posttoday

กองทุนสตรี-กองทุนตั้งตัวได้ "ลวงตา-ได้ภาพ"

02 สิงหาคม 2555

เม็ดเงินก้อนแรกกว่า 1,520 ล้านบาท ได้ถูกโอนเงินเข้า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ในวันที่ 31 ก.ค. โดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย...จตุพล สันตะกิจ

เม็ดเงินก้อนแรกกว่า 1,520 ล้านบาท ได้ถูกโอนเงินเข้า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ในวันที่ 31 ก.ค. โดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย กดปุ่มโอนเงินเข้ากองทุน 77 จังหวัด จังหวัดละ 70 ล้านบาท อย่างเป็นทางการ

ก่อนทยอยจัดสรรเม็ดเงินและโอนเงินเข้ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้แต่ละจังหวัดตามขนาดจังหวัด หรือเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 7,700 ล้านบาท

และ 1 วันก่อนหน้านั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งลักษณ์เห็นชอบแนวทางการดำเนินการ “กองทุนตั้งตัวได้” พร้อมอนุมัติงบปี 2556 เป็นทุนประเดิม 5,000 ล้านบาท และทยอยจัดสรรงบปี 2557-2559 อีก 3.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในกองทุนนี้ 4 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะจัดสรรเงินให้สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการไม่เกินแห่งละ 1,000 บาท

สินค้าการเมือง 2 ชิ้นที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ เป็นรูปเป็นร่างและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารูปแบบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต้องบอกว่าแทบไม่แตกต่างจากกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลสมัยนั้นหว่านเม็ดเงิน 8 หมื่นล้านบาท ลงหมู่บ้านทั่วประเทศเมื่อปี 2545 ให้สมาชิกกองทุนเข้าถึงแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำในการประกอบอาชีพ และให้สมาชิกบริหารจัดการเงินกองทุนกันเอง

เช่นกันกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่มุ่งหวังให้สตรีทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ที่นำไปสู่การสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการให้สตรี ตลอดจนเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหาทุกรูปแบบ

มองในแง่การตลาด กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจึงเป็นสินค้าการเมืองอีกเซ็กเมนต์หนึ่งที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ คือ สตรีทั่วประเทศที่มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ

ทั้งเป็นกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการชี้นำการตัดสินใจทางการเมืองได้ในระดับที่สูงยิ่ง

แต่กระบวนการทำงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีข้อสังเกตที่ต้องปรับปรุง เพราะหากอ่านระเบียบกองทุนจะพบว่ามีความซ้ำซ้อนกัน เช่น การกำหนดให้มีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี “ตำบล” และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี “จังหวัด” แต่ละกองทุนมีคณะกรรมการกองทุนแยกกันต่างหาก แต่มีบทบาทและหน้าที่เหมือนกัน 100%

จึงอาจทำให้เกิดปัญหาในแง่ของการดำเนินนโยบายที่นำสู่ความขัดแย้งได้

เช่น การอนุมัติจัดสรรเงินกู้ให้กลุ่มสมาชิกที่ขอกู้เงินที่แตกต่างกัน และการแบ่งปันเงินที่ได้รับจัดสรรระหว่างจังหวัดและตำบลว่าควรมีสัดส่วนเท่าใด หากจัดการไม่ดีจะมีปัญหาภายหลัง โดยเฉพาะวงเงินที่จัดสรรให้จังหวัดละ 100 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลปี 2552 ไทยมี 7,746 ตำบล และ 169 แขวงในกรุงเทพฯ

ดีดลูกคิดแล้วแต่ละตำบลจะได้รับการจัดสรรเงินกองทุนเฉลี่ยไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่ 1 ตำบลมีหมู่บ้านเฉลี่ย 10 หมู่บ้าน หากแต่ละหมู่บ้านมีสตรีแม่บ้านที่มีสิทธิกู้เงินได้ 50-100 คน หารเฉลี่ยเท่ากันก็ตกคนละ 1,000-2,000 บาท หรือกลุ่มละไม่กี่หมื่นบาท

