posttoday

จับตาตลาด "ทอง น้ำมัน อาหาร" เดิมพัน "โกย" รอบใหม่

02 สิงหาคม 2555

กลายเป็นเรื่องชวนประหลาดใจไม่ใช่น้อย สำหรับบรรดานักลงทุนทั่วโลก

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นเรื่องชวนประหลาดใจไม่ใช่น้อย สำหรับบรรดานักลงทุนทั่วโลก เมื่อรายงานผลจากตลาดทุนหลักในสหรัฐระบุให้เห็นชัดเจนว่า ตลาดทุนหลักทั้ง 4 อย่าง คือ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดค่าเงิน พร้อมใจกันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 2 ปี เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ที่ชวนให้ประหลาดใจไม่ใช่เพราะการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นของตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะสกุลเงินเหรียญสหรัฐ สกุลเงินเยน หรือสกุลเงินฟรังก์สวิสของสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากสถานภาพสินทรัพย์เหล่านี้คือแหล่งพักเงินยอดนิยมที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยมากที่สุด มั่นคงดีที่สุด อันตรายน้อยที่สุด และเหมาะกับการถือครองเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ติดกระเป๋าระยะยาวในยามที่สถานการณ์ในตลาดโลกไม่เอื้ออำนวยให้ลงทุน

หลักฐานยืนยันก็คือ ยอดขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในขณะนี้ซึ่งบวกเพิ่มขึ้นแล้ว 1% เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี เพิ่งจะทำสถิติต่ำที่สุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ 1.38%

แต่สิ่งที่ทำให้ทึ่งก็คือ การปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วในระยะนี้ของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงเพียงแค่ทองคำเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ยันวัตถุดิบอย่างทองแดง ตะกั่ว และราคาสินค้าเกษตรอย่างข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง

จนดูเหมือนกับว่า ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์คืออัศวินขี่ม้าขาวที่นักลงทุนทั่วโลกคาดหวังให้เป็นทางเลือกในการลงทุนที่ปลอดภัยอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยสินค้า 4 ประเภทหลักๆ คือ 1) พลังงาน เช่น น้ำมัน 2) แร่อุตสาหกรรม เช่น ทองแดง 3) แร่มีค่า เช่น ทองคำ หรือเงิน และ 4) สินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด น้ำตาล หรือถั่วเหลืองนี้ เป็นการซื้อขายที่ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดเป็นหลัก

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า เมื่อใดก็ตามที่ตลาดต้องการใช้สินค้ามาก เมื่อนั้นราคาของสินค้านั้นๆ ก็จะอยู่ในเกณฑ์ดี เข้าขั้นขายดีมีกำไร แต่หากไม่เป็นที่ต้องการ สินค้านั้นก็จะขายได้ในระดับหนึ่งหรืออาจขาดทุนเอาได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดูจากแต่ละประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์ จะเห็นว่าสถานะที่สินค้านั้นๆ มีตรงกันก็คือ เป็นต้นทุนหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต่อยอดไปยังสินค้าตัวอื่นๆ ต่อไป จึงเท่ากับว่า หากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงันไม่มีการขับเคลื่อนไร้การผลิต การลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์ตัวอื่นๆ ยกเว้น ทองคำ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง ย่อมเป็นความเสี่ยงที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

ยิ่งเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่ากำลังตกอยู่ในภาวะถดถอยค่อนข้างสาหัส และแวดล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยงมากมาย โดยมี 2 วิกฤตหลักชวนสะท้าน คือ หนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรป ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงไร้ทางแก้ และภาวะ “หน้าผาทางการคลัง” (Fiscal Cliff) ในสหรัฐ ที่ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า สหรัฐจะมีมาตรการการคลังใดๆ มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปยามที่มาตรการชั่วคราวในปัจจุบันถึงคราวสิ้นสุดลง

ก็ยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่า ช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นตลาดที่นักลงทุนมักนิยมให้เป็นตัวเลือกในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนในตลาดหุ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงกันข้าม โดยดัชนีจีเอสซีไอ โทเทิล รีเทิร์น ของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ซึ่งบ่งบอกถึงการซื้อขายวัตถุดิบ 24 ประเภทในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ 6.4% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว

จับตาตลาด "ทอง น้ำมัน อาหาร" เดิมพัน "โกย" รอบใหม่

ขณะที่ราคาข้าวโพดในตลาดชิคาโกเพิ่มขึ้น 27% โดยปรับตัวทำสถิติราคาสูงที่สุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ 8.205 เหรียญสหรัฐต่อบุเชล (ราว 254.35 บาท) ส่วนราคาถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 15% ทุบสถิติแพงสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. มาอยู่ที่ 16.915 เหรียญสหรัฐต่อบุเชล (ราว 524.365 บาท) และราคาข้าวสาลีในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวพุ่งขึ้นอีก 17% มาอยู่ที่ 8.8825 เหรียญสหรัฐต่อบุเชล (ราว 275.36 บาท)

