posttoday

โลกพังเพราะแบงก์ถึงเวลาล้อมคอก

08 สิงหาคม 2555

ตบเท้าเข้าคิวตกเป็นข่าวอื้อฉาวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนให้หลังที่ผ่านมา

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ตบเท้าเข้าคิวตกเป็นข่าวอื้อฉาวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนให้หลังที่ผ่านมา สำหรับบรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกมากมาย

ไล่เรียงตั้งแต่กรณีที่เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ จงใจปกปิดความผิดพลาดในการบริหารที่ทำให้ขาดทุนสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.2 หมื่นล้านบาท) จน เจมี ดิมอน ประธานบริหารต้องลาออกแสดงความรับผิดชอบ

ก่อนที่โลกจะฮือฮารอบสองกับกรณีฉาวของธนาคารยักษ์ใหญ่บาร์เคลย์ส ที่โดนทางการอังกฤษสอบสวนกรณีจงใจปั่นอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร (ไลบอร์) ให้ต่ำผิดปกติ เพื่อประโยชน์ในการกู้เงินระหว่างธนาคาร โดยมีธนาคารขนาด “ใหญ่เกิดล้ม” ในหลายประเทศ เช่น ธนาคารยูบีเอส พลอยโดนหางเลขถูกยื่นเรื่องขอตรวจสอบด้วยเช่นกัน

ตามด้วยข่าวสั่นสะเทือนวงการธนาคารโลกครั้งใหญ่ เมื่อเอชเอสบีซีเจอข้อหาหนักว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณ เพราะเหล่าสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐออกมาแฉว่า ธนาคารเป็นแหล่งฟอกเงินตัวเอ้ให้กับบรรดาธุรกิจมืดมากมาย ทั้งการค้ายา ค้าอาวุธ รวมถึงเงินต้องสงสัยจากซีเรีย หมู่เกาะเคย์แมน อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย

และปิดท้ายกับกรณีล่าสุดที่สถาบันการเงินแห่งรัฐนิวยอร์ก (ดีเอฟเอส) ยื่นเรื่องขอสอบสวนธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ พร้อมขู่ถอนใบอนุญาต ในข้อหาลักลอบทำธุรกรรมการเงินกับอิหร่านมานานเกือบ 1 ทศวรรษ

กรณีอื้อฉาวซึ่งสร้างความเสียหายกระเทือนภาคการเงินโลกไม่น้อยทั้งหมดนี้ ได้กลายเป็นคำถามคาใจคนธรรมดา 99% ทั่วโลก ถึงความโปร่งใสน่าเชื่อถือของธนาคาร

ขณะเดียวกันก็สร้างความกังขาถึงระบบการกำกับการตรวจสอบดูแลของภาครัฐ ที่ล้าหลังและอ่อนแอจนสามารถปล่อยให้ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลายก่อหายนะปั่นป่วนเศรษฐกิจการเงินโลกได้อย่างง่ายดายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาที่ระบุว่าธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลายคือตัวการก่อวิกฤตนี้ แม้จะรุนแรงดุเดือดแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยหรือผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

เพราะจากการศึกษารวบรวมข้อมูลของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เกือบทุกสำนักฟันธงแบบไม่มีลังเลว่า การมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของภาคธนาคารเหล่านี้ ได้บั่นทอน บิดเบือนกลไกเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายกาจ

ตัวอย่างเช่น ระบบสัญญารับประกันเงินกู้ (CDS – Credit Default Swap) ซึ่งเป็นตัวการก่อวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551-2552 ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2531 เพื่อใช้เป็นสัญญารับประกันการผิดนัดชำระหนี้ โดยคนซื้อตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งหรือค่าธรรมเนียมเสมือนคุ้มครองการลงทุนของตนเองให้กับผู้ขาย ซึ่งมักจะเป็นสถาบันการเงินเพื่อให้ออกสัญญาฉบับหนึ่งที่ให้การรับประกันมูลหนี้ที่ผู้ซื้อได้ปล่อยกู้ หรือซื้อหุ้นกู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ โดยการทำซีดีเอสนี้โดยมากมักจะเป็นสัญญาระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง เพื่อป้องกันความเสียหายหลังนำเงินตนเองไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัทอื่น

เรียกได้ว่า ตามหลักการแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สถาบันการเงินมีนโยบายรอบคอบปกป้องตนเอง

แต่การที่ไม่มีองค์กรส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบหรือจัดตั้งกฎระเบียบดูแลการดำเนินธุรกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้นักลงทุนหรือเหล่านายหน้านักค้า (เทรดเดอร์) อาศัยช่องว่างที่สามารถซื้อซีดีเอสโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหุ้นกู้ จัดการเปลี่ยนการซื้อเพื่อ “หลักประกัน” ให้เป็นการซื้อเพื่อ “วางเดิมพัน”

