posttoday

ศูนย์ปฏิบัติการดดับไฟใต้หมดเวลารัฐบาลหลบฉากหลัง

02 สิงหาคม 2555

แนวคิดการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ฟังดูเหมือนจะเป็นของใหม่

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

แนวคิดการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ฟังดูเหมือนจะเป็นของใหม่ ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาขายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง แต่หากพิจารณาโครงสร้างการแก้ปัญหาที่ผ่านมา จะพบว่ารัฐบาลกำลังถูกบีบให้ต้องแสดงบทบาทและรับผิดชอบปัญหา

พิจารณาจากบทบาทที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีของรัฐบาล นับแต่แนวนโยบายปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ก็มีเพียงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเองโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มี ประสพ บุษราคัม สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ก็ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร ท่ามกลางแนวคิดที่แตกต่างระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้าน

แต่ในการควบคุมความรุนแรง รัฐบาลกลับไม่เคยเข้ามามีบทบาทแต่อย่างใด แม้นายกรัฐมนตรีจะมีฐานะเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แต่ก็ไม่เคยใช้บทบาทนี้เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจมาจากความไม่จัดเจนในปัญหา ทั้งความเข้าใจและตัวบุคคลที่จะมารับผิดชอบ

ดังนั้น การให้กองทัพแสดงบทบาทอย่างเต็มที่ นอกจากจะไม่ขัดแย้งแล้ว ก็ยังไม่ตกเป็นเป้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นมา

ยิ่งกว่านั้น หากพิจารณาการแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีดูแล ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงที่ชัดเจน หน่วยงานด้านความมั่นคงที่สำคัญๆ กระจายอยู่ในความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รับผิดชอบกระทรวงกลาโหม นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ควบตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในการกำกับดูแลของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

กอ.รมน. ซึ่งควรจะเป็นกลไกหลักตามโครงสร้างเพื่อรับผิดชอบปัญหา ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะมีตำแหน่งเป็นรอง ผอ. กอ.รมน. แต่การบริหารกลับใช้สถานะที่เป็น ผบ.ทบ. ควบคุมบังคับบัญชาแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีฐานะเป็น ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาในพื้นที่

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งต้องการให้ กอ.รมน. เป็นองค์กรหลักรับผิดชอบการแก้ปัญหาแบบบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานจึงผิดเพี้ยนไป ซึ่งน่าจะมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือความไม่วางใจกันระหว่างกองทัพและรัฐบาล และความไม่จัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาล จึงทอดธุระให้กองทัพรับผิดชอบการแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียว

แม้หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา กองทัพจะผูกขาดความรับผิดชอบการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เอาไว้ ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการทุ่มกำลังทุกกองทัพภาคทั่วประเทศลงชายแดนภาคใต้เพื่อควบคุมสถานการณ์และใช้มาตรการกดดัน จับกุม สลายโครงสร้าง จนทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่จำนวนความสูญเสีย ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกลับไม่ได้ลดลงตาม และสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อ

ดังนั้น ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ก็เริ่มมีแนวคิดในการลดกำลังทหารจากกองทัพภาคต่างๆ โดยปรับปรุงอัตรากำลังและยุทโธปกรณ์กองพลทหารราบที่ 15 ในสังกัดกองทัพภาคที่ 4 ให้สามารถทำหน้าที่ได้ รวมทั้งเพิ่มกำลังทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และการฝึกอาวุธให้ประชาชน เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (อรบ.) ซึ่งจะเห็นได้ว่า จากจำนวนทหารร่วม 4 หมื่นนาย ในช่วงหลังปี 2549 ปัจจุบันเหลือกำลังทหารในพื้นที่เพียง 2.3 หมื่นนาย

ศูนย์ปฏิบัติการดดับไฟใต้หมดเวลารัฐบาลหลบฉากหลัง

กองทัพในยุค พล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนจะตระหนักอย่างแท้จริงว่า หลังการยึดพื้นที่ สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือครองใจคน หน้าที่ของทหารคือ สร้างสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ดำเนินการพัฒนาต่อไป