แต่เงินตรงนี้ยังไม่รวมเงินที่ต้องกันให้กับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดที่ไม่ได้ระบุจำนวน

โอกาสที่สตรีทุกคนจะเข้าถึงกองทุนได้เท่าเทียมกันจึงเป็นไปได้น้อยมาก หรือไม่ก็ต้องรอกันนานกว่าจะถึงรอบ

ปรากฏการณ์ที่เหล่าแม่บ้านมากมายทุกพื้นที่ทุกจังหวัดแห่เข้าทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนสตรี จึงได้ “ภาพ” แต่การที่เหล่าสตรีแม่บ้านจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลงทุนสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างแท้จริงนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนคุณภาพสินเชื่อเป็นเรื่องที่ต้องตามกันต่อ เพราะจากประสบการณ์กองทุนรุ่นพี่อย่างกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี มีทั้งกองทุนที่สำเร็จและยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ แต่ก็เชื่อวันนี้วันที่แม่บ้านหลายล้านคนมีประสบการณ์การทำงานในกองทุนหมู่บ้านฯ มาแล้วเกือบ 10 ปี

“ประสบการณ์ความสำเร็จและล้มเหลวของกองทุนหมู่บ้านฯ 11 ปีที่ผ่านมา จะเป็นทางลัดให้กลุ่มสตรีใช้เป็นองค์ความรู้ไปต่อยอดในการลงทุน และเวลามองก็อยากให้มองเป็นภาพรวมของชุมชน เพราะชุมชนไม่ได้มีแต่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเท่านั้น แต่ยังมีกองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนเอสเอ็มแอลที่ต่อยอดกันได้” นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านฯ ระบุ

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจึงเป็นบททดสอบการบริหารจัดการครั้งใหม่ของหญิงไทย

ย้อนกลับมาที่กองทุนตั้งตัวได้กันบ้าง

ก็ต้องพูดถึงความหลังเมื่อครั้งกองทุนตั้งตัวได้อยู่ในช่วงตั้งไข่ แรกเริ่มเดิมทีกองทุนนี้ตั้งวงเงินไว้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาจัดสรรเงิน แต่นับแต่ที่รัฐบาลคลอดนโยบายตั้งแต่เดือน ส.ค. 2554 จนถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2555 เงินก็ยังไม่ออกมาแม้แต่บาทเดียว

กองทุนสตรี-กองทุนตั้งตัวได้ "ลวงตา-ได้ภาพ"

กองทุนตั้งตัวได้จึงเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่เกิดขึ้นช้าที่สุด

กระทั่ง วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ที่เคยรั้งตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ และถูกปรับเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมสตรี ได้โยกโครงการนี้มาทำเอง มีการเสนอตั้งงบปี 2556 จำนวน 2,000 ล้านบาท ไว้ที่สำนักเลขาธิการนายกฯ เพื่อจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ และแล้ว ครม.ได้อนุมัติทุนประเดิมปีแรกเป็น 5,000 ล้านบาท และเพิ่มให้อีกเป็น 4 หมื่นล้านบาท

นั่นเพราะเนื้อหาหลักการกองทุนตั้งตัวได้ เรียกได้ว่าตอบสนองนโยบายสร้าง “เถ้าแก่ใหม่” ได้อย่างดี

แทนที่นักศึกษาที่จบการศึกษาได้ใบปริญญา จะต้องวิ่งหาสมัครงานและเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน หากเป็นประเภทเสมียนหรือธุรการเงินเดือนก็ไม่เกิน 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน แต่นักศึกษาไฟแรงที่มีความคิดดีๆ กลุ่มนี้จะสามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการได้ทันทีที่จบการศึกษา

ทั้งเป็นการขับดันให้สังคมไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมผู้ประกอบการ

