posttoday

"โกหกเพื่อชาติ" แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

27 สิงหาคม 2555

คุณเป็น รมว.คลัง ของประเทศไทย ชาวต่างประเทศเขาถามว่า น้ำจะท่วมไหม ผมตอบว่าน้ำ‘อาจ’ จะท่วมได้หรือ หน้าที่ผมคือ น้ำไม่ท่วม

โดย...จตุพล สันตะกิจ

“คุณเป็น รมว.คลัง ของประเทศไทย ชาวต่างประเทศเขาถามว่า น้ำจะท่วมไหม ผมตอบว่าน้ำ‘อาจ’ จะท่วมได้หรือ หน้าที่ผมคือ น้ำไม่ท่วม เมื่อรู้ว่าไม่มีอย่างอื่นจะตอบ แล้วตอบว่าไม่ท่วม ถามว่าคุณโกหกหรือเปล่า ก็เปล่า ก็บอกแล้วไงว่าทำอะไรแล้วต้องไม่เสียใจ รีบออกกฎหมาย ออกกระบวนการ...” เป็นคำพูดในวงสนทนาเล็กๆ กลางเดือนมิ.ย. 2555

“เรื่องภาษี เขาอนุญาตให้ รมว.คลังปิดๆ บังๆ คนที่เกี่ยวข้องได้ แล้วถ้าจะพูดอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องพูดความจริงเสมอไป” เป็นส่วนหนึ่งของคำสัมภาษณ์เรื่อง “เหตุผล? การขึ้นภาษีสุราและบุหรี่ ในรายการ ‘คลุกวงข่าว’ ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2555

“เดิมตั้งเป้าส่งออกที่ 15% ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจอะไร หลายคนมาถามว่า เมื่อรู้ว่าไม่ถึงแล้วมาพูดทำไม ขอเรียนว่าในหน้าที่ รมว.คลัง และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เขาอนุญาตให้พูดไม่จริงได้บางเรื่อง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘White Lies’ หรือการพูดไม่จริงสีขาว...ถ้าผมพูดตั้งแต่ต้นปีว่าการส่งออกจะขยายตัวไม่ได้ ความไม่มั่นใจจะมีภาวะอย่างไร ในเวลานั้นใช่เวลาที่เหมาะสมจะพูดอย่างนั้นไหม และในแง่ความตั้งใจและตั้งเป้า ผมพูดชัดเจนว่าเป้าในการทำงานเชื่อว่ามีโอกาสที่จะทำได้คือ 15%” เป็นคำกล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “โรดแมปสู่อนาคตประเทศไทย” วันที่ 23 ส.ค. 2555

เหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ต่างกรรมต่างวาระในห้วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ทว่า “White Lies” หรือการพูดไม่จริงสีขาว กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากคำนี้หลุดจากปาก รมว.คลัง

ภาคเอกชนตีความว่านี่เป็นการ “โกหกเพื่อชาติ”เมื่อกิตติรัตน์ลดเป้าหมายการส่งออกปี 2555 เหลือ 9% จาก 15% ก่อนหน้านี้ พร้อมระบุว่าที่ต้องตั้งเป้าตัวเลขไว้ที่ 15% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นเป้าหมายการทำงานรัฐบาล

แต่ผลเชิงลบที่ย้อนกลับมา คือ ความกังขาและความไม่เชื่อถือคำพูดของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล โดยเฉพาะในยามที่ไทยต้องเผชิญกับสารพัดปัจจัยวิกฤตรุมเร้า ทั้งการประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลังน้ำท่วมใหญ่ สถานการณ์การเมืองยังยืนอยู่บนความขัดแย้ง เศรษฐกิจโลกมีทีท่าดิ่งเหวอีกรอบ หากเศรษฐกิจยุโรปพังพาบลง ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐไม่ต้องพูดถึง เพราะเจ็บป่วยเรื้อรังและรอยากระตุ้นจากมาตรการ “คิวอี 3”

“ต้องชื่นชมรองนายกฯ ที่พยายามรักษาความน่าเชื่อของรัฐบาล โดยการลดความน่าเชื่อถือของตัวเอง...”อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็น

ขณะที่ปรากฏการณ์ที่สร้างความไม่เชื่อถือต่อตัวเลขเศรษฐกิจของทางการเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง

คือ อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2555 ที่ขยายตัว 2.47% สวนทางกับราคาสินค้าในตลาดที่แพงลิบลิ่ว และอีกครั้ง การแถลงตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. ที่แถลงครั้งแรกที่ตัวเลขขยายตัวติดลบ 2.5% แต่วันถัดมามีการแก้ตัวเลขใหม่เป็นติดลบ 4.2% เนื่องจากคูณอัตราแลกเปลี่ยนในรูปสกุลเงินบาทผิดพลาด

ทั้งนี้ ปัจจุบันต้องยอมรับไทยไม่อาจพึ่งพาการส่งออกและเศรษฐกิจโลกได้เต็มสูบ ในขณะที่หัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากภาคส่งออกประมาณ 70%

จึงจำเป็นที่รัฐบาลและกิตติรัตน์ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักลงทุนมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 5-6% แม้การส่งออกมีสัญญาณหดตัวตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 เศรษฐกิจจีนออกอาการเครื่องแผ่วให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเดือน ส.ค.ที่ดัชนีภาคการผลิตของจีนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

นโยบายกระตุ้นกำลังซื้อทั้งชั่วคราวและถาวรต้องถาโถมมาเป็นระยะๆ ตามจังหวะช้า-เร็วของชีพจรเศรษฐกิจ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเพิ่งผ่านพ้นไป และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

เช่น รถยนต์คันแรก ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ 1.5 หมื่นบาท นโยบายรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาท โครงการบังคับพักหนี้ดี 3 ปี ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยซอฟต์โลน 3 แสนล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์ไปผสมกับเงินของธนาคารเอง ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมซื้อบ้านหรือรีไฟแนนซ์ดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 5 ปี กองทุนตั้งตัวได้ เพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน และโครงการเอสเอ็มแอล

เป้าหมายหลัก คือ สร้างกำลังซื้อใหม่ในประเทศ และทำให้การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจคึกคัก พร้อมๆ กับการเร่งเครื่องการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะการใช้งบฟื้นฟูน้ำท่วมและงบลงทุนปี 2555 อีกทั้งขยับขยายและเพิ่มมูลค่าการค้าขายภายในเอเชียให้มากขึ้น

แต่หากผู้คนตื่นตระหนกกับเศรษฐกิจโลกที่สั่นคลอน และไม่มั่นใจต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การอัดฉีดเงินสร้างกำลังซื้อในประเทศที่เรียกว่าประชานิยมบ้าง หรือที่กิตติรัตน์เรียกว่าการเปลี่ยนสมดุลเศรษฐกิจบ้าง คงไปได้ไม่ถึงฝั่งและอาจทำให้เศรษฐกิจหดตัว เพราะคนไม่ใช้จ่าย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีรัฐบาลใดต้องการเห็น

"โกหกเพื่อชาติ" แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

 

เช่นเมื่อครั้งเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปลายปี 2551ต่อเนื่องปี 2552 เศรษฐกิจโลกที่ล้มครืนลงมา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างร้ายแรง โดยการส่งออกไทยปี 2552 หดตัว 13.9% ส่งผลให้จีดีพีหดตัว 2.3% และอัตราว่างงานแตะระดับ 1.5% หรือมีผู้ว่างงาน 6 แสนคน รัฐบาลสมัยนั้นต้องงัดมาตรการ ลด แลก แจก แถม เพื่อลดจำนวนคนตกงานที่คาดว่าอาจสูงถึง 1 ล้านคน

แต่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นเร็วเกินคาดจากการที่ทั่วโลกพร้อมใจกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลการส่งออกไทยไตรมาส 4 ปี 2552 พลิกกลับมาขยายตัวที่ 12.2% จากที่ติดลบ 4 ไตรมาสติดต่อกัน แม้มีเหตุการณ์เผาเมืองในปี 2553 การท่องเที่ยวชะงักงัน แต่การส่งออกในปี 2553 ที่ขยายตัวที่ระดับ 28.5% ทำให้เศรษฐกิจปีนั้นขยายตัวได้ถึง 7.8%

ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกเป็นพระเอกในการขับดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเช่นเดียวกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การส่งออกที่มีแนวโน้มย่ำแย่ลง ทำให้กิตติรัตน์ต้องตอบสนอง ด้วยการยืนเป้าส่งออกที่ 15% ให้นานที่สุด แม้ความจริงจะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้คงเดินไปไม่ถึง เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีผลกระทบที่รุนแรงอย่างคาดไม่ถึงได้ โดยเฉพาะอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนของเอกชนที่เข้าสู่อาการช็อก

