posttoday

วิกฤตหนี้ยูโรโซนลามโลกบิ๊กเอเชีย-ยุโรป หนีไม่พ้น

10 สิงหาคม 2555

นับตั้งแต่วิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซนเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 2554 บรรดาผู้นำประเทศยุโรป รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

โดย...ลภัสรดา ภูศรี

นับตั้งแต่วิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซนเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 2554 บรรดาผู้นำประเทศรวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างเร่งมือออกมาตรการทางการเงินต่างๆ เพื่อกอบกู้วิกฤตกันอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอและยังล้มเหลวอยู่ เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยกอบกู้วิกฤตดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบลุกลามกลายเป็นไฟลามทุ่งไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

เพราะในขณะนี้มีถึง 4 ประเทศที่ต้องตกเป็นเหยื่อของพายุหนี้อันรุนแรง ซึ่งต้องเผชิญกับการไร้ศักยภาพในการระดมทุนด้วยตนเอง เพื่อมาอุดหนุนงบประมาณที่ขาดดุล และจ่ายคืนหนี้สาธารณะที่ถึงกำหนดชำระจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 17 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ หรือไซปรัส และมีแนวโน้มว่าจำนวนเหยื่อจากวิกฤตหนี้ในครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

เพราะล่าสุดอิตาลีและสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอับดับ 3 และ 4 ของยูโรโซน ก็เริ่มส่งสัญญาณร้าย ส่อแววว่าอาจต้องยื่นมือขอความช่วยเหลือทางการเงินจากนานาชาติในไม่ช้านี้ ภายหลังจากที่ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งทะลุสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ในระดับอันตรายที่ 7% ซึ่งส่งสัญญาณให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังไร้ศักยภาพในการระดมทุนได้เองเช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่สเปนและอิตาลีกำลังอยู่ในอาการลูกผีลูกคนที่รอวันกลายเป็นโดมิโนตัวถัดไปที่ต้องล้มตาม ก็ดูเหมือนว่าพี่ใหญ่อย่างเยอรมนี ซึ่งครั้งหนึ่งถูกยกให้เป็นประเทศที่มีภูมิคุ้มกันจากวิกฤตยูโรโซนอย่างดี และอยู่ในฐานะ “ผู้กอบกู้” วิกฤต อาจจะหนี “วิกฤต” ในครั้งนี้ไม่พ้นเองเสียแล้ว

เห็นได้จากบรรดาตัวเลขเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ต่างบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจเมืองเบียร์เริ่มกระอักพิษหนี้อย่างช้าๆ แล้ว

ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลเยอรมนีได้เดินหน้าสร้างเกราะป้องกันผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจจากภายนอก ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยสร้างงานเข้าสู่ระบบมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเยอรมนีที่เน้นพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 40% ต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั้น เปรียบได้ดัง “ประตูที่เปิดอ้า” รอให้วิกฤตเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการเปิดเผยของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี พบว่ายอดส่งออกในเดือน มิ.ย. หดตัวลง 1.5% หลังจากที่เดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 4.1% อันเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกยูโรโซนอีก 16 ประเทศลดลงอย่างหนัก ขณะที่ยอดนำเข้า ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ความต้องการบริโภคในประเทศ ก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันถึง 2.9%

ความต้องการสินค้าที่ลดลงทั้งในและนอกประเทศนี้ ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นลูกโซ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี ซึ่งเปรียบได้ดังเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ

เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจเยอรมนีเดือนล่าสุด อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานดิ่งลงกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ถึง 1.7% ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง 0.9% เช่นเดียวกับยอดจดทะเบียนรถใหม่ ซึ่งถือเป็นดัชนี้ชี้วัดความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเมื่อเดือน ก.ค. ส่งผลให้อัตราว่างงานในประเทศเริ่มขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือนอีกด้วย

แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอของเยอรมนี จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดัง ตัดสินใจประกาศหั่นแนวโน้มความน่าเชื่อถือลงเป็น “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” ส่งสัญญาณให้เห็นว่า เยอรมนีส่อแววที่จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับเครดิตสูงสุดที่ AAA ลงในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน เนื่องจากเยอรมนีมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากต่อวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อและต้องแบกรับภาระในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น

“ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของเยอรมนี ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 2 ของปีนี้” โจนาธาน ลอยด์ส นักเศรษฐศาสตร์ประจำแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าว พร้อมออกโรงเตือนว่า หากประเทศขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยูโรโซนต้องถดถอย สภาพของเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่เหลือก็จะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น

และก็เป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสำนักอย่างแท้จริง เพราะในขณะนี้ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของภูมิภาคยุโรปอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ก็มีทีท่าว่าจะเจริญตามรอยของสภาพเศรษฐกิจพี่ใหญ่เยอรมนี เข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นเดียวกัน

ล่าสุดธนาคารกลางของทั้งเมืองน้ำหอมและแดนผู้ดี ต่างออกมาหั่นตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจประเทศลงไปตามๆ กัน โดยธนาคารกลางฝรั่งเศส ออกโรงเตือนว่า เศรษฐกิจประเทศส่อแววกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี หลังอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยในไตรมาส 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจจะหดตัวเหลือเพียง 0.1% ต่อจีดีพี

วิกฤตหนี้ยูโรโซนลามโลกบิ๊กเอเชีย-ยุโรป หนีไม่พ้น

 

ขณะที่บีโออี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอังกฤษในปีนี้จะโตเพียง 0% ลดลงจากการคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน พ.ค. ที่ 0.8%

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ล้วนส่งสัญญาณให้เห็นว่า วิกฤตหนี้ยุโรปได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและผู้บริโภคของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่าอังกฤษจะไม่ใช่หนึ่งในประเทศสมาชิกของที่ใช้เงินสกุลยูโรโซน แต่ทว่ายูโรโซนถือเป็นคู่ค้าคนสำคัญของอังกฤษ ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว จึงลุกลามมายังระบบเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่ก็สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากวิกฤตหนี้ยุโรปได้เป็นอย่างดี อันเป็นผลมาจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับสูงนั่นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ ไอเอ็มเอฟถึงขึ้นต้องออกโรงเตือน จีน ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลกว่า วิกฤตหนี้ยูโรโซนที่กำลังเลวร้ายลงในขณะนี้ คือ “ศัตรูตัวฉกาจ” ที่จะส่งผลให้การเติบโตต้องหยุดชะงักลง

เนื่องจากปัจจัยวิกฤตหนี้ถือเป็นตัวการสำคัญที่กำลังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นและความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าส่งออกของจีน

หากรัฐบาลแดนมังกรไม่เร่งตั้งรับ หรือเตรียมมาตรการไว้ต่อกรกับวิกฤตหนี้ยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าอาจจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีนหดตัวลงอย่างหนักจากปีงบประมาณปัจจุบันที่ 8% เหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่งหรือราว 4% ทีเดียว เห็นได้จากในขณะนี้ยอดส่งออกสินค้าจีนไปยังภูมิภาคยุโรปในเดือน ก.ค. อยู่ในภาวะชะงักงันอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 8 เดือนแล้ว

ขณะเดียวกัน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ก็ถูกวิกฤตหนี้พ่นพิษจนอ่วมหนักไม่แพ้กัน ดังที่เห็นได้จากยอดผลผลิตอุตสาหกรรมเมื่อเดือน มิ.ย. ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่เพียง 1.8% โดยเฉพาะยอดการผลิตสินค้าทุน เช่น สิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้ให้เห็นถึงการลงทุน หดตัวอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงถึง 27.9% จากเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้วที่ขยายตัวอยู่ที่ 9.5%

ไม่เพียงแต่อินเดียเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ เนื่องจากสิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่สามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือวิกฤตหนี้ยุโรปได้เช่นเดียวกัน

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลูง ประกาศหั่นตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2555 จากเดิมที่คาดว่าน่าจะโตระหว่าง 13% ลดลงเหลืออยู่ที่ 1.5-2.5% ตามรอยรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างหนักจากวิกฤตหนี้ยุโรป

“สิงคโปร์ยังคงเสี่ยงต่อความผันผวนของความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากภูมิภาคอยู่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเร่งเดินหน้ากระตุ้นภาคการเงินและการท่องเที่ยวของประเทศเพื่อทดแทนตลาดแล้วก็ตาม” ลีเซียนลูง กล่าวยอมรับ

คำถามสำคัญในตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า บรรดาผู้นำยุโรปจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดวิกฤตไม่ให้ลามต่อไป

หรือยังคงความขัดแย้ง จนปล่อยให้วิกฤตบานปลายจนเกินจะรับมือไหว