posttoday

ขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่มาถูกทางแต่ใช้เงินพื้นที่

24 สิงหาคม 2555

การตัดสินใจปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่าสุด ถือว่าได้รับเสียงชมจากทั่วสารทิศ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การตัดสินใจปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่าสุด ถือว่าได้รับเสียงชมจากทั่วสารทิศ ทั้งนักวิชาการและกลุ่มรณรงค์งดเหล้าบุหรี่ก็ออกมาชื่นชมการขึ้นภาษีครั้งนี้

แม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ก็ออกมาสนับสนุนการขึ้นภาษีบาปของรัฐบาล พร้อมยังเชียร์ให้ขึ้นอีก ฝ่ายค้านยกมือหนุนเต็มที่

ถึงแม้ว่าจะมีบางกลุ่มผิดหวังเสียดายว่า รัฐบาลขึ้นภาษีน้อยเกินไป หรือน่าจะขึ้นมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ต้องถือว่ารัฐบาลเริ่มขึ้นบ้างดีกว่าไม่ขึ้นเลย และขึ้นช้าดีกว่าไม่สนใจทำ

ที่เหลือก็เห็นจะมีแต่กลุ่มผู้ประกอบการ และผู้บริโภคพวกคอทองแดงและสิงห์อมควันเท่านั้น ที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีบาปของรัฐบาลในครั้งนี้

ในส่วนผู้ประกอบการ การขึ้นภาษีครั้งนี้ทำให้สินค้าแพงขึ้น แม้ว่าจะผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ แต่เมื่อของแพงขึ้นก็ทำให้ขายสินค้าได้ยาก ทำให้ขาดทุนกำไรอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะคนบริโภคสินค้าน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการปรับขึ้นภาษี

กรมสรรพสามิตประมาณการว่า การปรับขึ้นภาษีบาปล่าสุด สุราขาวเพิ่มขึ้น 5-7 บาทต่อขวด สุราผสมราคาเพิ่มขึ้น 8-12 บาทต่อขวด และบรั่นดีราคาเพิ่มขึ้น 3-12 บาทต่อขวด ราคาขายปลีกบุหรี่เพิ่มขึ้นประมาณ 3-14 บาทต่อซอง

กรมสรรพสามิตดีดลูกคิดรางแก้วออกมาแล้วว่า การขึ้นภาษีสุรา บุหรี่ ทำให้กรมเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาท เป็นในส่วนของบุหรี่ 1 หมื่นล้านบาท และสุรา 3,000 ล้านบาท

รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้กรมสรรพสามิตยิ้มออก เพราะช่วยเข้ามาชดเชยรายได้จากการลดภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้รายได้หายไปเดือนละ 9,000 ล้านบาท คิดทั้งปีเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

แม้ว่าเงินที่เก็บเข้ามาได้รอบนี้จะน้อยเทียบไม่ได้กับเงินที่ต้องสูญไป แต่การกำเบี้ยก็ยังดีกว่าไม่ได้กำอะไรเลย

ดังนั้น การขึ้นภาษีบาปของรัฐบาลในช่วงที่อยู่ในสภาพถังแตก ทำให้ถูกมองว่าเป็นการรีดเงินภาษีมาโปะโครงการประชานิยมต้องใช้เงินมหาศาล และกำลังสร้างหนี้ก้อนโตให้กับประเทศ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนยุโรป ที่ต้นตอมาจากการใช้จ่ายเกินตัวจนหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

เพราะหากไล่เรียงโครงการประชานิยมของรัฐบาล นอกจากการลดภาษีน้ำมันดีเซลที่ลดมาเป็นปีสูญเงินภาษีไปกว่า 1 แสนล้านบาท และยังทำท่าจะต้องขยายไปถึงสิ้นปี 2556 ต้องเสียเงินเป็นอีกแสนล้านบาท

โครงการรถคันแรกที่รัฐบาลขยายเวลาส่งมอบรถแบบไม่มีกำหนด ทำให้ยอดใช้สิทธิพุ่งจากสัปดาห์ละ 100 คัน เป็น 1 หมื่นคัน ทำท่ายอดจะทะลุเป้า 56 แสนคัน และทำให้งบที่ต้องจ่ายคืนผู้ซื้อรถทำท่าจะเกิน 3 หมื่นล้านบาท ที่ตั้งไว้เดิม

การพยุงราคาพลังงานของรัฐบาลทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซ ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีหนี้พอกแตะ 2 หมื่นล้านบาท และไม่รู้อนาคตว่าต้องแบกภาระเพิ่มหนี้ไปอีกนานเท่าไร

โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลทุกเมล็ดตันละ 1.5-2 หมื่นล้านบาท ใช้เงินกู้ถึง 3.5 แสนล้านบาท เป็นภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปีละ 6,000-8,000 ล้านบาท ขณะที่การระบายข้าวที่รับจำนำมาจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ยังไม่รวมกับการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้องที่หนาหูขึ้นทุกวัน

