posttoday

สว.เปลี่ยนขั้วปูทางพท.รุกสภา

15 สิงหาคม 2555

ในที่สุด “นิคม ไวยรัชพานิช” สว.ฉะเชิงเทรา ได้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาสมความปรารถนา หลังจากนั่งเก้าอี้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ในที่สุด “นิคม ไวยรัชพานิช” สว.ฉะเชิงเทรา ได้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาสมความปรารถนา หลังจากนั่งเก้าอี้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 มาอย่างยาวนานกว่า 4 ปี โดยก่อนหน้านี้เคยท้าชิงผู้นำสูงสุดของวุฒิสภามาแล้ว แต่ต้องแพ้ราบคาบให้กับ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร

เส้นทาง “นิคม” เติบโต ผ่านการเป็นข้าราชการในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตำแหน่งสูงสุดคือ รองปลัด กทม. สมัย “สมัคร สุนทรเวช” เป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้านสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองถูกมองว่า สนิทสนมกับ “สุชาติ ตันเจริญ” โดยมารดาของสุชาติเป็นพี่สาวนิคม ทำให้ทั้งสองคนมีสถานะเป็น “น้า-หลาน” กัน แต่ที่ผ่านมานิคมมักชี้แจงว่า ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับ “กลุ่มพ่อมดดำ” ที่มีข่าวกลับไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทย นอกจากไปมาหาสู่ในฐานะเป็นญาติกันเท่านั้น

แม้จะไม่ถูกจับจ้องว่าเป็นกลุ่มพ่อมดดำ แต่ก็มักโดนข้อหานิยมพรรคเพื่อไทยแทน จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหลายครั้งที่สนับสนุนแนวทางของพรรคเพื่อไทยหลายเรื่อง หรือล่าสุดการโหวตสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 1

ถึงกระนั้นเจ้าตัวก็ปฏิเสธมาตลอดไม่ได้ฝักใฝ่พรรคเพื่อไทยแม้แต่น้อยนิด เพียงแต่ไม่ต้องการทำตัวเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลในทุกเรื่อง โดยอ้างว่าในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยโหวตสนับสนุนให้หลายเรื่องเช่นกัน

ก่อนการคัดเลือกประธานวุฒิสภา “นิคม” ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเลือก เพราะกลุ่ม สว.สรรหาที่จับมือกันเหนียวแน่น ขณะที่กลุ่ม สว.เลือกตั้งแตกออกเป็นสองฝ่าย

ประกอบกับมี สว.บางส่วนไม่พอใจ “นิคม” หลังจากตัดตอนไม่ให้ “ดิเรก ถึงฝั่ง” สว.นนทบุรี ลงชิงดำ และการไม่ยอมลาออกจากรองประธานวุฒิสภาก่อนลงชิง

เช็กกำลังในช่วงแรกพบว่าเสียงสนับสนุน “นิคม” หายไปพอสมควร และมีแนวโน้มว่าจะเทไปทาง “พิเชต สุนทรพิพิธ” สว.สรรหา คู่แข่งคนสำคัญ

สว.เปลี่ยนขั้วปูทางพท.รุกสภา

แต่แล้วการเข้ามาเป็นแคนดิเดตอีกคนของ “เกชา ศักดิ์สมบูรณ์” สว.ราชบุรี จากสายเลือกตั้งด้วยกันได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้การลงคะแนนรอบสอง นิคม ได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 77 คะแนน จากรอบแรกที่ได้เพียง 46 คะแนน เฉือนชนะ “พิเชต” ที่ได้ 69 คะแนน โดยรอบแรกได้ 63 คะแนน

ส่วนรายอื่นที่ลงชิงรอบแรก “เกชา” ได้ 35 คะแนน สุนันท์ สิงห์สมบุญ สว.สรรหา 2 คะแนน

เลขที่ออกในรอบแรกมีการวิเคราะห์กันในวุฒิสภาว่า คะแนนของ “เกชา” มาจาก สว.เลือกตั้งส่วนใหญ่และสรรหาอีกส่วนที่ไม่สนับสนุน “นิคม” แต่ก็ไม่ต้องการให้ “พิเชต” เป็นประธานวุฒิสภาเช่นกัน แต่ก็ยังมีเป้าหมายอยากเห็น สว. เลือกตั้งขึ้นเป็นประธานวุฒิสภาแทนสายสรรหา

ดังนั้น สว.เลือกตั้งส่วนใหญ่และสรรหาบางส่วนที่ลงคะแนนให้ “เกชา” 31 คน จาก 35 คนในรอบแรก จึงมาเทให้ “นิคม” ในรอบสองอย่างล้นหลาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมเป็น 77 คะแนน

พลันที่ผลรอบแรกออกมาซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ บรรยากาศขณะนั้น สว.สายสรรหาต่างทำใจแล้วว่า ต้องพลาดท่าให้กับสายเลือกตั้งอย่างแน่นอน ประกอบกับได้เช็กเสียงกันในช่วงเช้าแล้วว่า เสียงของนิคมจะมาจาก สว.สรรหาและเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 70 คะแนน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยร่วมลงมติรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับ “นิคม”

ขณะที่รอบสอง “พิเชต” ได้รับคะแนนรอบสองเพิ่มมาอีกเพียง 6 คะแนน คาดกันว่ามาจาก 4 เสียงจาก สว. ซึ่งลงคะแนนให้ เกชา รอบแรก และ 2 เสียงจากคะแนนเดิมของ “สุนันท์” รวมเป็น 69 คะแนน

การเปลี่ยนขั้วของสภาสูงผ่านตัวประธานวุฒิสภาจากสาย “สรรหา” 2 ครั้ง คือ ประสพสุข บุญเดช และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ในรอบ 3 ปีครึ่ง มาเป็น “เลือกตั้ง” ครั้งนี้ ได้ชี้ถึงทิศทางการเมืองจากนี้ได้ในระดับหนึ่ง นั่นเพราะวุฒิสภามีหน้าที่สำคัญในการพิจารณากฎหมายและคัดเลือกองค์กรอิสระ รวมถึงการตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาล

แน่นอนว่ารัฐบาลภายใต้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยจะใช้จังหวะที่มีประธานวุฒิสภาจากสายเลือกตั้งช่วยผลักดันวาระสำคัญๆ ให้ผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ

77 เสียงของ นิคม ตัวเลขกลมๆ นี้คือ ฐานคะแนนในวุฒิสภาทางอ้อมของรัฐบาล หากรัฐบาลต้องการให้วุฒิสภาดำเนินการเรื่องใดก็ตามจะใช้ สว. 77 คนนี้เป็นแกนกลางสำคัญ เพื่อให้บรรลุความต้องการของรัฐบาลได้

เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากเดิมที่รัฐบาลไม่มั่นใจว่า แก้ไขได้หรือไม่จะกลับมามีความมั่นใจมากขึ้น โดยสามารถใช้เสียงกว่าค่อนวุฒิสภามาเป็นแรงหนุนเริ่มนับหนึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

โดยเฉพาะการแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานหลายด้านทั้งจากฝ่ายค้านและกลุ่ม 40 สว. แต่พอมีขุมกำลัง 77 คน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งย่อมช่วยให้การโหวตในรัฐสภาไม่มีปัญหา รวมถึงมีสัญญาใจกันว่า หากสนับสนุน “นิคม” เป็นประธานวุฒิสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต เรื่อง ที่มา สว.ก็อาจยืดอายุ สว.เลือกตั้งที่กำลังจะหมดวาระออกไปในอีก 1 ปีครึ่ง ออกไปเพิ่มอีก 3 ปี พร้อมกับ สว.สรรหาที่จะครบวาระในช่วงนั้น โดยที่ นิคม ยังจะนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภาต่อไปอีก

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ วาระร้อนที่สุดของรัฐบาลร้อนถึงขนาดต้องสั่งถอยชั่วคราวแบบไม่มีกำหนดทำได้เพียงให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ไปก่อน เพื่อรอวันเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

การเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ให้อำนาจมหาศาลกับวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ได้โดยตรงเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 ก็จริง ทำได้เพียงเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาเสนอเข้าหรือไม่เท่านั้น แต่ก็ไม่อาจมองข้ามไปได้

ด่านแรกที่จะพิสูจน์คือ การเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่แทน “เมธี ครองแก้ว” ซึ่งหมดวาระลงเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี หรือในอนาคตอีกประมาณ 1 ปี จะต้องเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใหม่ หลังจากสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี

เช่นเดียวกับ การถอดถอน สุเทพ เทือกสุบรรณ สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ออกจากตำแหน่ง ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปได้ยากที่ สุเทพ จะเป็นนักการเมืองที่ถูกถอดถอนคนแรก เพราะต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 หรือ 87 เสียงขึ้นไป จากทั้งหมด 146 คน ถึงจะถอดถอนได้ แต่ 77 เสียงที่ปรากฏออกมาอาจส่งผลให้สุเทพ หนาวๆ ร้อนๆ ได้ไม่มากก็น้อย

จากนี้ไปวุฒิสภาจะได้รับความสนใจมากขึ้นและสายตาทุกคู่จะจับจ้องไปที่ “นิคม” ประธานวุฒิสภา ว่าจะสามารถดำรงตนให้มีความเป็นกลางได้ และเป็นที่ยอมรับของสังคมเหมือนดั่งการแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ วาระที่เหลืออยู่ 1 ปี 6 เดือน จะเป็นเครื่องพิสูจน์