posttoday

ติดไอพ่นปราบโกงปิดจุดอ่อนรัฐบาล

16 สิงหาคม 2555

ความพยายามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อการขับเน้นนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เหมือนกำลังติดไอพ่นให้กับหน่วยงานราชการเร่งสร้างผลงานอย่างน่าแปลกใจ

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ความพยายามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อการขับเน้นนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เหมือนกำลังติดไอพ่นให้กับหน่วยงานราชการเร่งสร้างผลงานอย่างน่าแปลกใจ

ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นสนองนโยบายรัฐบาล สับเปลี่ยนหมุนเวียนตั้งโต๊ะแถลงผลงานการจับกุมผู้กระทำทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างต่อเนื่อง

ฟากดีเอสไอ ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานบอร์ด ลงพื้นที่คุ้ยทุจริต โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ด้วยการตั้งชุดเฉพาะกิจอาศัยมือไม้ตำรวจติดตามดมกลิ่นจุดรับจำนำ โรงสี โดยมี พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคงดีเอสไอ เป็นหัวหน้าทีม

ฟากของ ป.ป.ท. แม้ขึ้นตรงกระทรวงยุติธรรมมี พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการ ป.ป.ท. รับบทเป็นหัวหน้าทีมหลัก แต่กำลังทำงานสอดประสานดีเอสไอ ด้วยการวางแผนเดินสายปลายเดือนนี้ ติดตามการทุจริตรับจำนำข้าว พร้อมกับลงนามจับมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปูพรมตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ 200 แปลง อื้อฉาวใน จ.ภูเก็ต แต่ยังเดินหน้าลุยเกาะช้าง จ.ตราด เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และยังเล็งพิกัดไปยังพื้นที่อุทยาน จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น ที่มีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ แถมจัดหนักด้วยการบุกตรวจท่าเรือสกัดขบวนการลักลอบรถหรูปลอมแปลงเอกสารเลี่ยงภาษี โดยพบว่ามีข้าราชการกรมศุลกากรโยงไปถึงเต็นท์รถเอกชน นักการเมืองเกี่ยวข้อง

ยังมีอีกหลายคดีส่อทุจริต ซึ่งดีเอสไอและ ป.ป.ท.กำลังติดตามสอบสวนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มิพักกล่าวถึงบทบาท ป.ป.ท.ในช่วงนี้กับการเป็นเจ้าภาพตรวจการบ้านหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น ที่จะต้องวางกลไกการปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานตัวเองและส่งผลความคืบหน้าให้ ป.ป.ท.ทราบ โดยทั้งหมดจะถูกร้อยเรียงนำมาแสดงสถิติให้เห็นผลการดำเนินงานปราบปรามคอร์รัปชันในหน่วยงานกระทรวง ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะจัดทำเป็นรายงานนำมาโชว์ในมหกรรมปราบโกง วันที่ 18 ส.ค. ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

แม้การขจัดขบวนการโกงชาติกินเมืองเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดเข้ามาจัดการล้วนเป็นเรื่องน่าสรรเสริญ แต่กระนั้นในส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมีข้อสังเกตตามมา

ติดไอพ่นปราบโกงปิดจุดอ่อนรัฐบาล

ประการแรก เหตุใดถึงเร่งรีบปราบปรามการทุจริตในช่วงนี้ ถึงขั้นกำหนดปฏิทินเตรียมจัดงานใหญ่มหกรรรมปราบโกงวันที่ 18 ส.ค. โดยมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เป็นประธานกดปุ่ม ก็เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลมีวาระครบรอบ 1 ปี ในสัปดาห์หน้า

ประการที่สอง นโยบายปราบปรามคอร์รัปชันถือเป็นนโยบายสำคัญ หากไม่หมั่นตรวจสอบเป็นประจำไม่ต่างกับการเพาะเชื้อเป็นมะเร็งร้ายเกาะกินประเทศไทยจนยากรักษา ทำให้ถูกตั้งคำถามทำไมไม่ดำเนินการในระยะแรก แต่กลับเครื่องร้อนช่วงครึ่งปีหลัง ในเมื่อมะเร็งสายพันธุ์โคตรโกงเข้าสู่ระยะสามจะสามารถรักษาหายได้อย่างไร

ถ้ายึดตามคำกล่าวอ้างของนายกฯ และรัฐมนตรีหลายรายระบุว่า ครึ่งปีแรกรัฐบาลเผชิญมหาอุทกภัย สร้างอุปสรรคให้การเดินหน้านโยบายรัฐบาลไม่เป็นไปตามแผนตรงนี้อาจมีเหตุผลอยู่บ้าง

