posttoday

พักรบ..ประคองปู

14 สิงหาคม 2555

ศูนย์กลางของพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร อยู่ระหว่างการทัวร์สหรัฐอเมริกา หลังจากก่อนหน้าช่วงต้นเดือน ส.ค.

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ศูนย์กลางของพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร อยู่ระหว่างการทัวร์สหรัฐอเมริกา หลังจากก่อนหน้าช่วงต้นเดือน ส.ค. พำนักอยู่ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ตามด้วยอังกฤษ นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาส่วนตัว ระบุว่า ถ้าเดินสายในสหรัฐเสร็จเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะเดินทางกลับมายังทวีปเอเชีย ซึ่งน่าจะเป็นประเทศจีน

1 ปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณสามารถเดินทางเข้าประเทศตะวันตก ที่เคยปฏิเสธไม่ให้เข้า โดยเฉพาะ อังกฤษ สหรัฐ เนื่องจากเป็นผู้ต้องคำพิพากษาจำคุกคดีคอร์รัปชัน

การเดินทางมาสหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีหลังถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ขณะที่ทักษิณมาประชุมที่นิวยอร์กเตรียมขึ้นแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

กระนั้นแรงต้านจากคนไทยในสหรัฐที่มีต่อทักษิณก็ไม่มีน้อย ไม่ว่าที่นครนิวยอร์ก หรือล่าสุดที่ลอสแองเจลิส กลุ่มพันธมิตรสหรัฐได้ออกมาขับไล่อย่างหนักเพื่อไม่ให้ทักษิณได้พบกับมวลชนเสื้อแดงที่นัดหมายไว้ที่ศูนย์อาหารไทยแลนด์พลาซา ถนนฮอลลีวูด จนทักษิณต้องยกเลิกกำหนดการ

เป็นจุดชี้ว่า ทักษิณ ยังเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งของคนไทยอยู่ ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทักษิณต้องการทำให้เห็น คือ ประเทศประชาธิปไตยยักษ์ใหญ่ที่เคยปฏิเสธ วีซ่า วันนี้ต้อนรับหมดแล้ว ทักษิณสามารถเดินทางรอบโลกที่ไม่ต้องถูกไล่ล่า แม้แต่ตำรวจไทยยังเดินทางไปพบทักษิณถึงเกาะฮ่องกงเพื่ออวยพรวันเกิดด้วย

ที่ต้องติดตาม คือ คำพูดของทักษิณระหว่างให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวอิศรา” ขณะเดินทางมายังเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ชี้ทิศทางการเมืองไทยจากนี้ว่า รัฐบาลกำลังถอยในเกมที่เคยรุกใส่ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง

พักรบ..ประคองปู

“เรื่องรัฐธรรมนูญวาระ 3 ก็ต้องคาไว้จนกว่าจะมีทิศทางที่ดีที่สุด และเกิดสันติสุขในประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เต็มใบมากขึ้น ฉะนั้นจะเอาอย่างไรต่อ รัฐบาลต้องปรึกษากฤษฎีกาดูว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนมานั้นเป็นอย่างไรบ้าง แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ความขัดแย้งไม่เกิด เช่นเดียวกับกฎหมายปรองดอง ก็ต้องคาไว้อย่างนั้น ไม่มีการถอน”

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ กลับมาร้อนในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะสมัยประชุมสภาที่เพิ่งเปิดขึ้นช่วง 4 เดือน สัญญาณที่ทักษิณสั่งถอยจึงช่วยประคองไม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เจอไฟลุกท่วม

สมัยประชุมสภาเพิ่งเริ่มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ 1 ส.ค. จนถึง 28 พ.ย. มีวาระร้อนหลายเรื่องเรียงหน้าตรวจสอบรัฐบาล และกลไกที่พรรคเพื่อไทยจะรุกขยายอำนาจ ทั้งการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังคาอยู่ในวาระของรัฐสภา

4 เดือนนี้จึงเป็นช่วงที่ระบบรัฐสภาจะเดินหน้าตรวจสอบฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์หนักหน่วงทั้งเวทีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาปรับลดเสร็จแล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 23 ของสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 15–17 ส.ค. ต่อด้วยการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลครบรอบ 1 ปี ในวันที่ 2-3 ส.ค.

