posttoday

โอบามา เหยียบแผ่นดินเอเชียหนสอง งวดนี้ก็ยังไม่มี “ไทยแลนด์”

17 มีนาคม 2553

ไทยไม่เคยอยู่ในสายตาโอบามา อินโดนีเซียต่างหากน่าจับตาเป็นที่สุด

ไทยไม่เคยอยู่ในสายตาโอบามา อินโดนีเซียต่างหากน่าจับตาเป็นที่สุด

โดย... ทีมข่าวต่างประเทศ

ยอมรับว่าเกิดการสับสนระหว่างการพูดคุยระหว่าง เคิร์ธ เอ็ม. แคมป์เบล รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศกิจการด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน จนกลายเป็นข่าวออกมาว่าประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ จะแวะเยือนประเทศไทยด้วยในระหว่างการเดินทางเยือนเอเชียหนที่ 2 ในระหว่างวันที่ 21-26 มี.ค.นี้

จนสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยต้องออกมาชี้แจงแถลงไขว่า ไม่จริง ท่านโอบามาไม่มีแผนเยือนประเทศไทยตามที่เป็นข่าว

สรุปได้แน่นอนแล้วว่าโอบามาเยือนเอเชียในหนนี้ไม่มีไทยอยู่ในสายตา ไม่ว่าจะหนแรกเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว หรือจะเป็นหนที่สองนี้...!

ว่ากันว่าการเดินทางเยือนเอเชียในครั้งนี้ของผู้นำสหรัฐนั้น เห็นได้ชัดว่าโอบามาให้ความสำคัญมากแค่ไหน ถึงขนาดที่ว่าที่บ้านตัวเองกำลังจะมีการโหวตกฎหมายปฏิรูประบบสาธารณสุขในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะผ่านหรือไม่ผ่านก็จะสั่นสะเทือนอนาคตของโอบามาไม่น้อยทีเดียว

แต่ท่านประธานาธิบดีก็ยังไม่ทิ้งแผนการเดินทางในครั้งนี้แต่อย่างใด ส่งสัญญาณว่าการเดินทางครั้งนี้ต้องมีความสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของสหรัฐไม่น้อย

และที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างหนาหูมากที่สุดคือ การมาเยือนเอเชียในครั้งนี้ของโอบามานั้นถือเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของสหรัฐในเอเชียล้วนๆ

การเดินทางมาในครั้งนี้ถึงถูกมองว่าเพื่อ “อิทธิพล” สหรัฐของจริง

3 ประเทศที่โอบามาจะเหินมาพร้อมกับเครื่องแอร์ฟอร์ซวัน คือ กวม ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย

วิเคราะห์เจาะลึกประเทศแรกอย่าง กวม นั้น ถือว่าเป็นลูกหม้อสหรัฐอยู่แล้ว เป็นที่ตั้งกองทัพเรือใหญ่ของสหรัฐ เป็นฐานใหญ่ในแปซิฟิก

การแวะกวมในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นเจ้าแห่งแปซิฟิกอยู่ โดยเฉพาะเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศฝ่ายตรงข้ามไปในตัว

แต่จุดสนใจอยู่ที่ 2 ประเทศหลัง อินโดนีเซีย และออสเตรเลียต่างหาก

โอบามาเยือนเอเชียครั้งนี้เป็นหนที่ 2 และก็มาอินโดนีเซียทั้งสองครั้งเช่นกัน

นอกเหนือจากที่กระแสฟีเวอร์โอบามาในอินโดนีเซียจะดังสุดๆ แล้ว จนถึงกับมีการสร้างหุ่นอนุสาวรีย์จำลองเด็กชายโอบามาเอาไว้ในฐานะที่ประธานาธิบดีสหรัฐเคยใช้ชีวิตในวัยเด็กที่นี่แล้ว

ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียคือยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางด้านความมั่นคงและทางด้านเศรษฐกิจ ณ เวลานี้

ประกอบไปด้วยชาวมุสลิมถึง 200 ล้านคน อินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีขนาดของจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน

การเยือนเอเชียในครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นพันธมิตรกับชาวมุสลิมให้แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งสหรัฐและอินโดนีเซียก็มีความร่วมมือระหว่างกันแน่นแฟ้นอยู่แล้วในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

สองประเทศนี้ยังคงดำเนินการเจรจาปรับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกันให้กลับคืนสู่ระดับปกติอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่สหรัฐเคยระงับการขายอาวุธและการช่วยเหลือทางทหารกับอินโดนีเซียในกรณีสงครามกลางเมืองอาเจะห์

ในทางเศรษฐกิจอย่าลืมว่าอินโดนีเซียคือประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศ จี20 ที่กำลังเพิ่มระดับความสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และกำลังเข้ามาแทนที่บทบาทกลุ่มประเทศ จี–8

การคบกับอินโดนีเซียซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นเส้นทางรับมือกับอิทธิพลจากจีนเป็นอย่างดี อินโดนีเซียยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาติมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนำซ้ำยังเป็นสมาชิกกลุ่ม จี20

การคบอินโดนีเซียเอาไว้ สหรัฐจึงมีแต่ได้กับได้ ต้องยอมรับจริงๆ ว่าในเวลานี้อินโดนีเซียคือเบอร์ 1 ของอาเซียนในสายตาสหรัฐ

สุดท้ายที่ออสเตรเลีย โอบามาจะเปิดการหารือกับนายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ แห่งออสเตรเลีย และยังจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาออสเตรเลียอีกด้วย

การเดินทางเยือนแดนจิงโจ้ในครั้งนี้จึงจะเป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ถึงความเป็นพันธมิตรใกล้ชิดระหว่าง 2 ชาติกันอีกครั้ง

อย่าลืมว่าออสเตรเลียแทบจะถูกมองว่าเป็นลูกหม้อของสหรัฐมาตลอดกี่ยุคกี่สมัย

เคยถูกอดีตผู้นำมาเลเซียเปรียบว่าเป็นนายอำเภอของพญาอินทรี คอยทำหน้าที่จับตาดูแลเอเชียเวลาสหรัฐไม่อยู่

เป็นพันธมิตรออกร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐในศึกสงครามอิรัก ทั้งๆ ที่ทั่วโลกก่นด่า

แต่ออสเตรเลียกำลังถูกมองว่ากำลังห่างเหินจากสหรัฐไปบ้าง เมื่อการค้าระหว่างจีนและออสเตรเลียเพิ่มพูนขึ้น

ต้องยอมรับกันว่าออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียแปซิฟิก ที่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยก่อนใคร

นั่นหมายความว่าออสเตรเลียสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจได้เป็นประเทศแรกๆ ก่อนใครเพื่อน

ส่วนสำคัญต้องยอมรับว่าการส่งออกบรรดาแร่และหินซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้าง และเป็นสินค้าส่งออกหลักของออสเตรเลียนั้น เพิ่มขึ้นอย่างฮวบฮาบในช่วงปีที่แล้ว

นั่นเป็นเพราะการส่งออกไปยังจีนที่มีความต้องการสินค้าประเภทนี้สูง เพราะจีนกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างต่อเนื่องกับโครงการการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ถึงจะยังไม่มีสัญญาณตรงๆ ชัดๆ ว่าออสเตรเลียและสหรัฐอาจจะหมางเมินกันบ้างเพราะอิทธิพลจากการค้าจากจีน

แต่การตอกย้ำความเป็นพันธมิตรกันอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และเป็นการบอกจีนไปในตัวว่า “เรายังสนิทกันอยู่”

การเดินทางเยือนของโอบามาในครั้งนี้จึงมีหลายนัยหลายมุมมองที่น่าติดตาม

เพราะกวม อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ล้วนต่างมีความหมายต่อสหรัฐทั้งในแง่ความมั่นคง สงครามก่อการร้าย และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ผิดกับไทยแลนด์แดนม็อบรายวัน

ที่บอกตรงๆ ว่าไม่รู้โอบามาจะมาเยือนทำไมจริงๆ...!