posttoday

โลกเตรียมรับมรสุมพัดหวนวิกฤต'ราคาอาหาร'ตั้งเค้าป่วน

15 สิงหาคม 2555

ชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากออกอาการส่งสัญญาณชวนหวาดผวามาได้สักระยะ สำหรับ “ราคาอาหาร”

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากออกอาการส่งสัญญาณชวนหวาดผวามาได้สักระยะ สำหรับ “ราคาอาหาร” โลกว่าจะมีแนวโน้มแพงขึ้นเข้าขั้นระดับวิกฤตและสร้างความเดือดร้อนทั่วหน้าทั่วโลกแน่นอน

เพราะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทั้งสถานการณ์ภัยแล้งและฤดูมรสุมพายุฝนกระหน่ำในหลายพื้นที่ทางการเกษตรของหลายประเทศทั่วโลกซึ่งยืดเยื้อยาวนาน แถมหนักหน่วงเกินคาด ได้เริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลิตผลทางการเกษตร ไล่เรียงตั้งแต่ธัญพืช ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง เนื้อ นม น้ำตาล และน้ำมัน จนมีแววว่าอาหารการกินเหล่านี้จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรทั่วโลกซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้ เหตุภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ในรอบปี 2555 ที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างถือเป็นต้นเหตุของวิกฤตราคาอาหารโลกในปัจจุบันก็คือสถานการณ์ภัยแล้งในสหรัฐที่รุนแรงมากที่สุดในรอบกว่า 50 ปี จนสหรัฐต้องประกาศให้พื้นที่ 1,300 เขต ใน 29 รัฐ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

ความร้ายแรงของภัยแล้งข้างต้นส่งผลให้แหล่งเพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้รับความเสียหายรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2531 โดยข้อมูลสถิติจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) ระบุชัดว่า เหตุภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตข้าวโพดเสียหายไปถึง 31% จนต้องปรับลดการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวโพดในปีนี้ลง 12% หรืออยู่ที่ 1.297 หมื่นล้านบุชเชล จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.497 หมื่นล้านบุชเชล ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในตลาดแพงขึ้น โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ราคาข้าวโพดพุ่งสูงขึ้นทำสถิติที่ 7.98 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล (ราว 247.38 บาท) ขณะที่ราคาถั่วเหลืองในตลาดส่งมอบเดือน พ.ย.ปรับเพิ่มขึ้น 1.7% แตะที่ 16.48 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล (ราว 510.88 บาท)

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ราคาสินค้าการเกษตรมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างทั่วหน้า เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด ขณะที่ปริมาณผลผลิตที่สำรองไว้ในคลังก็ยังลดลงด้วยเช่นกัน โดยในขณะนี้ราคาข้าวสาลีได้ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 42% ในปีนี้และมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9.27 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล (ราว 287.37 บาท) ถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 35% อยู่ที่ 16.3125 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล (ราว 505.69 บาท) และข้าวโพดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27% อยู่ที่ 8.2375 เหรียญสหรัฐต่อบุชเชล (ราว 255.36 บาท)

โลกเตรียมรับมรสุมพัดหวนวิกฤต'ราคาอาหาร'ตั้งเค้าป่วน

นอกจากนี้ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในประเทศสหรัฐเท่านั้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าการคาดการณ์ส่งผลให้อินเดียประเทศผู้ผลิตข้าวชั้นนำของโลก ซึ่งเพิ่งจะเริ่มส่งออกข้าวอีกครั้งเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้องค์การอาหารและสินค้าเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปริมาณผลผลิตข้าวจากอินเดียที่จะออกสู่ตลาดในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะลดลง 5.6% หรืออยู่ที่ 98.5 ล้านตัน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ยุโรปในเขตที่มีการเพาะปลูก เช่น รัสเซีย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ยังมีผลต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวสาลีที่ลดลง

สถานการณ์ทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นทำให้นักวิเคราะห์ทั่วโลกสามารถสรุปได้ตรงกันว่าความผันผวนแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกที่เดี๋ยวฝนเดี๋ยวแล้ง ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรซึ่งถือเป็นรากฐานของการผลิตอาหารโลกนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐ เอเชีย หรือแอฟริกาล้วนได้รับความเสียหายแบบทั่วหน้าทั่วถึงกัน ซึ่งเฉพาะผลผลิตธัญพืชจะลดลงถึง 1.8% ซึ่งนับได้ว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี

ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ออกรายงานคำนวณราคาอาหารโลก โดยอิงข้อมูลจากสภาธัญพืชนานาชาติ (ไอจีซี) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลปริมาณการผลิตธัญพืชที่เปิดเผยว่าการผลิตธัญพืชในปีนี้มีแววลดลง 2% ระบุชัดเจนว่าอาหารมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้ดัชนีอาหารที่ใช้คำนวณราคาอาหารในตลาดโลก 55 ชนิด ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแล้ว 6.2% ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2552

ยิ่งเมื่อซ้ำเติมกับข้อเท็จจริงที่ว่า ปริมาณอาหารที่สำรองในคลังของรัฐบาลแต่ละประเทศเริ่มร่อยหรอลง จนมีแนวโน้มต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายรายหวั่นวิตกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปิดศึกแย่งชิงอาหารอีกระลอก ซึ่งจะส่งให้ราคาอาหารโลกแพงหนักถึงขั้นที่ประชาชนของประเทศต่างๆ อาจลุกฮือก่อจลาจล เพราะทนหิวไม่ไหว

