posttoday

เตือนเอเชียเร่งกำจัดจุดอ่อน ปรับผัง-เสริมพื้นฐาน-ลบล้างการเมืองมืด

13 สิงหาคม 2555

แม้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก ด้วยความคาดหวังในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงที่จะกลายมาเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

แม้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก ด้วยความคาดหวังในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงที่จะกลายมาเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวถดถอยของประเทศยักษ์ใหญ่หลายๆ ประเทศ

แต่จนแล้วจนรอด ความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของเอเชียก็มีปัจจัยให้นักลงทุนและนักธุรกิจต้องชั่งใจและฉุกคิดอยู่เนืองๆ ว่าสมควรวางเดิมพันอนาคตไว้กับภูมิภาคแห่งนี้อย่างสนิทใจดีหรือไม่

เพราะเมื่อเพ่งให้ลึกถึงรายละเอียดแล้ว ภายใต้แสงสว่างที่เปล่งออกมา ยังคงมีเงามืดซึ่งพร้อมจะกลืนประกายของเอเชียซุกซ่อนอยู่

และหนึ่งในเงามืดสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดก็คือ สังคมเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วแต่ปราศจากความพร้อมในการรองรับและกฎเกณฑ์ระเบียบที่จะเข้ามาควบคุมดูแล

โดยความไม่พร้อมของหลายเมืองในเอเชียมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลักๆ อยู่ 3 ประการ คือ 1) ความอ่อนด้อยในการวางผังเมือง 2) การลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ และ 3) การขาดแรงมุ่งมั่นสนับสนุนของภาครัฐ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียซึ่งมีตัวเลขโดยเฉลี่ยราว 10% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้สังคมเมืองของหลายประเทศในเอเชียขยายตัวชนิดที่ยิ่งกว่าดอกเห็ด โดยรายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่าภายในปี 2569 เกินกว่าครึ่งของจำนวนประชากรในเอเชียจะอาศัยแออัดอยู่ตามเมืองต่างๆ ซึ่งลำพังแค่ 5 ปีที่ผ่านมา ประชากรในเอเชียมากถึง 37 ล้านคน อพยพเข้าไปอยู่ในเมืองต่อปี หรือเฉลี่ยแล้วในแต่ละวันมีคนอพยพเข้ามาในเมืองสูงถึง 1 แสนคน

เตือนเอเชียเร่งกำจัดจุดอ่อน ปรับผัง-เสริมพื้นฐาน-ลบล้างการเมืองมืด

 

ทว่า ปัญหาที่น่าหนักใจก็คือ อัตราความเร็วของการอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองเพื่อแสวงหาโอกาสกลับไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของระบบการจัดการควบคุมดูแลแม้แต่น้อย

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า เมืองใหญ่ๆ หลายแห่งในเอเชียยังขาดนโยบายการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในสังคมเมืองที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาข้างต้นเป็นผลมาจากการขาดวิสัยทัศน์ของผู้นำ โดยนโยบายการพัฒนาเมืองในปัจจุบันของหลายประเทศในเอเชียสะท้อนให้เห็นเพียงแค่ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองเป็นสำคัญ

ผลลัพธ์ที่ได้ส่งผลให้เกิดการเผาผลาญทำลายทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ขณะเดียวกันก็บ่อนทำลายการเติบโตที่ควรจะเป็นไปอย่างยั่งยืนของตนเองในอนาคต

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “น้ำ” ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงประเทศไทย ที่แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วยการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อย่างมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มทรุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมในช่วงฤดูมรสุม

เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่บ่อนทำลายความหวังของรัฐบาลในการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต

นอกจากนี้ การขยายตัวของเมืองแบบไร้ทิศทาง ยังส่งผลร้ายแรงต่อระบบการระบายน้ำตามธรรมชาติ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การสร้างที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หรือแม้กระทั่งกระต๊อบ แบบไม่ลืมหูลืมตา กลับเป็นการสร้างสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลให้เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองต้องประสบกับภัยน้ำท่วมทุกปีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

และเหตุอุทกภัยล่าสุดในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ คือตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น เพราะการย้ายเข้ามาของคนชนบท ทำให้ที่ดินโดยรอบกรุงมะนิลาโดนบุกรุกเพื่อสร้างเพิงอยู่อาศัยชั่วคราว โดยเพิกเฉยต่อระบบระบายน้ำ ชุมชนแออัดดังกล่าวจึงกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้กรุงมะนิลาเกิดปัญหาน้ำท่วมที่ต้องจัดการแก้ไขทุกปี สิ้นเปลืองทั้งกำลังคน เวลา และงบประมาณของประเทศ

สำหรับสาเหตุของความไม่พร้อมประการต่อมาก็คือ การลงทุนในระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า หรือถนนหนทาง ที่จะรองรับความต้องการของคนเมือง

ทั้งนี้ ศ.ซุนเชงฮัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย แสดงความเห็นกับเอเอฟพีว่า หลายเมืองในเอเชียค่อนข้างล้าหลังอย่างมากในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำทิ้ง ถนน หรือกระทั่งการผลิตกระแสไฟฟ้า

ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัด คือ เหตุไฟฟ้าดับกว่า 2 วัน ในอินเดียที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 600 ล้านคน โดยแม้ว่าจำนวนประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียอาศัยอยู่ในชนบทมากกว่าในเมือง แต่รายงานจากยูเอ็นระบุชัดว่า ภายในปี 2573 หรืออีกเพียง 18 ปีข้างหน้า ประชากรเขตเมืองของอินเดียจะเติบโตจากจำนวน 377 ล้านคน เป็น 606 ล้านคน

จำนวนข้างต้นย่อมหมายรวมถึงปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องปรับอากาศ เตาไมโครเวฟ เตารีด เครื่องซักผ้า หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ

และหากอินเดียไม่เร่งลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอเผื่อไว้ถึงความต้องการของประชากรในอนาคต นักวิเคราะห์หลายรายต่างคาดเดาได้ไม่ยากว่า เหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน

ทั้งนี้ ปัญหาการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องของระบบน้ำหรือไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงระบบคมนาคม ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง

เพราะหากผลิตสินค้าขึ้นมาได้ แต่ไม่สามารถกระจายขนถ่ายสินค้านั้นๆ เพื่อค้าขายเอารายได้เข้ากระเป๋า เนื่องจากถนนหนทางไม่ดี รถไฟมีปัญหา ระบบท่าเรือแย่ ก็ป่วยการที่จะคิดถึงเรื่องการเติบโตขยายตัว

ศูนย์วิจัยสถาบันแมคคินซีย์ โกลบอล รายงานว่า อินเดียจำเป็นต้องขยายเส้นทางรถไฟทั้งใต้ดินและบนดินอีกอย่างน้อย 350-400 กิโลเมตร และสร้างถนนเพิ่มอีกราว 1.9-2.5 หมื่นกิโลเมตรต่อปี จึงจะเพียงพอรองรับความต้องการของคนเมืองได้

เนื่องจากขณะนี้ แม้จำนวนประชากรในเมืองจะยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยรายงานของยูเอ็นเมื่อปีที่แล้ว คนเมืองอินเดียอยู่ที่ 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่จีนอยู่ที่ 50.6% และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อยู่ในระดับเฉลี่ย 70-80% แต่เมื่อพิจารณาถึงความหนาแน่นแล้ว อินเดียกลับติดอันดับหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนสูงถึง 2 หมื่นคนต่อตารางกิโลเมตร

ความหนาแน่นข้างต้นส่งผลให้ความต้องการใช้ระบบคมนาคม เช่น รถไฟ มีมากตามไปด้วย โดยในแต่ละวันคนอินเดียใช้บริการรถไฟเดินทางมาทำงานสูงถึง 7 ล้านคน ซึ่งเกินขีดความสามารถของรถไฟ จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิต เพราะร่วงออกจากประตูมากกว่า 3,000 รายต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามปรับผังเมืองให้มีการวางอย่างเป็นระบบแค่ไหน หรือทุ่มลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคมากเพียงใด แต่ความพยายามทั้งหมดก็อาจสูญเปล่าได้โดยง่าย เนื่องจากปัจจัยทางการเมือง

แน่นอนว่า การปรับปรุงพัฒนาทั้งหมดข้างต้นจะเกิดขึ้นและรุดหน้าได้ ส่วนหนึ่งย่อมต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสำคัญ

ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกลับอาศัยประเด็นดังกล่าวเป็นช่องทางในการตักตวงผลประโยชน์เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง

ทั้งนี้ กรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ นับเป็นหนึ่งในหลายเมืองของเอเชียที่กำลังเผชิญปัญหาการคมนาคมอย่างรุนแรง จนรัฐบาลต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาและสามารถคลอดแผนโครงการสร้างถนน ทางรถไฟ และเพิ่มบริการรถโดยสารเมื่อปี 2552

แต่ล่วงเลยมาจนถึงปี 2555 โครงการทุกอย่างกลับยังคงนอนนิ่งอยู่บนแผ่นกระดาษ เนื่องจากขาดความเอาจริงเอาจังจากภาครัฐ และอุปสรรคทางการเมืองที่ไม่สามารถเอ่ยออกมาได้ แต่เป็นที่รู้กันดีในหมู่ประชาชนชาวบังกลาเทศ

“ธากาอยู่ในสภาพเมืองใกล้ตายแล้ว มันกำลังหมดลมหายใจอย่างรวดเร็ว และผมมองไม่เห็นความหวังใดที่จะช่วยธากาไว้ได้” ชัมซุล ฮัก ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งและศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยบังกลาเทศ กล่าวถึงผลลัพธ์จากปัจจัยทางการเมือง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การพัฒนาที่ไม่เท่าทันของเมืองต่างๆ ในเอเชีย นอกจากจะขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ แล้ว ยังส่งผลให้เมืองเหล่านี้ตกอยู่ในอันตรายจากปัจจัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้งหรือน้ำท่วม ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าเมืองอื่นๆ ในยุโรปหรือในสหรัฐ

และตราบใดที่เอเชียยังไม่เร่งกำจัดจุดอ่อนความเป็นเมืองของตนเองเพื่อก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ภูมิภาคแห่งนี้ก็คงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากเดินหน้าสู้จนจบเท่านั้นเอง!