คำถามที่ตามมาก็คือ เพราะอะไรนักลงทุนจึงมั่นใจและกล้าทุ่มกล้าเสี่ยงกับสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างเชื่องช้า

คำตอบสืบเนื่องมาจาก 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเหตุการณ์แรกก็คือ ภาวะแห้งแล้งที่ขยายตัวกินพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองที่สำคัญกว่า 60% บริเวณตอนกลางของสหรัฐ และรุนแรงมากที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งส่งผลให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญพากันวิตกกังวลกันทั่วหน้าว่า ปริมาณผลผลิตอาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด

ความวิตกกังวลดังกล่าวผลักดันให้ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยเชื่อมั่นว่าความต้องการที่มีเท่าเดิม แต่ผลผลิตกลับได้น้อยลง จะดันให้ราคาสินค้าข้างต้นสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

สำหรับเหตุการณ์ที่สองที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ก็คือ การคาดการณ์อย่างเชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็ววันนี้ ซึ่งหมายรวมถึงนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่าง คิวอี รอบใหม่เข้าไปด้วย

และยิ่งเมื่อประกอบกับความเห็นของ มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ซึ่งกล่าวย้ำชัดเจนว่า พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาสถานะของสกุลเงินยูโรไว้ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มากขึ้น ในแง่ที่ว่า อย่างน้อยสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมร่วมมือและลงมือทำ “บางสิ่งบางอย่าง” เพื่อแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นร่วมกัน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า ความร่วมมือของยุโรปย่อมหมายรวมถึงการลดต้นทุนภาระการกู้ยืม โดยจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอียูให้เติบโต เช่นเดียวกับช่วยให้ธุรกิจองค์กรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งการที่ธุรกิจมีรายได้ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลมาจากการเพิ่มผลผลิต

แน่นอนว่า สินค้าวัตถุดิบในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ย่อมเข้ามามีบทบาทสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ค่อนข้างเหมาะสมกับห้วงเวลานี้ แต่ก็ไม่อาจยอมรับได้เต็มที่เช่นกันว่า ตลาดดังกล่าวคือแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยเทียบเท่ากับตลาดพันธบัตรหรือตลาดค่าเงิน

เพราะต้องไม่ลืมว่า ที่สุดแล้วสินค้าในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการในตลาดเป็นหลัก ถ้าผู้บริโภคเลือกประหยัดเสียแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปรับลดราคาลงมา

ขณะเดียวกันสินค้าในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้าที่ไม่มีความแตกต่าง ซึ่งหมายความว่า ผู้ซื้อสามารถหาซื้อได้ในที่อื่นๆ เช่น น้ำมัน จะผลิตในสหรัฐหรือในตะวันออกกลาง ก็ยังคงมีคุณสมบัติเป็นน้ำมัน ผู้ซื้อจึงมีสิทธิเลือกที่จะซื้อกับเจ้าของที่ให้ราคาถูกกว่า ดังนั้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์จึงไม่สามารถดันให้แพงเกินหน้าเกินตาคู่แข่งได้ ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์จำพวกอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อการดำรงชีวิต ก็ไม่สามารถเก็งกำไรได้เช่นกัน เนื่องจากหากราคาอาหารแพง ย่อมหมายถึงปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมา

และเงินเฟ้อจากอาหารย่อมเป็นข้อจำกัดให้ผู้นำประเทศต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ปัญหาเงินเฟ้อจากอาหารจึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หนักหนาสาหัส ซึ่งต่อให้นักลงทุนเล็งเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ไว้มาแค่ไหน บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกคงไม่ขอเล่นด้วยแน่นอน

ด้านทองคำ แม้จะมีมูลค่าในตัวเองและถือเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยสูงสุด แต่ก็เหมาะสำหรับการเก็บมากกว่าการลงทุนซื้อขายใดๆ ส่วนการซื้อขายน้ำมันก็มีปัจจัยภายนอก เช่น ปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้กำหนดกะเกณฑ์ได้ยาก

เรียกได้ว่า แม้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นเดิมพันที่คาดหวังได้ แต่ก็ไม่อาจพึ่งพาอย่างเชื่อมั่นได้เช่นกัน

บทสรุปสุดท้าย จึงไม่อาจหนีพ้นคำตอบของบรรดาผู้นำอียูอยู่ดีว่า พร้อมลงมือแก้ไขวิกฤตหนี้ของตนเองมากแค่ไหน