รัฐบาลยังมีโครงการพักหนี้ดีไม่เกิน 5 แสนบาท ลดดอกเบี้ย 3% ทำให้ทั้งธนาคารรัฐและรัฐบาลต้องเข้าเนื้อชดเชยจ่ายดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ถึง 4.5 หมื่นล้านบาท

ขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่มาถูกทางแต่ใช้เงินพื้นที่

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่เข้าแถวใช้เงินอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนตั้งตัวได้ กองทุนเอสเอ็มแอล กองทุนหมู่บ้าน และกองทุนประกันสุขภาพทั่วหน้า ที่ต้องใช้เงินรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเร่งเดินหน้าเพื่อบรรจุไว้เป็นผลงานในรอบปีของรัฐบาล

เมื่อผนวกกับการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า ที่ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ไปปีละ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการได้ลดภาษี

โครงการประชานิยมทั้งหมด กลายเป็นภาระก้อนโตของรัฐบาล ที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงถอยไม่ได้ เพราะกลัวเสียคะแนนนิยม ทำให้รัฐบาลชักหน้าไม่ถึงหลัง ที่ผ่านมาต้องตายดาบหน้ากู้ดะทำให้ยอดหนี้มีแนวโน้มพุ่งเอาไม่อยู่จาก 42% ต่อจีดีพี เป็นกว่า 50% ต่อจีดีพี ในปีหน้า

ตัวเลขหนี้ที่เริ่มพองโตขึ้นทุกวัน ทำให้รัฐบาลกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งโดนโจมตีทางการเมืองว่า เคยด่ารัฐบาลก่อนหน้าว่าดีแต่กู้ แต่พอมาเป็นรัฐบาลกลับกู้จนหนี้บานเบอะจนทำท่าจะพุ่งไม่หยุด

ขนาดที่ผ่านมารัฐบาลได้ซุกหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับใช้หนี้แทนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลก่อหนี้ไปถมโครงการประชานิยมได้มากขึ้น แต่ก็ปรากฏว่าหนี้ใหม่ก็ยังบาน หนี้ที่ซุกไว้ก็ยังใช้ไม่หมด

เมื่อหนี้กลายเป็นไฟลนก้น ทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกต้องขึ้นภาษีมาโปะประชานิยม โดยการขึ้นภาษีบาปถือว่าเหมาะที่สุดในยามคับขันเช่นนี้

เพราะเป็นการขึ้นภาษีที่ไม่มีใครต้าน ได้เงินก้อนใหญ่ อยู่ที่รัฐบาลจะใจถึงขึ้นมากน้อยขนาดไหนเท่านั้น

แม้ว่าการขึ้นภาษีสุราและบุหรี่ที่ผ่านมายังเป็นเหมือนเอาใบบัวมาปิดช้างที่ตายไม่มิด แต่รัฐบาลยังมีแผนขึ้นภาษีบาปอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาษีเบียร์ ที่คาดว่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท เพราะการเก็บภาษีปัจจุบันอยู่ในอัตราต่ำ และแนวโน้มการบริโภคเบียร์ในเมืองไทยขยายตัวขึ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังมีแผนการเก็บภาษีโทรคมนาคม การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ซึ่งการขึ้นภาษีทั้งหมดของกรมสรรพสามิตเหมารวมเข่งจะได้เงินเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนล้านบาท ช่วยหล่อเลี้ยงโครงการประชานิยมของรัฐบาลให้เดินหน้าต่อไปได้

ที่สำคัญ ทำให้แรงกดดันทางการเมืองลดลง รัฐบาลมีข้ออ้างว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง ดีแต่กู้สร้างหนี้มาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในโครงการประชานิยม เพราะรัฐบาลมีรายได้เพิ่มก็ทำให้การกู้เงินลดลงในที่สุด

การขึ้นภาษีบาปของกรมสรรพสามิตจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่เดินมาถูกทาง เพราะการเก็บภาษีมากก็เป็นการปกป้องสังคมทำให้คนห่างไกลอบายมุข

นอกจากนี้ รัฐบาลยังลดค่าใช้จ่ายจากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เสพอบายมุขที่เสียไปปีหนึ่งเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

ทว่า การใช้เงินภาษีบาปกับไม่ถูกที่ ถูกถมลงทะเลกับโครงการประชานิยมของรัฐบาล ที่เป็นโครงการมุ่งแต่หาเสียงเพื่อคะแนนนิยมทางการเมือง

แทนที่จะนำเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปใช้เพื่อการลงทุนสร้างประเทศ คนไทยจะได้ไม่ต้องแบกหนี้อีก 2 ล้านล้านบาท เพื่อกู้มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