“ทหารต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุยังต้องใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็นหลัก” พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แถลงจุดยืนกองทัพหลังเกิดเหตุความไม่สงบถี่ยิบในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อันที่จริงกองทัพเองคงตระหนักในประเด็นนี้มานานแล้ว โดย กอ.รมน. ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ และได้ข้อสรุปที่จะตั้งคณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องก็เงียบหายไปหลายเดือน

กระทั่งหลังเหตุการณ์คาร์บอมบ์หาดใหญ่เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้จัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยสรุปให้มีการบูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน เพื่อดำเนินการ 9 ยุทธศาสตร์ 29 เป้าหมาย และ 5 แนวทางขับเคลื่อน ซึ่งถือเป็นแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เป็นรูปธรรมครั้งแรกของรัฐบาลนี้

อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงเป็นปัจจัยผลักให้รัฐบาลต้องเข้ามาแสดงบทบาทการแก้ปัญหาให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยมีกองทัพเปิดประตูต้อนรับผ่าน กอ.รมน.

ไม่น่าแปลกใจกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะตอบโต้บรรดาคอลัมนิสต์ ที่โจมตีว่าทหารเลี้ยงไข้ไฟใต้อย่างกราดเกรี้ยว และไม่ใช่ครั้งแรกที่ทหารตกเป็นจำเลยของสถานการณ์ไฟใต้

เช่นเดียวกับแนวคิดล่าสุด การตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งแม้จะให้รองนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ร่วมกันบูรณาการ โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นประธาน โดยมี กอ.รมน. เป็นฝ่ายเลขานุการ แม้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า หน่วยงานนี้จะทำอะไรบ้าง จะปรากฏขึ้นหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 8 ส.ค.นี้ แต่หากวิเคราะห์ผ่านน้ำเสียงของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่ระบุว่า จะประเมินการทำงานของแต่ละหน่วย และไม่พอใจที่การข่าวล่าช้า รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการนี้จะทำหน้าที่ให้แนวคิดแก่ผู้บังคับบัญชา ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า นี่คือพื้นที่ซึ่งฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับหน่วยปฏิบัติ มากกว่าการกำหนดนโยบายเพียงอย่างเดียวเช่นที่ผ่านๆ มา เนื่องจากกระบวนการปฏิบัติที่ผ่านมามีปัญหาสำคัญคือความเป็นเอกภาพ

แค่โครงสร้างใหญ่ กอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งมีกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) รับผิดชอบด้านยุทธการและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับผิดชอบด้านการพัฒนา ก็เกิดปัญหาการประสานงานมากพออยู่แล้ว ยิ่งหากต้องบูรณาการ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างมีเอกภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ นี่คือโจทย์ที่ฝ่ายการเมืองถูกลากให้เข้ามารับผิดชอบ จากที่เคยลอยตัวให้กองทัพและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ดำเนินการโดยลำพัง

เพียงแต่สิ่งที่เหมือนเดิม คือ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. ไม่ได้เข้ามาแสดงบทบาทเอง ขณะที่ระดับรองนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคงทั้ง 3 คน ก็ขาดความจัดเจนเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้

แม้ฝ่ายการเมืองจะแสดงบทบาทขึงขังจริงจังแค่ไหน แต่ก็เหมือนยักษ์ที่ไม่มีกระบอง ถูกลากเข้ามาร่วมแสดง ให้ยักษ์ตัวจริงได้เข้าไปพักหลังฉาก ไม่ต้องแสดงนำและตกเป็นเป้าสายตาเพียงฝ่ายเดียว

หากยักษ์ตัวประกอบพัฒนาให้เจนเวทีก็น่าจะเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้ แต่หากผิดพลาดก็ไม่กระทบสถานะของยักษ์ตัวจริง เช่นที่ผ่านๆ มา