posttoday

เพิ่มทุน'กรุงไทย'ไม่ใช่เรื่องเล็ก

13 สิงหาคม 2555

ข่าวกระฉ่อนเรื่องความไม่เพียงพอของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารกรุงไทย ลือมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งผู้บริหารธนาคารปฏิเสธมาตลอด

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

ข่าวกระฉ่อนเรื่องความไม่เพียงพอของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารกรุงไทย ลือมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งผู้บริหารธนาคารปฏิเสธมาตลอด

แต่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยมีมติอนุมัติการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 12.60 บาท เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1.44 หมื่นล้านบาท เป็น 7.2 หมื่นล้านบาท

ธนาคารจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 2,796,312,250 หุ้นถ้าขายได้หมดจะทำให้ธนาคารได้เงินเพิ่มทุนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เท่ากับผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐจะต้องเตรียมเงินซื้อหุ้นเพื่อเติมทุนให้กับกรุงไทย

ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยนับว่าเป็นธนาคารที่มีปริมาณหุ้นสามัญสูงที่สุดในระบบ และอาจจะสูงที่สุดในโลกก็เป็นได้ แต่โครงสร้างการถือหุ้นของธนาคารผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกของธนาคาร ได้แก่ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ถือหุ้นประมาณ 6,156 ล้านหุ้น หรือ 55% หากใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนต้องใช้เงินประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 4 และกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย ถือหุ้นอันดับ 5 ถือเท่ากันแห่งละ 228 ล้านหุ้นทำให้ต้องใช้เงินรายละประมาณ 720 ล้านบาท รวม 1,440 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเงินจากกระทรวงการคลังอยู่ดียังไม่นับรวมธนาคารออมสิน ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ถือหุ้นใหญ่ในอันดับที่ 11 จำนวน 88 ล้านหุ้น ต้องใช้เงินเพิ่มทุนให้กรุงไทย 277 ล้านบาท

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ให้เหตุผลว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ โดยเลี่ยงที่จะตอบตรงๆ ว่าสาเหตุหนึ่งเพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ยังต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วยกันหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้จะมีนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการบังคับใช้มาตรฐานการกำกับสถาบันการเงินฉบับที่ 3 (บาเซิล 3) ต้นปีหน้ากรุงไทยจะเจอศึกหนัก เพราะบาเซิล 3 ให้น้ำหนักเงินกองทุนขั้นที่ 1 โดยเฉพาะทุนในส่วนที่แสดงความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ส่วนของความเป็นเจ้าหนี้

เพิ่มทุน'กรุงไทย'ไม่ใช่เรื่องเล็ก

 

ขณะที่กรุงไทยเป็นธนาคารที่มีระดับเงินกองทุนต่ำที่สุด มีเงินกองทุนรวมอยู่เพียง 12.91% เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ 7.92% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเงินกองทุนของธนาคารในระบบอยู่ที่ 15.7% เป็นกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ 11.2% ประกอบกับการขยายสินเชื่อครึ่งปีแรกที่เติบโตต่อเนื่องใกล้เคียงเป้าหมายทั้งปี ซึ่งขณะนี้ทำได้ 5% จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าสินเชื่อทั้งปีจะเติบโต 7% ธนาคารจึงได้ปรับเพิ่มเป้าหมายสินเชื่อใหม่ทั้งปีเป็น 810% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 11.2แสนล้านบาท

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นแรงกดดันฝ่ายบริหารต้องหาวิธีเสริมฐานเงินกองทุนให้แข็งแกร่ง แม้ก่อนหน้านี้จะปฏิเสธมาตลอดไม่มีแนวคิดเพิ่มทุน ซึ่งขณะนี้นักวิเคราะห์เริ่มมีการคำนวณออกมาคร่าวๆ หากกรุงไทยเพิ่มทุนเสร็จสิ้นจะดันให้เงินกองทุนรวมเพิ่มเป็น 14.7% เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ระดับ 9.7%