โดยเฉพาะนโยบายรถยนต์คันแรกที่คนซื้อรถส่วนใหญ่เป็นเช่าซื้อที่มีภาระระยะ 4-7 ปี หากเกิดความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ก็จะชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ เป้าหมายรถยนต์คันแรก 5 แสนคัน อาจไม่เป็นตามเป้าหมาย

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักของรัฐบาล ส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วน การประกอบรถยนต์ และการซื้อขายรถยนต์ ที่การหมุนทุกรอบนำรายได้เข้าสู่ภาครัฐในรูปภาษี

“ผมเข้าใจดีว่าเวลาที่ตัวเลขเศรษฐกิจประกาศออกมา เป้าสายตาจะพุ่งไปที่การส่งออกเป็นเป้าแรก เพราะในอดีตทีมฟุตบอลทีมชาติไทยชุดนี้จะทำประตูคู่ต่อสู้ได้ เราก็ต้องใช้การส่งออกเป็นหัวหอกในการทำประตู ในวันนี้ผมอยากบอกว่าประเทศไทยตอนนี้จะทำประตูได้โดยมีหัวหอกอื่นๆ เข้ามา ที่จะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจให้โตขึ้น”กิตติรัตน์ บอก

หัวหอกที่กิตติรัตน์หมายถึงคือ กำลังซื้อในประเทศ การลงทุนในประเทศทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะการเร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท และการท่องเที่ยว

แต่สิ่งที่กิตติรัตน์ต้องใส่ใจไม่น้อยกว่าการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ คือ การเร่งฟื้นฟูโรงงานที่ถูกน้ำท่วม

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สะท้อนสาเหตุทำให้การส่งออกไตรมาส 2 ยังหดตัวอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานที่ถูกน้ำท่วมกว่า 20% ไม่สามารถนำเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่มาติดตั้งในโรงงานได้ เนื่องจากติดปัญหาการตีความพิกัดอัตราภาษีศุลกากรในการนำเข้าเครื่องจักรใหม่

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ฟื้นความเชื่อถือและเชื่อมั่นในคำพูดของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจกลับคืนมาให้ได้

โดยเฉพาะการให้ข้อมูลถูกต้องและมีค่าเบี่ยงเบนน้อยที่สุด ไม่ส่งสัญญาณผิดให้ภาคธุรกิจและประชาชน ที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและนำพาธุรกิจเข้าสู่หุบเหว

วันนี้ต้องถือได้ว่ากิตติรัตน์ตกเป็นเป้าทั้งคลื่นบนน้ำและคลื่นใต้น้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่สถานการณ์ของทีมเศรษฐกิจยิ่งลักษณ์อยู่บนทางสามแพร่ง

แพร่งแรก คือ การรุกคืบเข้ามากุมทิศทางเศรษฐกิจของทีมกุนซือทักษิณ ที่วันนี้หลายคนบ่นน้อยอกน้อยใจว่า นายกฯ ไม่ค่อยเรียกใช้และให้ความสำคัญน้อยลง

แพร่งสอง คือ ขุนพลเศรษฐกิจหน้าเก่าจากบ้านเลขที่ 111 ที่ต้องการหวนคืนเก้าอี้ทางการเมือง

แพร่งสาม คือ ทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบันที่ยิ่งลักษณ์วางใจและต้องการให้มาช่วยทำงานข้างกาย ล้วนเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่พูดจากันรู้เรื่อง และเข้าอกเข้าใจกัน แม้บางส่วนถูกอาณัติของ “เจ๊ใหญ่”

เพียงแต่ว่าทีมเศรษฐกิจที่นายกฯยิ่งลักษณ์ “รู้ใจ” และ “ไว้ใจ” ฝีมือยังไม่จัดจ้าน มีชั้นเชิง เหลี่ยมคูการเมืองไม่พอจึงเป็นจุดอ่อนและตกเป็นเป้าโจมตีไม่ต่างจาก “บ่อน้ำมัน”

วันนี้วิกฤตความน่าเชื่อถือของรัฐบาลกำลังจะลุกลามไปเป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะสิ่งที่ รมว.คลัง กล่าวนั้น ไม่มีใครรู้ว่าจริงหรือเท็จ และที่ไปบอกต่อต่างชาติว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วม จะเป็นจริงหรือไม่

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ปัญหาเศรษฐกิจนี่แหละที่จะทำให้รัฐบาลนี้อยู่ยาก หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาของแพงทั้งแผ่นดิน การคอร์รัปชัน การกระตุกการลงทุนได้นี่จะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล

“White Lies” นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังสร้างปัญหาเพิ่มอีกด้วย