และตัวอย่างของสถานการณ์ราคาอาหารที่นักวิเคราะห์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เริ่มวิตกกังวลกันมากขึ้นก็คือ ปริมาณผลผลิตและราคาของ “ข้าว” อาหารหลักของประชาชนเกือบค่อนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแห่งนี้

เพราะเมื่อข้าวเป็นอาหารหลักของคนส่วนใหญ่ในเอเชีย ผลกระทบจากราคาข้าวที่แพงขึ้นย่อมไม่อาจเมินเฉยได้เช่นกัน

หนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนักวิเคราะห์ ซึ่งระบุตรงกันว่าราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้มากถึง 10% ใน 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากจำนวนผลผลิตข้าวที่ลดน้อยลงและมีอยู่อย่างจำกัดจะส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเพิ่มปริมาณการนำเข้าให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยในขณะนี้หลายประเทศได้เริ่มเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ไอจีซี ประเมินว่า แม้ฟิลิปปินส์จะสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตข้าวในปีนี้ที่ 6.7% หรือ 17.8 ล้านตัน เพื่อการบริโภคภายในประเทศ แต่ปัญหาพายุ ทั้งไต้ฝุ่นซาโอลาและพายุฤดูร้อนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายสูงถึง 50.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,566 ล้านบาท) โดยรวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลให้รัฐบาลฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้าข้าวสูงถึง 1.4 ล้านตันในปีนี้ และอีก 1.3 ล้านตันในปีหน้า

หากคำนวณจากราคาข้าวในตลาดปัจจุบัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องควักเงินสูงถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.86 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีแนวโน้มจะนำเข้าข้าวสูงถึง 1.5 ล้านตันในปีหน้า หรือมีมูลค่าสูงถึง 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.17 หมื่นล้านบาท) ตามราคาตลาดข้าวในขณะนี้ ที่อยู่ที่ 565 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ราว 1.75 หมื่นบาท) สำหรับข้าวไทย 5% หรือ 420 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ราว 1.3 หมื่นบาท) สำหรับข้าวหักอินเดีย 5%

ฟิลิป แมคนิโคลัส ผู้อำนวยการอันดับหนี้สาธารณะในเอเชียของฟิทช์ เรตติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก กล่าวว่า แม้หลายประเทศในเอเชียจะยังคงมีความสามารถในการหาซื้อข้าวได้อย่างไม่เดือดร้อน เนื่องจากจำนวนหนี้สาธารณะและปริมาณการขาดดุลอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่หากมีเหตุการณ์พลิกผัน เช่น ราคาข้าวพุ่งโดยมีเหตุจากความตื่นตระหนกว่าข้าวจะขาดตลาด สถานการณ์ก็อาจไม่ง่ายดายสำหรับรัฐบาลในเอเชียอีกต่อไป

และประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดก็คือประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นเป็นหลักอย่างประเทศฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยหรือชะงักงันอย่างรุนแรง สิ่งที่รัฐบาลในเอเชียต้องการมากที่สุดในเวลานี้ก็คือนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตต่อไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

แต่หากมีปัญหาในเรื่องราคาอาหารแพงเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมส่งผลต่อระดับเงินเฟ้อหรือภาวะข้าวยากหมากแพงภายในประเทศ จนทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะจัดการแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ยุติโดยเร็ว ก่อนที่ประชาชนจะสั่งสมความไม่พอใจลุกขึ้นมาขับไล่ผู้นำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงปี 2552-2553 ในแถบตะวันออกกลาง

และแน่นอนว่า ประเด็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศย่อมลดทอนความสำคัญเป็นเพียงแค่ปัจจัยรองลงมา

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็ยังไม่วายออกมาเตือนว่า แม้แนวโน้มของสถานการณ์ที่ราคาข้าวจะแพงขึ้นอาจทำให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก เช่น ไทย เกิดความได้เปรียบ แต่จากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่ทำให้รัฐบาลไทยคว้าโอกาสได้มากนัก

เพราะนโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลเลือกที่จะเก็บข้าวเอาไว้มากกว่าจะขายในราคาที่ถูกกว่ารับจำนำมาจากชาวนา จนปริมาณข้าวในคลังของไทยเพิ่มสูงมากขึ้น ดังนั้นทันทีที่รัฐบาลไทยระบายข้าวจากคลังออกมาขาย แรงกดดันในตลาดที่กลัวว่าข้าวจะขาดตลาด จะลดลงจนทำให้ราคาข้าวไม่แพงอย่างที่หลายฝ่ายหวาดวิตกกันไว้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าราคาข้าวจะอยู่ในระดับใด ประเด็นหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันก็คือว่าราคาอาหารทั่วโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

หลักฐานยืนยันก็คือดัชนีราคาอาหารของเอฟเอโอเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 201 จุด มาอยู่ที่ 213 จุด

กลายเป็นข้อเท็จจริงที่ทั่วโลกไม่อาจปฏิเสธหรือลังเลได้อีกต่อไปว่าวิกฤตราคาอาหารกำลังหวนกลับมาอีกระลอก