posttoday

ชุลมุนลงทุนน้ำ3แสนล้าน ระวัง'ไอ้เข้'งาบงบ

15 สิงหาคม 2555

ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ยื่นเสนอเพื่อพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด “Conceptual Plan”

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ยื่นเสนอเพื่อพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด “Conceptual Plan” เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “ทีโออาร์น้ำ”

เนื้อความหลักๆ สรุปว่า ทีโออาร์ที่แก้ไขใหม่นั้น จะเปิดโอกาสให้บริษัทไทยรายเล็กๆ ที่มีในรอบ 10 ปี เคยผ่านงานมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท เข้าร่วมยื่นเสนอกรอบแนวคิดลงทุนระบบน้ำได้ จากเดิมที่กำหนดคุณสมบัติไว้สูงว่าต้องมีผลงานระดับไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งมีไม่กี่รายเท่านั้นในประเทศ

อีกทั้งมีการแก้ไขทีโออาร์เพิ่มเติม โดยอธิบายความไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ยื่นเสนอกรอบแนวคิดโครงการแต่ละแผนงานต้องเคยมีผลงานไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่าแผนงานนั้นๆ และเปิดให้แต่ละบริษัทนำผลงานที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท มารวมกัน และร่วมเสนอกรอบแนวคิดการลงทุนในแผนงานที่มีมูลค่าสูงๆ ได้

เช่น แผนงานสร้างฟลัดเวย์กำหนดวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ผู้ยื่นหรือผู้ร่วมกันยื่นต้องมีผลงานรวมกัน 1.2 หมื่นล้านบาท หรือกรณีแผนงานสร้างอ่างเก็บน้ำ 5 หมื่นล้านบาท ผู้ยื่นหรือผู้ร่วมกันยื่นต้องมีผลงาน 5,000 ล้านบาท

หากไล่เรียงรายละเอียดแผนงานลงทุนน้ำที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอให้ใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินลงทุนระบบน้ำและสร้างอนาคตประเทศฯ 3.5 แสนล้านบาท กำหนดไว้มีทั้งสิ้น 10 แผนงานใน 2 กลุ่ม

ประกอบด้วย 1.แผนงานลงทุนน้ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 6 แผน คือ แผนงานสร้างอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำปิง ยม น่าน 5 หมื่นล้านบาท แผนงานสร้างแก้มลิง 6 หมื่นล้านบาท แผนงานจัดผังการใช้ที่ดิน 5 หมื่นล้านบาท แผนงานสร้างคันดินริมแม่น้ำหลัก 7,000 ล้านบาท แผนงานจัดทำฟลัดเวย์ 1.2 แสนล้านบาท และแผนงานปรับปรุงคลังข้อมูล 300 ล้านบาท

ชุลมุนลงทุนน้ำ3แสนล้าน ระวัง'ไอ้เข้'งาบงบ

2.แผนงานลงทุนระบบน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ 17 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ 4 แผน คือ แผนงานสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ 1.2 หมื่นล้านบาท แผนงานจัดผังการใช้ที่ดิน 1 หมื่นล้านบาท แผนงานปรับปรุงแม่น้ำสายหลัก 1 หมื่นล้านบาท และแผนงานปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย 2,000 ล้านบาท

เบ็ดเสร็จงบลงทุนระบบน้ำในมือ กบอ.มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.24 แสนล้านบาท

และถือได้ว่าเป็นเค้กก้อนโตทีเดียวสำหรับบรรดานักการเมือง ข้าราชการ บริษัทรับเหมา บริษัทที่ปรึกษาทั้งในและต่างชาติ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการแบ่งเค้กก้อนนี้จะจัดสรรอย่างไรให้ลงตัว

วันวาน ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ.และประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดลงทุนระบบน้ำ ชี้แจงชัดว่าเอกชนทั้ง 395 ราย ที่ยื่นข้อเสนอกรอบลงทุนน้ำแต่ละแผนใน 10 แผนนั้น จะมาแบบเดี่ยวๆ หรือจับกลุ่มกันมาในรูป Consortium หรือ Joint Venture จะคัดเลือกให้เหลือ 3 บริษัทต่อ 1 แผน

จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่เสนอกรอบแนวคิดที่ดีที่สุด 1 บริษัทต่อ 1 แผนงาน และบริษัทนั้นจะได้งานลงทุนน้ำไปทำทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาเปิดประมูลโครงการกันอีกรอบ เพราะใช้วิธีการก่อสร้างที่เรียกว่า “Design-Build” ซึ่งทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ขณะที่นิยามศัพท์ของคำว่า Design-Build นั้น เรียกว่าเป็นรูปแบบที่ภาครัฐจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (Turn-Key) โดยให้เอกชนดำเนินโครงการในลักษณะที่ว่า “ออกแบบไป-สร้างไป” โดยรัฐเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั้งหมด และรับภาระในการบำรุงรักษา ข้อดีคือ ลดเวลาในการก่อสร้างและมีการจัดสรรความเสี่ยงให้เอกชน โดยเฉพาะต้นทุนการเงิน เช่น ดอกเบี้ย

เมื่อได้เห็นภาพร่างแนวคิดการลงทุนระบบน้ำของ ปลอดประสพ แล้ว มีประเด็นที่น่าติดตาม 2 มิติ

คือ 1.มิติด้านการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนระบบน้ำตามระเบียบกฎหมายทางราชการ

