posttoday

เศรษฐกิจไทยซวนเซวิ่งไปไม่ถึงไหน

01 สิงหาคม 2555

การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. 2555 ของกระทรวงการคลัง แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงมากกว่าแข็งแกร่งอย่างที่รัฐบาลพยายามตีฆ้องร้องป่าวว่า

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. 2555 ของกระทรวงการคลัง แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงมากกว่าแข็งแกร่งอย่างที่รัฐบาลพยายามตีฆ้องร้องป่าวว่า จะขยายตัวได้ถึง 7% ต่อปี

ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในงวดเดือน มิ.ย. 2555 ล้วนเจอมรสุมกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก

สะท้อนให้เห็นชัดจากมูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 2555 ติดลบถึง 4.2% โดยเฉพาะการส่งออกไปกลุ่มยุโรปขยายตัวติดลบสูงถึง 17.6% ทำให้การส่งออกในไตรมาส 2 ของปีนี้ติดลบ 0.04%

เมื่อรวมกับไตรมาสแรกที่ติดลบไป 3.9% ทำให้ครึ่งปีแรกภาคการส่งออกของไทยติดลบไปแล้ว 2%

การส่งออกที่เป็นหัวรถจักรหลักของระบบเศรษฐกิจเมื่ออยู่ในอาการหนัก ทำให้เศรษฐกิจไทยก็ตกอยู่ในอาการโคม่า

เพราะจากการประเมินของกระทรวงการคลัง คาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีต้องขยายตัวได้ 12.8% ถึงจะเบ่งเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้ 5.7% ต่อปี

แต่ผ่านมาครึ่งปีการส่งออกยังติดหล่มอยู่ในแดนลบ ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมจึงซวนเซและทำท่าว่าจะวิ่งไปไม่ถึงเป้า

แม้แต่กระทรวงการคลังเองก็ออกมายอมรับว่า การประเมินตัวเลขการส่งออกปีนี้สูงเกินไป และจะประมาณการตัวเลขส่งออกลดลงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในเดือน ก.ย.นี้

นั่นหมายความว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยย่อมจะลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมแน่นอน

การออกมายอมรับของกระทรวงการคลัง ถือเป็นการสวนเป้ารัฐบาลของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ยังยืนยันเป้าการส่งออกทั้งปีที่ระดับ 15% และการขยายตัวทางเศรษฐกิจโตถึง 7% เข้าอย่างจ๋ำหนับ

ชนิดที่ไม่ใครก็ใครอาจหน้าแตก หมอไม่รับเย็บ

เหตุผลสำคัญที่กระทรวงการคลังต้องออกมาขัดใจรัฐบาล เพราะไม่สามารถฝืนความจริงออกไปได้มากกว่านี้

ที่ผ่านมาก่อนหน้าไม่นานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ปรับประมาณการส่งออกของไทยลดลงจาก 9.2% เหลือเพียง 7% เท่านั้น เพราะประเมินว่าพิษเศรษฐกิจยุโรปจะรุนแรงขยายวงกว้างและยืดเยื้อยาวนาน จนตลาดการค้าของไทยมีกำลังซื้อที่หดตัวลง

ธปท ยังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลดลงเหลือ 5.7% จากที่ประมาณการไว้เดิม 6% และยังลดเป้าเศรษฐกิจปีหน้าเหลือ 5.4% จากเดิม 5.8% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจยังมีมรสุมปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มประเทศยูโร

ขณะนี้ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจจีนผ่านการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

นอกจาก ธปท.ยังมีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลดลงเหลือ 3.5% จาก 3.6% ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะลดเหลือ 3.9% จาก 4.1% เพราะมองว่าปัญหายูโรโซนยังแก้ไม่ตกในเวลาอันสั้น

ไอเอ็มเอฟเป็นห่วงวิกฤตยูโรโซนที่จะลุกลามจากกรีซไปสเปน ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยให้ขยายตัวลดลงต่ำกว่าที่ประมาณการไว้

