกอาการผวาไม่ได้

เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะงักงันซึ่งต้องการแรงกระตุ้นแบบจัดหนักจัดเต็ม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้กระเตื้องเดินไปข้างหน้าได้

เนื่องจากลำพังแค่มูลค่าทางการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ก็ถือได้ว่ามหาศาล โดยรายงานวิจัยจากกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ระบุชัดว่า ในปี 2554 มูลค่าทางการค้าของ 3 ประเทศรวมกันสูงถึง 6.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 21.39 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.03 ล้านบาท) ในปี 2542

นับเป็นความสัมพันธ์ที่ในรายงานข้างต้นเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการพัฒนาของทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของโลกซึ่งอยู่ในภาวะเชื่องช้าเลยทีเดียว

แม้รัฐบาลของทั้ง 3 ชาติจะออกมายืนกรานอย่างชัดเจนว่า สายสัมพันธ์ทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกับสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และไม่คิดจะนำมาปะปนกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักหรือกระทั่งภาครัฐ เช่น รัฐมนตรีพาณิชย์ญี่ปุ่น จุน อาซูมิ เห็นตรงกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกำลังคุกรุ่นได้ที่ และผ่านจุดที่ประชาชนจะแยกแยะการเมืองและเศรษฐกิจให้ออกจากกัน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็ต้องบอกว่า การเมืองและเศรษฐกิจได้กลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้วในสายตาของประชาชนแต่ละประเทศ

จับตาศึกพิพาท 3 ยักษ์ จีน-ญี่ปุ่น-โสม น่านน้ำวัดใจสายสัมพันธ์เศรษฐกิจ

 

แน่นอนว่าในมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่นว่ารัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ คงไม่ยินยอมให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาขัดขวางความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีต่อกัน เพราะผลการเดิมพันในครั้งนี้มีคุณค่าและมูลค่า “สูง”

แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่อง “การเมือง” การตอบสนองและบรรเทาความขุ่นเคืองของประชาชนเกือบค่อนประเทศ ย่อมมีความสำคัญมากพอๆ กับการพัฒนาเรื่องความเป็นอยู่และปากท้องของชาวบ้าน

ดังนั้น การเพิกเฉยต่อกระแสของคนในประเทศย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดมากนักในทางการเมือง แม้ว่าการยอมตอบรับต่อกระแสมหาชนในบางครั้งจะกระเทือนถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ของชาติ

จนในที่สุด ก็นำไปสู่การใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่เข้าห้ำหั่นข่มขู่กันเอง แทนที่จะต้องร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน

หลักฐานที่เห็นได้ชัด ก็เช่นเหตุการณ์ที่จีนสั่งระงับการส่งออกแร่ธาตุหายากซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยังญี่ปุ่น โดยแม้ว่าจีนจะอ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ช่วงเวลาที่ระงับซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังมีปัญหาพิพาททางทะเลกับจีนอย่างพอดิบพอดีเกินไป ก็ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นการโต้ตอบของรัฐบาลจีนที่หวังใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเข้าข่มขู่

หรือแม้กระทั่งกรณีล่าสุดระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ที่รัฐบาลแดนปลาดิบได้ยกเลิกนัดประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์กับรัฐบาลเกาหลีใต้ พร้อมส่งสัญญาณขอทบทวนข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสกุลเงินเยนกับเงินวอนโดยตรง ซึ่งอาจรวมถึงการระงับแผนซื้อพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ของญี่ปุ่น ในช่วงที่ทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในอาการฮึ่มๆ ใส่กันกรณีเกาะด๊กโดหรือเกาะทาเคชิมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่าประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และประวัติศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ท่ามกลางความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ของทั้ง 3 ชาติ ไม่มีผลต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย แถมยังค่อยๆ เติบโตเบ่งบานมากขึ้นเรื่อยๆ

ยืนยันได้อย่างชัดเจนจากสถานะความเป็นคู่ค้าของกันและกัน โดยจีนได้กลายเป็นคู่ค้าหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้แทนที่สหรัฐตั้งแต่ปี 2547 ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างกันทำสถิติสูงถึง 2.206 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.839 ล้านบาท) เมื่อปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 34 เท่านับตั้งแต่ทั้งจีนและเกาหลีใต้ตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันในปี 2535

เช่นเดียวกับตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่ต่างฝ่ายต่างกลายเป็นตลาดส่งออกนำเข้าที่สำคัญของกันและกัน โดยล่าสุดรุดหน้าถึงระดับที่มีการพูดคุยในเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรีและการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินเยนหยวนโดยตรง

ทั้งนี้ โรเบิร์ต บรอดฟุต ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจในฮ่องกง กล่าวว่า รัฐบาลมังกร ปลาดิบ และโสมขาว ล้วนเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเรื่องความเสี่ยงทางเศรษฐกิจกับการเชิดชูนโยบายชาตินิยม ขณะเดียวกันก็ตระหนักดีว่า การผลักดันให้กรณีพิพาทถึงจุดแตกหักย่อมเป็นเดิมพันที่ได้ไม่คุ้มเสีย

“ต่างฝ่ายต่างกำลังเล่นเกมหมากรุกกันอยู่ และพวกเขา (รัฐบาล) ก็คิดวางแผนรับมือไปไกลถึง 10 ขั้น” บรอดฟุต กล่าว

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศจะสามารถจัดการรับมือกับประเด็นที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

เพียงแต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าอย่างไรก็จะส่งผลเสียหายต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในระยะยาว

อย่างน้อยในที่สุดก็ทำให้ความร่วมมือที่สมควรจะแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปอย่างเชื่องช้าอย่างที่ไม่สมควรจะเป็น ท่ามกลางความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอื่นๆ เช่น กลุ่ม 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ที่กำลังรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

จนท้ายที่สุด ไม่เพียงแต่ต้องสูญเสียตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจบนเวทีโลกไปอย่างน่าเสียดายแล้ว สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ชะงักงันอาจส่งผลต่อการขยายความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรอื่น เพื่อสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ของโลกด้วยเช่นกัน