posttoday

ยิ่งลักษณ์ตัวถ่วงแผนดับไฟใต้สะดุด

09 สิงหาคม 2555

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ มีคำถามตามมาเสมอรัฐบาลให้ความสนใจต่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้มากน้อยเพียงใด

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ มีคำถามตามมาเสมอรัฐบาลให้ความสนใจต่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้มากน้อยเพียงใด หากตรวจสอบการทุ่มงบ ประมาณตั้งแต่ปี 2547-2555 หรือ 8 ปี ในการเข้าไปสนับสนุนงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาพื้นที่รัฐบาลใช้งบประมาณรวมแล้วกว่า 1.6 แสนล้านบาท

ทว่า งบประมาณที่ถมลงไปไม่ได้ตอบโจทย์พัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง จึงน่าขบคิด ถึงแม้ทุ่มเม็ดเงินลงไปแล้ว แต่ตัวถ่วงไม่ให้เกิดการพัฒนาอยู่ตรงไหนกันแน่

ประการหนึ่งพิจารณาจากข้อมูลล่าสุด เมื่อสำนักงบประมาณเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณปี 2554 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เกี่ยวกับการใช้งบแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้จำนวน 18,844.873 ล้านบาท มีการค้นพบปัญหาอุปสรรค ดังนี้ 1.ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ ทำให้การดำเนินงานบางโครงการไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด เช่น โครงการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่นาร้าง จ.ยะลา และปัตตานี ไม่พบเกษตรกรตามรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากได้ย้ายออกจากภูมิลำเนา เพื่อความปลอดภัยและบางแห่งเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก จึงทำให้สหกรณ์ไม่สามารถจัดส่งปุ๋ย ยา และสารเคมี ให้สมาชิกได้ครบตามเป้าหมาย 2.การรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ทำให้ไม่มีศักยภาพที่จะดำเนินการด้านการผลิต การตลาด ได้อย่างสม่ำเสมอ

ข้อมูลดังกล่าวบ่งบอก “ขบวนการก่อความไม่สงบ” เป็นตัวถ่วงให้การใช้งบพัฒนาไม่เป็นไป ตามแผน แต่ก็มีคำถามเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำทุกวิถีทางในการนำความสงบกลับมามิใช่หรือ

เมื่อมองไปถึงการบริหารจัดการตามภาษาแฟชั่นทางการเมืองได้ยินคำว่า “ต้องบูรณาการ” นำมาซึ่งการผลิตองค์กรไม่ว่าจะเป็น สมช. ศอ.บต. กอ.รมน. กอ.รมน.ภาค 4 หรือแม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันคิดจัดตั้งองค์กรคล้ายเพนตากอนให้นายกรัฐมนตรีนั่งมอนิเตอร์สั่งการจากส่วนกลางไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่

ทุกครั้งที่ขบวนการก่อความไม่สงบสร้างสถานการณ์ความรุนแรงนำมาซึ่งการเสนอข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ จะเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลตื่นตัวตามสถานการณ์ จากนั้นฝ่ายการเมืองตั้งแต่นายกฯ ลงไปถึง สส.พรรคเฮโลออกมาสัมภาษณ์สื่อ เสนอไอเดียต้องตั้งศูนย์ปฏิบัติการแบบนั้นแบบนี้

แต่หลังจากสถานการณ์ความรุนแรงซาลง ความตื่นตัวจากภาครัฐกลับคืนสู่ภาวะนิ่งสงบ ทั้งที่ในพื้นที่คงมีเหตุการณ์ลอบทำร้าย บาดเจ็บล้มตายรายวันแต่อาจไม่เป็นข่าว ปล่อยให้ระดับพื้นที่ทำงานกันไป โดยพี่น้องชาวไทยที่ไม่อยู่ในพื้นที่ได้ แต่สวดมนต์ภาวนาให้กำลังใจต่อพี่น้องทหารหาญ และประชาชนในพื้นที่ให้แคล้วคลาดปลอดภัยตามสภาพ

ยิ่งลักษณ์ตัวถ่วงแผนดับไฟใต้สะดุด

 