โลกพังเพราะแบงก์ถึงเวลาล้อมคอก

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า เทรดเดอร์เหล่านี้แค่เก็งไว้ว่าสินเชื่อตัวนั้นตัวนี้ (ส่วนใหญ่มักจะเป็นสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์หรือซับไพรม์) จะผิดนัดชำระหนี้ โดยที่ไม่ได้ปล่อยกู้แม้แต่เหรียญเดียว เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นจริง เทรดเดอร์เหล่านี้ก็ฟันกำไรเข้าตัวเองเหนาะๆ แบบที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร

ในที่สุดนโยบายรับประกันความเสี่ยงก็เลยกลายเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงินไปโดยปริยาย โดยช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 สถาบันการเงินทั้งหลาย รวมถึงธนาคารรายใหญ่มักนิยมขายซีดีเอสอย่างเอิกเกริก เพราะหวังค่าธรรมเนียมเป็นหลัก โดยหารู้ไม่ว่า ตนเองกำลังทำตัวเป็นเจ้ามือรับแทงพนันของนักลงทุนที่มีความอยู่รอดของบุคคลที่สามเป็นเดิมพัน

ดังนั้น เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ และสถาบันการเงินหนึ่งๆ ล้ม สถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็เลยโดนลากให้ร่วงตามๆ กันไปราวโดมิโนล้ม จนรัฐบาลสหรัฐไม่อาจนิ่งดูดายอยู่ได้และต้องเข้าแทรกแซงกิจการเพื่อช่วยให้รอด เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้ยักษ์ล้ม ภาคการเงินประเทศคงล้ม

และทำให้รัฐบาลแดนลุงแซมต้องแบกรับหนี้จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ชะตากรรมหนี้สาธารณะในยุโรปก็สืบเนื่องมาจากวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ โดยเป็นผลพวงจากการปล่อยกู้อย่างบ้าคลั่งของภาคธนาคาร และการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบรรดาชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) สำคัญ

แม้กระแสข่าวฉาวของธนาคารจะปลุกกระแสให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มตื่นตัวและสนใจที่จะปฏิรูปปรับปรุงกฎระเบียบการควบคุมดูแลและตรวจสอบกิจการสถาบันการเงิน รวมถึงธนาคารของประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง

ตัวอย่างเช่น “กฎหมายดอดด์แฟรงก์” หรือที่มีชื่อเต็มว่า DoddFrank Wall Street Reform and Consumer Protection Act ซึ่งได้รับการลงนามอนุมัติบังคับใช้โดยประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2553

นัยว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตแบบเดียวกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยมีสาระสำคัญในการให้อำนาจการกำกับดูแลและความเสี่ยงเชิงระบบ เพิ่มกฎเกณฑ์กำกับสถาบันการเงิน กฎเกณฑ์เกี่ยวกับตลาดทุน และกลไกคุ้มครองผู้บริโภคบริการทางการเงินอย่างเต็มที่ รวมถึงการสั่งห้ามไม่ให้ธนาคารลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงด้วยเงินของตัวเอง (Proprietary Trading)

เรียกได้ว่า หน่วยงานของรัฐมีอำนาจและสิทธิอันชอบธรรมที่จะเข้าไปตรวจสอบกิจการของภาคธนาคาร ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องควักเงินภาษีประชาชนออกมาอุ้มสถาบันการเงินเหล่านี้อีกเป็นครั้งที่สอง

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า พอเอาเข้าจริงแล้ว การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของสหรัฐก็ยังเป็นไปได้ยากอยู่ดี และยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกหลายปีในการพูดคุยหารือเพื่อตกลงกันในรายละเอียดของตัวบทกฎหมาย

ยังไม่นับรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดานายธนาคารซึ่งมีอิทธิพลกว้างขวางพอสมควรอาจอาศัย “กำลังภายใน” ล็อบบี้นักการเมืองกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

จนบรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญอดค่อนขอดไม่ได้ว่า กว่าที่รัฐบาลสหรัฐจะมีกฎระเบียบใช้ควบคุมธนาคาร ประชาชนชาวอเมริกันและของโลกคงไม่แคล้วต้องเผชิญวิกฤตร้ายแรงให้กระอักอีกสักรอบสองรอบเสียก่อน

และปล่อยให้บรรดาสถาบันการเงินการธนาคารสนุกกับการกอบโกยผลประโยชน์บนความหายนะของใครหลายคนต่อไป!