แต่น่าฉงนแล้วทำไมนโยบายอื่นๆ กลับถูกผลักดันในช่วงมหาอุทกภัยได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะนโยบายเน้นไปกับการใช้เม็ดเงินลงไปในโครงการประชานิยมต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่อัดฉีดเม็ดเงินต่างๆ หรือแม้แต่การกู้เงิน เพื่อมาดำเนินโครงการอภิมหาโปรเจกต์ 3.5 แสนล้านบาท สมควรอย่างยิ่งต้องเดินคู่ไปกับการตรวจสอบผ่าน นโยบายปราบปรามคอร์รัปชัน แต่ปรากฏว่าสร้างกลไกการตรวจสอบทุจริตไว้ในลำดับท้าย เปรียบเหมือนปล่อยให้กินคำใหญ่ก่อนแล้วค่อยเก็บกวาดเศษเรี่ยราดเล็กๆ น้อยๆ ในภายหลัง

หรือเหตุที่ต้องเร่งเครื่องหน่วยงานปฏิบัติตามนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เพียงเพื่อต้องการให้เห็นเป็นผลงานนำไปบรรจุในรูปเล่มผลการดำเนินนโยบายรัฐบาลรอบ 1 ปี ตรงนี้ก็อาจเป็นไปได้

ทว่า ท่ามกลางสถานการณ์ขับเคี่ยวทางการเมือง การเหยียบคันเร่งนโยบายปราบคอร์รัปชันช่วงเวลานี้ย่อมมีความต้องการมากกว่านั้น

เพราะทันทีที่เปิดสภาสมัยสามัญ ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอุดมไปด้วยขุนพลฝีปากกล้าถนัดการตรวจสอบ จองกฐินอภิปรายรัฐบาลไว้ตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วาระ 23 จากนั้นมาวอร์มอัพอีกรอบผ่านการอภิปรายผลการดำเนินนโยบายรัฐบาลครบรอบ 1 ปี ก่อนลงดาบในศึกใหญ่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งนอกจากการให้ความสำคัญในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลล้มเหลว แต่หมัดน็อกทุกครั้งของศึกซักฟอกหนีไม่พ้นขุดคุ้ยเปิดปมทุจริตคอร์รัปชัน หวังผลรัฐมนตรีกระทบถึงนายกฯ นำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง แม้แต่ พ.ต.อ.ดุษฎี เลขาธิการ ป.ป.ท. ซึ่งเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ก็ยอมรับว่า “ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม ต่างก็หวั่นเกรงปัญหาคอร์รัปชันด้วยกันทั้งนั้น หากแก้ไม่ได้แล้วยังเข้าตัวย่อมเป็นจุดพลิกผันให้รัฐบาลมีสิทธิล่มได้”

เมื่อเป็นเช่นนี้อาการเร่งรีบติดเครื่องหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชัน เพื่อเป็นการปิดจุดอ่อนรัฐบาลและยังหวังผลลดแรงสั่นไหวไปถึงหัวหน้ารัฐบาลต่อการที่จะต้องยืนตอบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในไม่ช้า

ยิ่งการวางตัว ร.ต.อ.เฉลิม เป็นแม่ทัพจัดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเป็นกรณีพิเศษ ย่อมเป็นที่รับรู้กันดีในสถานการณ์ขณะนี้ ภาคนักวิชาการ ฝ่ายค้านเพ่งเล็งอย่างหนักต่อนโยบายจำนำข้าว ผสมโรงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเคยเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ปรากฏว่า ครม.เมินเฉยแต่กลับไปหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง ย่อมเป็นช่องโหว่สร้างโอกาสให้ฝ่ายค้านใช้ข้อมูลบีบนวดตั้งแต่ผู้กำกับดูแลนโยบายรับจำนำล้มเหลวพ่วงด้วยการทุจริตตามมา เมื่อรัฐบาลไม่รีบตัดไฟแต่ต้นลมมีหวังอ่วมอรทัย

ขณะเดียวกัน การอาศัยดีเอสไอ ป.ป.ท. เป็นเครื่องมือสร้างผลงาน ใช่ว่าจะเป็นแค่เครื่องตรวจจับ ระดับปลาซิวปลาสร้อยในวงราชการเท่านั้น หากแต่ข้อมูลที่ถูกนำมาแถลงในระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีความพยายามสาวไปถึงแกนนำมวลชน นักการเมืองระดับชาติดังกรณีที่ดินภูเก็ต ย่อมทำให้ขบวนการโกงหยุดชะงัก อีกทั้งเป็นใครฝ่ายใดบ้าง ล้วนเป็นข้อมูลให้ผู้กุมอำนาจรัฐเลือกมาใช้หักล้างฝ่ายตรงข้ามได้อยู่หมัด

ทั้งนี้ทั้งนั้น การปิดจุดอ่อนคอร์รัปชันให้ได้ผลก็ต้องอยู่ที่รัฐบาลไม่เปิดแผลทุจริตใหม่ขึ้นมาด้วย