สองเวทีนี้จะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ เพราะพรรคใดเป็นรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้งบประมาณและแถลงผลงาน 1 ปี แต่นี่เป็นเวทีที่ฝ่ายค้านใช้โอกาสนี้ซักถามปัญหาการบริหารประเทศของรัฐบาล การไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา หนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจ สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพ สินค้าราคาเกษตรตกต่ำ โครงการรับจำนำพืชผลการเกษตร การทุจริตคอร์รัปชัน ค่าจ้าง 300 บาท ที่ไม่ทำตามที่หาเสียง ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชันที่สำแดงหนักขึ้น

อีกนัยหนึ่งเป็นการซ้อมย่อยของฝ่ายค้าน ก่อนจะถึงเวทีตรวจสอบในระบบรัฐสภาที่รุนแรงที่สุด คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่า อาจอยู่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.

การซักฟอกครั้งนี้ ไฮไลต์อยู่ที่การอภิปรายนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กับโครงการรับจำนำข้าวที่นักวิชาการพบความเสียหายนับแสนล้านบาท ขณะที่ใบเสร็จการทุจริตเริ่มปรากฏอย่างเป็นกระบวนการ ขัดกับนโยบายรัฐบาลและคำประกาศของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ว่าจะไม่ยอมให้เกิดการทุจริตโดยเด็ดขาด

4 เดือนจากนี้จึงเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับรัฐบาล หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็เช่นกันว่า จะมีข้อมูลหลักฐานการทุจริตต่างๆ ที่มากกว่าการตัดข่าวหนังสือพิมพ์มาพูดหรือไม่ เพื่อให้การทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้ภาษีประชาชนไม่รั่วไหล หรือคดโกงเข้าพวกพ้องอย่างที่กล่าวหา

สภาที่มีแต่เรื่องร้อนที่รัฐบาลจะถูกเอกซเรย์ถึงการทำงานที่ผ่านมา สอดคล้องกับแกนนำในพรรคเพื่อไทยที่ประเมินว่า ถ้ายังเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองต่อไป ก็จะกระทบต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่กำลังทำโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งล้วนต้องใช้จ่ายเม็ดเงินเพื่อแก้ปัญหาประเทศและสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง อาทิ

แผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ภาคเอกชนเป็นห่วงว่า จะเกิดการคอร์รัปชันและเอื้อกับบริษัทต่างชาติ และแนวคิดในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระบบถนน ทำท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ รองรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558

การใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2556 ที่โครงการประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาลจะเริ่มออกฤทธิ์อย่างเต็มรูปแบบ

หัวใจของรัฐบาล คือ ขยายฐานมวลชนเมืองไปยังกลุ่มต่างๆ ด้วยนโยบายประชานิยม พร้อมกับรุกทางการเมืองเพื่อพาทักษิณกลับประเทศ ล้างผิดทุกคดีความ แต่เมื่อการล้างผิดจากเครื่องมือ พ.ร.บ.ปรองดองยังทำไม่ได้ รวมถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องพักไว้ก่อนเพราะสะดุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องตั้ง “คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ” มี โภคิน พลกุล เป็นประธาน เพื่อซื้อเวลาให้เห็นว่า ยังเดินหน้าทำอยู่ แต่ยังไม่สรุปว่าจะแก้รัฐธรรมนูญในแนวทางใด และมีแนวโน้มที่จะพักยาว รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง

กระนั้น พฤติกรรมที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทยเดินหลายสูตร บางเรื่องคิดว่าจะไม่ทำเพราะกระแสต้านยังแรง กลับเดินหน้าเช่นที่เกิดกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะการช่วงชิงผลงานของแกนนำพรรค ดังนั้นที่ทักษิณบอกให้พักไว้ก่อนก็ยังไม่แน่ หากที่สุดมีการประเมินสถานการณ์ใหม่ว่า ฝ่ายคัดค้านแผ่วปลายเมื่อไร ก็จะกลับโหมใส่อีกรอบ