posttoday

อภิปรายงบฯเปิดแผล...ปูทางซักฟอก

17 สิงหาคม 2555

ภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 สองวันแรก “ประชาธิปัตย์” ประเดิมเวทีสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปแบบไม่หวือหวา

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 สองวันแรก “ประชาธิปัตย์” ประเดิมเวทีสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปแบบไม่หวือหวา ค่อยๆ นวดไล่อภิปรายเงื่อนงำการบริหารงานของรัฐบาลไปทีละกระทรวง

แน่นอนว่า “หมัดเด็ดหมัดน็อก” อาจไม่จำเป็นต้องรีบปล่อยในเวทีอภิปรายงบฯ เมื่อศึกใหญ่ข้างหน้ายังมี “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่ประชาธิปัตย์จองกฐินมาตั้งแต่ปิดสมัยประชุมสภา และกำลังรอดูจังหวะเวลาว่าจะเลือกปล่อยไม้ตายนี้ในช่วงไหน

อภิปรายฯ รอบนี้ จึงไม่ต่างจากการ “โหมโรง” เรียกกระแสเต้นฟุตเวิร์ก ออกหมัดแย็บ ดูเชิงรัฐบาล ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน โดนแล้วออกอาการเป็นพิเศษ จะได้พุ่งเป้าไปถูกจุด พร้อมเก็บข้อมูลคำชี้แจง อธิบาย ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐานเพิ่มน้ำหนักให้ศึกซักฟอกต่อไป

ถอดรหัสการอภิปรายฯ นอกจากความพยายามย้อนเกร็ดรัฐบาลเพื่อไทย ที่เคยรุมถล่มรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า “ดีแต่กู้” ด้วยการอธิบายว่า นอกจากการขาดดุล 3 แสนล้านบาท ที่ต้องกู้มาชดเชยแล้ว ยังมีหนี้นอกงบประมาณอีกจำนวนมากที่สุ่มเสี่ยงจะเกินเพดานในอนาคต

“ประชาธิปัตย์” พุ่งเป้าถล่มไปที่นโยบายมีปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวและตอกย้ำเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในโครงการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทย ภายใต้กรอบงบประมาณก้อนมหึมา 3.5 แสนล้านบาท

อภิปรายงบฯเปิดแผล...ปูทางซักฟอก

 

ปมแรกปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ที่ กรณ์ จาติกวณิช ขนทีมเศรษฐกิจ เกียรติ สิทธีอมร นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ถล่มโครงการนี้ที่สร้างความเสียหายรัฐบาลต้องรับภาระขาดทุนและเสียรายได้การส่งออกข้าวถึง 1 แสนล้านบาท ยังไม่รวมกับเงื่อนงำทุจริตที่ปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่

พร้อมกระทุ้ง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ รมว.คลัง ที่พูดว่าถ้ารัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวแล้วทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณสำหรับการประกันรายได้เกษตรของรัฐบาลในอดีต รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้

นอกจากนี้ ยังหยิบยกปัญหาเรื่องการสวมสิทธิครั้งใหญ่ ที่ข้อมูลจากนักวิชาการ ระบุว่า มีข้าวนอกระบบโผล่เพิ่มถึง 3 ล้านตัน จ.ร้อยเอ็ด มีข้าวที่มาจำนำเกินกว่าที่ผลิตได้ถึง 176% มหาสารคาม 112% กำแพงเพชร 223% เชียงใหม่ 185% พิษณุโลก 144% พิจิตร 142% และ จ.เชียงราย 135%

ถัดมาที่ประเด็นงบประมาณการดำเนินการยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ 3.5 แสนล้านบาท ที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีเรื่องทีโออาร์ โครงการยื่นข้อเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย ที่มีรายละเอียดน้อยมาก หากเทียบกับขนาดโครงการมูลค่าขนาดนี้

ยิ่งกว่านั้นในรายละเอียดทีโออาร์ยังกำหนดคุณสมบัติไว้สูงจนสกัดบริษัทไทยให้เข้าร่วมแข่งขัน อีกทั้งประเด็นการรวบว่าจ้างแบบเหมา ทั้งออกแบบและก่อสร้างจะเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย

ก่อนจะพุ่งเป้าไปตรวจสอบย้อนหลังในงบประมาณปี 2555 ใน 2 ส่วนหลัก คือ 1. งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท และ 2.งบเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งใช้ไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนหนึ่งที่ฝ่ายค้านต้องไล่บี้ เพราะงบประมาณดังกล่าวถูกโยงว่ามี “เจ๊ใหญ่ทางภาคเหนือ” เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณลงพื้นที่ มีการเร่ขายโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพร้อมทั้งมีการเรียกเก็บหัวคิว 3035%

นี่จึงถือเป็นการขยายแผลเพื่อค้นข้อมูลที่อาจนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาทั้งในชั้น กมธ.ประชาธิปัตย์ เคยไล่บี้มารอบหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล หรือการเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ที่ระบุ กลับถูกล็อก ต้องใช้พาสเวิร์ดถึงจะเข้าไปดูรายละเอียดได้

หลังถูกไล่ต้อนทางรัฐบาลให้เอกสารรายละเอียดมาเพียงแค่กรอบใช้เงินคร่าวๆ ทำให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ประธานวิปฝ่ายค้าน ออกโรงเดินหน้าไล่บี้ขอเอกสารรายละเอียดการใช้งบเพื่อที่จะตรวจสอบความถูกต้องของการใช้งบก้อนนี้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์ยังไล่ถล่มนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นงบในส่วนแผนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 413 ล้านบาท ที่ถือโอกาสรุมถล่มการออกกฎหมายล้างผิด หรืองบสำหรับแผนงานลดค่าครองชีพส่งเสริมและรักษาเสถียรภาพพลังงาน วงเงิน 1,400 ล้านบาท ที่ล้มเหลวไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้จริง

มาจนถึงงบประมาณการปราบปรามการทุจริต ที่รัฐบาลพยายามผลักดันแก้ไข แต่กลับตั้งงบป้องกันและปราบปรามทุจริตเพียง 420 ล้านบาทเท่านั้น พร้อมสะท้อนว่าเงินในโครงการฟื้นฟูน้ำท่วมบางโครงการทุจริตกัน 100% คือ ไปถ่ายรูปโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว แล้วนำมาตั้งเรื่องเบิกงบจ่ายเงินทำเป็นโครงการที่ไม่ต้องขุดดินเลย

ประเด็นต่างๆ ที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาในการอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ จึงเป็นแค่ดาบแรกที่เปิดประเด็นเพื่อรวบรวมข้อมูลรายละเอียด ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ก่อนจะมีดาบสองในการอภิปรายระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลในอีกไม่กี่สัปดาห์ และลงดาบสุดท้ายด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจในที่สุด