posttoday

วิกฤต "ข้าวแพง" คัมแบ็คโอกาสในวิกฤตที่ไทยเอื้อมไม่ถึง

17 สิงหาคม 2555

แม้จะถือเป็นข่าวร้ายของชาวโลก แต่สำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยเราแล้ว อาจต้องถือเป็นข่าวดีที่ได้เห็นข่าวราคาข้าวโลกเตรียมขยับตัวปรับสูงขึ้น

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

แม้จะถือเป็นข่าวร้ายของชาวโลก แต่สำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยเราแล้ว อาจต้องถือเป็นข่าวดีที่ได้เห็นข่าวราคาข้าวโลกเตรียมขยับตัวปรับสูงขึ้น และมีทิศทางแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2556

ตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาข้าวกลับมาแพงอีกครั้ง หลังจากที่เคยทำสถิติสูงสุดมาเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ ก็คือ “ภาวะแล้งในอินเดีย” หรือประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกในขณะนี้ เพราะฤดูมรสุมซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูกกลับมีฝนตกน้อยกว่าปกติ จนคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวในปีนี้อย่างมาก

จากที่เคยเก็บเกี่ยวได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 91.5 ล้านตัน เมื่อปีที่แล้ว (มิ.ย. 2554-มิ.ย. 2555) สถาบันนโยบายอาหารระหว่างประเทศในสหรัฐ คาดว่าหน้าฝนที่แห้งแล้งจะทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวของอินเดียในปีนี้หดหายไปถึง 57 ล้านเมตริกตัน ซึ่งปัญหานี้ได้เริ่มส่งผลต่อราคาข้าวให้เห็นแล้ว โดยราคาข้าวที่ตลาดล่วงหน้าชิคาโก ปลายเดือน พ.ค. ได้ปรับตัวสูงขึ้น 7.4% เนื่องจากความกังวลถึงผลผลิตที่ลดลงของอินเดีย

เป็นที่คาดว่าราคาข้าวโลกจะปรับตัวสูงขึ้นทะลุตันละ 600 เหรียญสหรัฐ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ และในช่วงไตรมาส 4 ราคาอาจขยับขึ้นอีก 10-15% เนื่องจากผลผลิตที่ตึงตัวและสถานการณ์อาจลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หลังจากที่อินเดียเริ่มรายงานตัวเลขการเก็บเกี่ยวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 3

อย่างไรก็ตาม ภาวะข้าวแพงที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับไทยแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลก ได้เท่ากับที่เคยทำได้มาก่อนหน้านี้

หรือหากจะเรียกให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ ประเทศไทยอาจจะไม่สามารถคว้าโอกาสจากภาวะข้าวแพง และปล่อยให้ประโยชน์ตกไปอยู่ในมือรายอื่นๆ อย่างน่าเสียดาย

เพราะประเทศไทยไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมต่อการแข่งขันในเวทีโลก

วิกฤต "ข้าวแพง" คัมแบ็คโอกาสในวิกฤตที่ไทยเอื้อมไม่ถึง

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ คือ ความกังวลว่าผลผลิตข้าวของอินเดียจะลดลงเนื่องจากภาวะแล้งในฤดูทำนา

ทว่า อินเดียก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ดันราคาข้าวโลกให้พุ่งสูง เพราะแม้ว่าองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) จะปรับลดคาดการณ์ปริมาณข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ทั่วโลกในปี 2555 นี้ลงมาอยู่ที่ 7.245 ล้านตัน จากคาดการณ์เดิมที่ 7.8 ล้านตัน เนื่องมาจากผลผลิตที่ลดลงในอินเดีย กัมพูชา ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และเนปาล แต่ผลผลิตในปีนี้ก็ยังสูงกว่าในปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการข้าวทั่วโลก

ประเด็นจึงถูกตีตกมาที่ “ไทย” ต่อทันที ในฐานะผู้ที่มีสต๊อกข้าวจำนวนมากไว้ในมือ แต่กลับไม่ยอมขาย

โครงการรับจำข้าวของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวในราคาที่ขาดทุนได้ ทั้งที่ควรเป็นจังหวะและโอกาสทองของไทย หลังจากที่เพิ่งประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาในปีที่แล้ว โดยคาดว่าไทยจะมีสต๊อกข้าวสูงถึง 12.1 ล้านตัน ในปีนี้

ข้อจำกัดดังกล่าวของไทย ยังได้บีบให้หลายประเทศหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่าแทน โดยเฉพาะเวียดนาม

ปัจจุบันเวียดนามได้ทำสัญญาข้าวกับหลายประเทศที่เตรียมตัวรองรับแนวโน้มราคาอาหารแพงแล้ว อาทิ อินโดนีเซีย โดยเวียดนามได้ทำสัญญาพร้อมขายข้าว 5 แสนตัน ให้อินโดนีเซีย ในกรณีที่อินโดนีเซียจำเป็นต้องนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งในจำนวนนี้ได้รวมถึงข้อตกลงซื้อข้าวหัก 15% แบบจีทูจีเอาไว้ด้วย โดยราคาในปัจจุบันอยู่ที่ราคาตันละ 415420 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งอยู่ที่ตันละ 390395 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในเดือน มิ.ย. ฟิลิปปินส์ก็ได้ทำข้อตกลงซื้อข้าว 1 แสนตัน จากเวียดนาม ในราคาตันละ 400 เหรียญสหรัฐ เพื่อสำรองไว้ในยามที่ทิศทางราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น และเป็นที่คาดว่าผลผลิตข้าวในฟิลิปปินส์อาจปรับตัวลดลงในปีนี้ เนื่องจากภาวะน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นซาโอลาและไคตั๊ก

ก่อนหน้านี้ไม่นาน เอกชนของไทยก็ต้องวิ่งซื้อข้าวจากเวียดนามและกัมพูชาเช่นกัน เนื่องจากไม่มีข้าวหัก 25% เพียงพอต่อการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเป็นต่อของไทยในเวทีค้าข้าวโลกลดลงด้วยก็คือ ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมมากขึ้น อาทิ พม่า ขณะที่ผู้เล่นหน้าเดิมก็สามารถผลิตข้าวได้มากขึ้น อาทิ ปากีสถาน ซึ่งเพิ่งเปิดเผยไปในเดือน ส.ค.นี้ ว่าสามารถผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น 28% ในปีนี้

ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าไทยจะช่วงชิงความได้เปรียบ โดยขายข้าวในช่วงที่ราคากำลังแพงในปลายปีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องสต๊อกข้าวที่อาจล้นจนต้องเร่งระบายก่อน จนไม่สามารถต่อรองราคาได้มากนัก

ราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิเคราะห์ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เปิดเผยกับวอลสตรีต เจอร์นัล เอาไว้ว่า สต๊อกข้าวที่กำลังล้นอาจเป็นปัจจัยกดดันให้ไทยต้องเริ่มระบายข้าวออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งในท้ายที่สุด ประเทศไทยเองก็จะเป็นผู้ที่ช่วยลดความกดดันเรื่องราคาข้าวในตลาดโลกให้ลดลงมา

เท่ากับว่าไทยตกอยู่ในสถานะผู้แพ้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่สามารถแข่งขันได้ในยามภาวะปกติ และไม่สามารถคว้าโอกาสในยามวิกฤตได้ ทั้งที่โอกาสนี้ไม่ได้มาให้เห็นกันทุกปี...