ความตื่นตัวจากรัฐบาลกับการแก้ปัญหาภาคใต้ชนิดฉุกละหุกเกาะกระแส ยังชี้วัดได้จากการสร้างภาพใหญ่จัดเวิร์กช็อปเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ด้วยการเชิญผู้บริหารหน่วยงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เอกอัครราชทูตมาหารือ วางสคริปต์เป็นที่รู้กัน จากนี้ไปจะต้องเกิดศูนย์ ซึ่งในที่สุดก็เป็นไปตามคาดมีมติ ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) โดยกำหนดตัวละครใหม่ให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ด้วยการระบุวัตถุประสงค์ของการตั้งเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ไม่ต่างกับของเล่นใหม่อะไหล่เดิมอีก 1 ชิ้น ประดับรัฐบาลชุดนี้

ยิ่งพิจารณาการเวิร์กช็อปให้ดีๆ แท้ที่จริง คือ การเรียกประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้นั่นเอง ถึงขนาดบางคนอาจงุนงงมีคณะกรรมการชุดนี้ด้วยหรือ

ตามข้อเท็จจริงคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกฯ นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศนานแล้ว แต่ที่ประเมินได้ถึงความไม่ใส่ใจต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ ดูได้จากจำนวนครั้งของการประชุม โดยครั้งนี้เป็นการเรียกประชุม กปต. ครั้งที่ 3/2555 หรือจะกล่าวกันให้ชัด นับตั้งแต่รัฐบาลบริหารประเทศจะครบ 1 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2555 ปรากฏว่ารัฐบาลประชุมงานขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ภาคใต้แค่ 3 ครั้ง จึงไม่แปลกบางคนตั้งคำถามมีคณะกรรมการชุดนี้ด้วยหรือ

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากไม่มีการก่อเหตุความรุนแรงจนเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง หรืออีกนัยเป็นไปได้หรือไม่ที่ต้องเรียกประชุม เพื่อเร่งผลิตเนื้องานทั้งภาพ เสียง เนื้อหา รวบรวมนำไปลงในหนังสือผลการดำเนินงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี เกี่ยวกับผลงานพัฒนาชายแดนภาคใต้ ก่อนนำไปแถลงต่อรัฐสภาให้ประชาชนได้รับรู้ว่า รัฐบาลมีผลงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบภาคใต้

สิ่งที่ปรากฏ จึงทำเห็นตัวถ่วงแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้เด่นชัดขึ้น แท้ที่จริงอยู่ที่ตัวบุคลากรผู้กำกับนโยบายรัฐบาลนั่นเอง เพราะความไม่ประสีประสาต่อการให้ความสำคัญภาคใต้ในลักษณะ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา อย่างถ่องแท้ มัวแต่สาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาการเมืองในครัวเรือน ถือเป็นการแชร์น้ำหนักแก้ปัญหาประเทศที่ไม่ลงตัว

รวมถึงการตัดสินใจจัดวางบุคลากรความมั่นคงยึดถือความสัมพันธ์คนเคยรับใช้ใกล้นักการเมืองเป็นสำคัญหาได้คำนึงถึงผู้มีความสามารถ มีประสบการณ์พื้นที่ย่อมทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฝ่ายนโยบายและผู้รับนโยบายห่างออกไปเรื่อยๆ เส้นทางความสงบสุขก็ไกลออกไปอีก

หรือความสะเปะสะปะความคิด ในลักษณะเอะอะอะไรจะตั้งกรรมการ ตั้งองค์กร ขึ้นมาแก้ไขปัญหา ทั้งที่มีองค์กรดูแลในเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว แต่กลับไม่เน้นให้ความสำคัญในการสร้างประสิทธิภาพให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เหมือนอย่างที่ฝ่ายความมั่นคงพูดกันเป็นการภายใน ภายหลังได้ยินรัฐมนตรีบางรายออกมากล่าวจะสร้าง สวนรื่นตากอน จะมีไอ้โน้นไอ้นี่ แค่คิดก็ผิดแล้ว แสดงถึงภูมิปัญญาไม่เคยเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของงบประมาณ ไม่ใช่เรื่องขององค์กรที่เข้าไปพัฒนา แต่ต้องมองย้อนมาที่นายกฯ คณะรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่กำกับนโยบาย เข้าใจ เข้าถึง ตัวเองหรือยัง ก่อนที่จะไปพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้กลับคืนสู่ความสงบ