อย่างไรก็ตาม หากเปิดไส้กรุงไทยในส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นเรื่องที่ควรจับตามองในระยะต่อไป เพราะเอ็นพีแอลคือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ธนาคารกินทุน ต่อให้ธนาคารเพิ่มทุนมีเงินเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง แต่หากบริหารสินเชื่อไม่ดีก็มีความเสี่ยงต้องนำเงินไปกันสำรองเพิ่มอีก

หากพิจารณาเอ็นพีแอลของกรุงไทยขณะนี้ เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ด้วยกัน ถือว่าไม่ค่อยสวย

ไตรมาสแรก กรุงไทยมีเอ็นพีแอลประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพมีเอ็นพีแอล 4.1 หมื่นล้านบาท กสิกรไทยมีเอ็นพีแอล 2.9 หมื่นล้านบาท และไทยพาณิชย์มีเอ็นพีแอล 3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 4 ธนาคารนี้นับอยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ฉะนั้น เมื่อกรุงไทยมีเอ็นพีแอลระดับนี้ จึงทำให้กรุงไทยครองแชมป์เอ็นพีแอลสูงสุดไปโดยปริยาย

ในขณะที่ปริมาณกันสำรองต่อเอ็นพีแอลของกรุงไทยก็ต่ำสุดอยู่ที่ 67.9% ธนาคารมีปริมาณกันสำรอง 4.3 หมื่นล้านบาท แต่มีหนี้เสีย 6.4 หมื่นล้านบาท ต่างจากธนาคารกรุงเทพลิบลับมีหนี้เสีย 4.1 หมื่นล้านบาทแต่กันสำรอง 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นปริมาณกันสำรองต่อเอ็นพีแอล 193.9% เป็นธนาคารที่ปึ้กที่สุดตอนนี้ทั้งที่ขนาดสองธนาคารนี้ไล่เลี่ยกัน

ก่อนหน้านี้ อภิศักดิ์ ย้ำว่า การกันสำรองธนาคารต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้นได้ด้วย ไม่ใช่นำเงินมากันสำรองเพียงอย่างเดียว ต้องมองทุกด้าน

ดังนั้น เมื่อธนาคารต้องแบกหนี้เสียขนาดมหึมา ขณะที่สินเชื่อใหม่ก็ต้องปล่อย ซึ่งก็คงมีเอ็นพีแอลของใหม่เข้ามาบ้าง หากจะบอกไม่เป็นเอ็นพีแอลเลยก็คงไม่ใช่การทำธุรกิจธนาคาร

ปัญหาของธนาคารกรุงไทยไม่ได้อยู่ในมือของอภิศักดิ์ แต่ปัญหาจะเริ่มขึ้นในปีหน้าที่จะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการคนใหม่ แทนอภิศักดิ์ที่จะหมดวาระลงในเดือน พ.ย.นี้ โดยจะปิดรับผู้สมัครสิ้นเดือนนี้

เป็นประเพณีนิยมของรัฐวิสาหกิจไปแล้ว แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาตัวผู้เหมาะสมมีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ในความเป็นจริงแล้วจะมีการล็อกสเปกมาจากฝ่ายการเมืองขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับมิชชันมาเพื่อทำอะไรบ้าง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะธนาคารกรุงไทยต่างจากธนาคารพาณิชย์อื่น ที่แม้จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่อีกขาก็มีรัฐถือหุ้นใหญ่ จำเป็นต้องเป็นมือไม้ปล่อยสินเชื่อตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ลือกันว่า เก้าอี้กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยมีอาถรรพ์ คือจะถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตแบบคนเว้นคน คือเมื่อคนหนึ่งทำหนี้เสีย ก็จะมีการตั้งอีกคนหนึ่งมาแก้ไขจนฐานะของธนาคารดี ก็จะมีคนมาทำให้ธนาคารแย่ลงอีก และก็จะมีคนมากู้ภาพธนาคาร วนเวียนอยู่เช่นนี้

ยิ่งรัฐบาลชุดไหนโหมนโยบายประชานิยม สั่งธนาคารเฉพาะกิจปล่อยกู้สะบัด ไม่ต้องพูดถึง เพราะโอกาสที่จะมีหนี้เสียมากกว่าทำธุรกรรมธนาคารปกติ เนื่องจากอาจจะหย่อนเกณฑ์การปล่อยกู้ลงมาให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลต้องการ