ทั้งนี้ ปลอดประสพ ระบุว่า การเปิดให้เอกชนเสนอกรอบแนวคิดลงทุนระบบน้ำเป็นการ “จัดซื้อจัดจ้าง” เพราะผู้ที่ชนะในขั้นเสนอกรอบแนวคิดที่คัดเลือกเหลือ 1 รายหรือกลุ่ม จะได้งานไปทำแบบเหมายกเข่ง ส่วนบริษัทที่ได้งานจะว่าจ้างบริษัทนอกกลุ่มมาทำงานในลักษณะ “จ้างเหมาช่วง” หรือ “Sub-Contractor” ก็ได้ แต่ต้องมาขอ กบอ.ก่อน

ทว่า สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เห็นต่าง โดยระบุว่าขั้นตอนเสนอกรอบแนวคิดลงทุนน้ำยังไม่ถือเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเป็นเพียงการให้คะแนน เพื่อให้ได้กรอบแนวคิดลงทุน “ดีที่สุด ถูกที่สุด และระยะเวลาดำเนินการสั้นที่สุด”

แม้ว่าการเปิดยื่นซองประกวดราคาจะเป็นขั้นตอนต่อไป แต่บริษัทที่ชนะในขั้นตอนเสนอกรอบแนวคิดก็มีโอกาสคว้างานไปทำได้ทันทีเช่นกัน โดยไม่ต้องมีการประมูลก็ได้ ประกอบกับมีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนข้อหนึ่งที่ระบุเกี่ยวกับประสบการณ์การ “ก่อสร้าง” ของบริษัทหรือกลุ่มบริษัทเอาไว้ด้วย

หากประมวลแนวคิดและวิธีการของทั้ง ปลอดประสพและสุพจน์ จะพบว่าการเสนอกรอบแนวคิดการลงทุนระบบน้ำ เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 4-7 ของ พ.ร.บ. ที่มีเนื้อหาในเรื่องการป้องกันการสมยอมราคา หรือ “ฮั้วประมูล” และการหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม

นั่นเพราะผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดหรือชนะในขั้นตอนพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดการลงทุน จะได้งานไปทำโดยไม่มีการเปิดประมูลหรือแข่งขันราคา ทั้งยังเป็นการกีดกันเอกชนรายอื่นๆ ไม่ให้เข้ามาเสนอราคา “สู้” เพราะผู้ที่ได้โครงการไปทำถูก “ล็อก” ตั้งแต่ในขั้นการคัดเลือกแนวคิดแล้ว หรือที่วิศวกรบางท่านเรียกว่าขั้นตอน “ขอบริจาคแนวคิด”

นอกจากนี้ การที่ ปลอดประสพ ระบุว่า หากผู้ยื่นเสนอกรอบแนวคิดลงทุนรายใดเสนอวงเงินลงทุนแต่ละแผนสูงเกินกว่าวงเงินที่กำหนด จะถูกตัดออกจากการคัดเลือกทันที พร้อมทั้งยืนยันว่าการลงทุนระบบน้ำจะใช้เงินน้อยกว่า 3 แสนล้านบาท แน่นอน

ตรงนี้เท่ากับบีบให้เอกชนต้องเสนอกรอบแนวคิดลงทุนที่มีค่าก่อสร้างต่ำที่สุด จนกระทั่งชิ้นงานไม่มีคุณภาพ

ในขณะที่เอกชนเองก็หวัง “น้ำบ่อหน้า” เพราะการที่ กบอ.เปิดช่องการดำเนินการโครงการในลักษณะออกแบบไปสร้างไปนั้น จะทำให้เอกชนขอเพิ่มงบก่อสร้างในภายหลังได้ แม้ว่ามีเงื่อนไขว่าเอกชนจะต้องส่งแบบให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการพิจารณาล่วงหน้า 1 เดือน ก่อนการก่อสร้างจริงก็ตาม

กรณีนี้อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 8 ที่ระบุว่า “ผู้ใดทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริง โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี...”

ประเด็นเหล่านี้ ปลอดประสพ และ กบอ. ต้องพิจารณาให้รอบคอบ นอกเหนือจากการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยระเบียบพัสดุปี 2535

เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ต้องติดคุกไปเป็นจำนวนมาก เพราะทำผิดกฎหมายฉบับนี้

และ 2.มิติการดำเนินการโครงการที่สุ่มเสี่ยงให้มีการทุจริต

โดยเฉพาะกรณีการให้เอกชนเพียงบริษัทเดียวหรือกลุ่มเดียวได้งานไปทำทั้งแผนงานโดยไม่ต้องประมูลซ้ำ และเปิดโอกาสให้เอกชนรายนั้นๆ ว่าจ้างผู้รับเหมารายอื่นมารับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้ “นายหน้า” นำงานที่อยู่ในมือของเอกชนไปเร่ขายให้ผู้รับเหมารายอื่นๆ ได้

แต่ปัญหาที่จะตามมาคือ งานที่ส่งมอบจะมีคุณภาพตามสเปกที่กำหนดหรือไม่

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าการทำโครงการแบบ Design-Build นั้น หลังเอกชนทำงานเสร็จ รัฐบาลต้องรับภาระค่าบำรุงรักษาทั้งหมด การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานก็เสี่ยงสูงที่ต้องทุ่มเงินเป็นค่าซ่อมแซมในวงเงินที่สูงในระยะยาว

เงื่อนปมเหล่านี้ กบอ.และรัฐบาลต้องตีให้แตกก่อนก่อสร้างจริง