posttoday

สับขาหลอกซ่อน'ปรองดอง'

06 สิงหาคม 2555

ทันทีที่เปิดสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. สถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ความอลหม่านตามคาด

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ทันทีที่เปิดสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. สถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ความอลหม่านตามคาด หลังจากไร้ความชัดเจนจากพรรคเพื่อไทยว่าจะไม่มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ออกจากระเบียบวาระการประชุมสภา

พรรคเพื่อไทยตอกย้ำถึงจุดยืนนี้ผ่านคีย์แมนคนสำคัญถึง 2 คน 2 ครั้ง ด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการผู้อำนวยการพรรคยืนยันในการสัมมนาพรรคที่ จ.ชลบุรี ปลายเดือน ก.ค. ว่า “สิ่งที่ยืนยันคือ เราจะไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองและร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมออกจากสภาตามที่ได้รับฟังเสียงของ สส.”

ถัดมาเป็นของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ระบุกลางที่ประชุมสภาว่า “การเลื่อนร่าง พ.ร.บ.จำนวน 10 ฉบับ ขึ้นมาก่อนจะทำให้การประชุมสภาสัปดาห์หน้าจะประชุมสภานัดปกติ โดยจะพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว 10 เรื่องก่อน จากนั้นถึงจะมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับ”

ทั้งหมดเป็นสัญญาณให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเอาจริงกับเรื่องนี้จากเดิมต้องรับสภาพถอยไม่เป็นท่า เพื่อแลกกับการรักษาเสถียรภาพรัฐบาลเอาไว้

อย่างที่รู้ๆ กันดีว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เป็นความหวังสูงสุดสิ่งหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากต้องการกลับประเทศไทยให้ได้ทันภายในปี 2555 ด้วยสภาพที่ไม่มีชนักปักหลัง

สับขาหลอกซ่อน'ปรองดอง'

 

ครั้นจะรอหวังพึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ลำบาก เพราะจนถึงขณะนี้ยังหาความชัดเจนไม่ได้ โดยจะโหวตวาระ 3 เลยก็ไม่กล้า กลัวปัญหาการตีความตามมาว่าอาจเข้าข่ายดำเนินการขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่ต่างอะไรกับการโยนให้สังคมตัดสินด้วยการทำประชามติ เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างใหม่ทั้งฉบับก็หวาดหวั่นว่าเสียงสนับสนุนจะไม่พอ

ส่วนการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐสภาไม่ต้องพูดถึง เพราะยังสับสนกันอยู่ว่าจะเริ่มจากประเด็นไหนก่อน

กลายเป็นว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ คือ ปัจจัยสำคัญที่ฝันของอดีตนายกฯ ทักษิณอาจเป็นจริง

มองกันที่จังหวะก้าวของพรรคเพื่อไทยต่อเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เริ่มมีความชัดเจนเข้ามาทุกขณะ

ตั้งแต่การใช้เสียงข้างมากเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ให้เลื่อนเรื่องที่ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว 10 เรื่องขึ้นมาพิจารณาและต่อด้วยกฎหมายปรองดองทั้ง 4 ฉบับ โดยจะพิจารณาตามระเบียบการประชุมนี้วันที่ 8 ส.ค. และจะเป็น “การประชุมวาระปกติ”

การนัดประชุมสภาให้เป็นวาระปกติแสดงให้เห็นถึงนัยว่า เป็นการบุกแบบตั้งรับ

กล่าวคือ ก่อนหน้านี้สภาถูกกดดันจากมวลชนภายนอกอย่างหนักที่ไม่ต้องการให้กฎหมายปรองดองผ่านสภา หลังรัฐบาลใช้เสียงข้างมากให้ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ ติดจรวดขึ้นมาอยู่ในวาระ “เรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนลำดับที่ 1-4”

ตามข้อบังคับการประชุมสภา เมื่อที่ประชุมเลื่อนให้เรื่องใดขึ้นมาพิจารณาก่อนแล้วในการประชุมครั้งต่อไปจะต้องพิจารณาเรื่องนั้นทันที

พรรคเพื่อไทยทราบดีว่า ถ้าปล่อยให้การประชุมเป็นไปตามวาระปกติ โดยต้องพิจารณาร่างกฎหมายปรองดองในวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการจะนำมาสู่ความวุ่นวายอย่างแน่นอน

ทางออกของประธานสภาเวลานั้น จึงใช้อำนาจเลื่อนประชุมออกไปก่อนและนัดประชุมเป็นกรณีพิเศษถึง 8 ครั้ง ในช่วงปลายสมัยประชุมนิติบัญญัติ โดยไม่บรรจุกฎหมายปรองดองอยู่ในวาระการประชุมนัดพิเศษ

ดังนั้น การตัดสินใจให้สภากลับมาประชุมตามปกติในวันที่ 8 ส.ค. โดยมีกฎหมายปรองดองแนบท้ายไว้ด้วย เป็นเครื่องหมายการค้าแล้วว่า พรรคเพื่อไทยได้ประกาศพร้อมลุยไฟแบบไม่กลัวร้อน

เพียงแต่ว่าการลองของเที่ยวนี้จะทำแบบมีชั้นเชิงพอสมควร

ชั้นเชิงดังกล่าวสะท้อนจากการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว 10 ฉบับ มาแซงคิวให้เป็น “เรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน” ในลำดับที่ 1-4 แทนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับ ที่อยู่ในลำดับที่ 11-14

การจัดลำดับระเบียบวาระครั้งล่าสุดแบบนี้ ด้านหนึ่งเพื่อต้องการแก้เกมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้ประกาศล้อมสภาจนกว่าจะถอนกฎหมายปรองดองไปในตัวด้วย

อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยสามารถสื่อสารกับสังคมว่าไม่ได้นำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ มาพิจารณาทันที เพราะสภาต้องพิจารณากฎหมาย 10 ฉบับ ให้เสร็จตามวาระก่อน ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่

เสมือนหนึ่งขุดบ่อล่อปลาให้เกิดความตายใจว่า ในสมัยประชุมสามัญทั่วไประหว่างเดือน ส.ค.-พ.ย. สภาจะไม่สามารถผ่านกฎหมายปรองดองได้

ในทางกลับกันยังช่วยให้ร่างกฎหมายปรองดองมีที่อยู่ในสภาต่อไปแบบมั่นคง แม้จะไม่สามารถนำพิจารณาวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการหรือใช้วิธีพิจารณาสามวาระรวดได้ทันทีก็ตาม

การคงอยู่ของกฎหมายปรองดองต่อไป เอื้อต่อการปูทางให้ทักษิณกลับบ้านมีความเป็นไปได้ทุกระยะ

เพียงแต่อดใจรอประวิงเวลาให้บรรยากาศทางการเมืองมีความเหมาะสม ภายหลังทำสานเสวนาถึงจังหวะนั้นก็ยังไม่สายเกินไป หากคิดจะลองเสี่ยงใช้เสียงข้างมากอีกสักครั้ง

ดีกว่าถอนร่างกฎหมายออกจากสภา เพื่อลดแรงกดดันตามฝ่ายตรงข้าม เพราะถ้าต่อไปจะเสนอกฎหมายย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรคและคงไม่ง่ายเหมือนครั้งที่ผ่านมา

เมื่อพรรคเพื่อไทยเลือกใช้ร่าง พ.ร.บ.ชื่อไพเราะฉบับนี้เป็นวีซ่าเข้าประเทศไทยก็เท่ากับว่า จากนี้ไปย่อมหนีความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกันกับผลที่จะตามมาในอนาคต