ตัวอย่างที่เป็นคดีฟ้องร้องกันในขณะนี้ก็คือ นโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีนโยบายให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้เอ็นพีแอลเพื่อฟื้นธุรกิจ โดยเปรียบว่าเหมือนธนาคารให้ร่มกับลูกค้า แต่เมื่อฝนตกธนาคารดันชักร่มคืน ดังนั้นธุรกิจบางอย่างหากได้เงินเข้าไปหมุนเวียนต่ออายุ คงไม่ตายจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

แต่หนี้เสียที่มีการนำมารีไฟแนนซ์กับธนาคารกลับมีที่มาที่ไปผิดปกติ จนนำไปสู่การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับคำฟ้องของอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จำเลยที่ 1 วิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร กับพวก รวม 27 ราย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความผิด พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

คดีดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด ด้วยการร่วมกันกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ให้สินเชื่อจำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท แก่กลุ่มบริษัท กฤษฎามหานคร มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร จึงถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกัน หรือสนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวก

แม้วันนี้ อภิศักดิ์จะเขย่าโครงสร้างสินเชื่อทั้งธนาคารใหม่ ลดสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐจาก 20% เหลือ 18% และปัจจุบัน 15% ของสินเชื่อรวม เพราะได้รายได้ดอกเบี้ยเงินกู้น้อย โดยหันมาให้น้ำหนักสินเชื่อลูกค้ารายย่อย หารายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ทำรูปแบบให้เป็นธนาคารพาณิชย์เหมือนที่อื่นมากขึ้น

ผ่านการใช้วิธีที่จะทำให้สัดส่วนสินเชื่อภาครัฐน้อยลง คือ เข้าร่วมประมูลพอเป็นพิธี แต่ไม่เล่นเรื่องราคา ใช้วิธีการตั้งใจให้ประมูลไม่ได้ ซึ่งรูปแบบนี้คงไม่ถูกใจนักการเมืองและรัฐบาลที่คาดหวังให้นโยบายประชานิยมเฟื่องฟู โดยใช้ธนาคารที่ภาครัฐถือหุ้นอยู่เป็นตัวขับเคลื่อนผ่านการปล่อยกู้รายย่อย รากหญ้า

อภิศักดิ์ มองว่า สิ่งที่ทำมาตลอดนั้นเดินมาถูกทางแล้ว จะทำให้ธนาคารเติบโตในระยะยาว แต่ของอย่างนี้ก็มีโอกาสสูงที่เอ็มดีคนใหม่อาจจะรื้อและทบทวนโครงสร้างสินเชื่อ เพื่อสนองตอบนโยบายการเมือง ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้หมด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเขาก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะหมดความรับผิดชอบต่อการบริหารธนาคารแล้ว

อภิศักดิ์ ย้ำว่า กรณีของสินเชื่อภาครัฐ ของเหล่านี้ต้องเลือก ถ้าเลือกไม่เป็นก็จะกลับไปสู่จุดเดิม ในช่วง 78 ปีที่ผ่านมา สินเชื่อการเมืองได้มีการวางระบบใหม่ และธนาคารก็เลือกที่จะปล่อยสินเชื่อ

การออกมาพูดอย่างนี้ก็ชัดเจนในนัยหนึ่งว่า ของที่คนเก่าทำไว้คนใหม่ก็ต้องมาสาง แต่เมื่อสางเข้าที่เข้าทาง ก็ไม่ควรกลับไปทำให้เละเทะอีก

วันนี้คนกรุงไทยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การสนองตอบนโยบายการเมืองโดยไร้เหตุผล จะยิ่งทำให้ธนาคารแคระแกร็น หนี้เน่าจะทำให้ธนาคารอ่อนด้อยกว่าธนาคารอื่นที่พร้อมก้าวไปข้างหน้ารับโลกที่กำลังเปิดกว้างจากเออีซี และทุนที่เพิ่มเข้ามา 3.5 หมื่นล้านบาท จะต้องไม่เข้าทำนองที่ว่า ทำแล้วทุนหายกำไรหด