แต่เมื่อเข้าไปพิเคราะห์องคาพยพในการขับเคลื่อนกองทุนตั้งตัวได้ พบว่ามีเงาที่สะท้อนให้เห็นได้ว่าโครงการนี้อาจเป็นโครงการปั้นฝันให้หมู่นักศึกษาหรือผู้จบการศึกษาใหม่ แต่ไม่ใช่ในเชิงการรั่วไหลหรือการทุจริต หากแต่เป็นความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากกว่า ทำให้เงินทุนก้อนนี้ค้างอยู่ที่สถาบันการศึกษาโดยไม่ก่อประโยชน์

เนื่องจากคนที่กำหนดนโยบายปล่อยสินเชื่อให้เหล่าเถ้าแก่ใหม่นั้น ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ที่ล้วนมาจากข้าราชการ และสำนักงานกองทุนตั้งตัวได้เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้ สกอ. จะส่งผลให้ระเบียบกติกากฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเข้มงวด เพราะกลัวจะเกิด “หนี้เสีย” มากกว่าเกิดผู้ประกอบการรายใหม่

ขณะที่คอนเซปต์เดิมที่กำหนดให้สำนักงานกองทุนตั้งตัวได้เป็นหน่วยงานอิสระภายใต้กำกับของ รมว.ศึกษาธิการ

นั่นส่งผลให้การสร้างเถ้าแก่ใหม่เกิดยาก เพราะไอเดียทางธุรกิจทันสมัยเกินไปเทียบกับระบบคิดในกรอบราชการที่แข็งทื่อ ทั้งไม่เข้าใจความเป็นไปของภาคธุรกิจจริงๆ ข้าราชการส่วนใหญ่ทำแต่งานราชการ ไม่เคยทำธุรกิจ จึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าธุรกิจใดเป็นดาวรุ่งหรือดาวร่วง

ไอเดียดีๆ กับอนาคตเถ้าแก่ใหม่อาจต้องถูกเก็บใส่ในลิ้นชัก

กระทั่งการหาคนรุ่นเก่าที่มีหัวคิดสมัยใหม่ หรือนักธุรกิจที่เข้าใจธุรกิจ มาเป็นหัวขบวนในการวางรูปนโยบาย แต่ทว่ากลไกระบบราชการจะเป็นขวากหนามสำคัญที่ทำให้นโยบายบรรเจิดเป็นหมันหรือลดคุณภาพลง

เช่นเดียวกันเงินกองทุนตั้งตัวได้ที่ไปตั้งอยู่กับสถาบันการศึกษา เรียกว่าอยู่ใกล้มือให้เถ้าแก่ใหม่ได้หยิบจับ แต่ก็ต้องเผชิญด่านสอง คือ อาจารย์ที่ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติเงินกู้ ซึ่งถูกกำแพงรั้วมหาวิทยาลัยกั้นจากสังคม ไม่เคยทำธุรกิจ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

ทั้งมีการเปรียบเปรยว่า “ไม่มีทางที่ครูคนไหนสอนว่ายน้ำบนกระดานดำได้”

ไม่ต่างจากโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ของหรือโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ของ สสว. ที่ทุ่มเทงบหลายพันล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา มีการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) แต่ 90% ล้มหายตายจากใน 5 ปี เพราะการผลิตซ้ำๆ หรือสินค้าดีจริงแต่ทำตลาดไม่เก่ง

ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ากองทุนตั้งตัวได้จะแบกรับหรือยอมรับหนี้เสียได้ในระดับไหน หากรัฐบาลหรือกองทุนยอมรับไม่ได้ ก็ไม่ต้องเลิกพูดเลยว่าจะสร้างเถ้าแก่ใหม่ได้กี่ราย

ทั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและกองทุนตั้งตัวได้ จึงเป็นเพียงภาพลวงตาโปรยหว่านหาเสียงเท่านั้น หากกลไกที่วางไว้ไม่ทำงาน