ไอเอ็มเอฟประมาณการว่า เศรษฐกิจยุโรปจะติดลบ 0.3% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเติบโต 2% ลดลง 0.1% ญี่ปุ่น 2.4% เพิ่มขึ้น 0.4% และจีน 8% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ 0.2% ส่วนอินเดีย 6.1% ลดลง 0.7%

เศรษฐกิจไทยซวนเซวิ่งไปไม่ถึงไหน

ทั้งหมดทั้งปวงชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขยายตัวลดลงเกือบทั้งหมด มีญี่ปุ่นประเทศเดียวที่ขยายตัวได้ดีขึ้น

ขณะที่ประเทศอาเซียน ซึ่งมีไทยอยู่ด้วย ไอเอ็มเอฟประเมินว่า จะขยายตัวได้ 5.4% เท่านั้น

การปรับลดการส่งออกของ ธปท.และไอเอ็มเอฟ เป็นแรงกดดันให้กระทรวงการคลังต้องปรับลดตัวเลขการส่งออกตามในที่สุด เพราะที่ผ่านมากระทรวงการคลังถูกมองว่า ตั้งเป้าการส่งออกสูงเอาใจรัฐบาล และดันเศรษฐกิจให้โตมากที่สุดท่ามกลางปัจจัยลบรุมเร้ารอบทิศ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังประเมินว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ยังฟื้นไม่ได้ตามที่คาดหวัง ต่ำกว่า 3% รวมกับการขยายตัวไตรมาสแรก 0.3% ทำให้ครึ่งปีเศรษฐกิจโตแค่ 1.6% เท่านั้น

ดังนั้น หากต้องการดันให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าเดิม 5.7% นั่นหมายความว่า ในครึ่งปีหลังจะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายนัก

เพราะสถานการณ์ขณะนี้คนไทยเผชิญกับปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะให้น้ำหนักว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีจะมีแรงขับเคลื่อนภายในประเทศจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยพยายามยกตัวเลขว่า การบริโภคมีการเติบโตต่อเนื่องตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา โดยวัดจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวได้ถึง 9% ในรอบครึ่งปีแรกของปีนี้

นอกจากนี้ ยอดการจำหน่ายรถยนต์ครึ่งปีโตก้าวกระโดด 31.8% ในรอบครึ่งปีแรก แสดงให้เห็นว่า การบริโภคยังมีโอกาสเติบโต และการลงทุนก็เริ่มฟื้นตัวจากพิษน้ำท่วมปลายปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ถึงระดับ 11% ในรอบครึ่งปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคจะขยายตัวได้ดี แต่ก็มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงในเรื่องรายได้ของภาคเกษตรที่แท้จริงขยายตัวติดลบอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

โดยรอบครึ่งปี 2555 ขยายตัวติดลบถึง 9.6% เป็นปัจจัยลบว่า การบริโภคจะขยายตัวได้ต่อไปหรือไม่ หากรายได้ของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศลดลง นี่จึงเป็นตัวท้าทายอย่างยิ่ง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่กระทรวงการคลังอ้างว่าฟื้นตัวแล้ว ก็เป็นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเท่านั้นที่ขยายตัวอย่างพรวดพราดตามยอดการจองรถป้ายแดง

แต่ยังอีกหลายอุตสาหกรรมกำลังเจอพิษยุโรปและค่าจ้าง 300 บาทของรัฐบาล ทั้งสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี ซึ่งอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเติบโตได้ไม่เต็มที่นัก

ที่สำคัญการที่รัฐบาลหวังพึ่งให้การขับเคลื่อนการบริโภคและการลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐ เป็นตัวเร่งเศรษฐกิจโตแทนการส่งออกที่ลดลง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำใจว่าอาจได้ไม่ตามที่คิด

เพราะอย่างที่รู้กันว่า ภาคการส่งออกถือเป็นแรงขับสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยถึง 65% ที่เหลือมาจากแรงขับทางด้านการบริโภค การลงทุน และการใช้จ่าย

ดังนั้น เมื่อเครื่องยนต์ใหญ่มีปัญหา ขับได้ไม่เต็มที่ การเอาเครื่องยนต์เล็กมาขับแทนเครื่องใหญ่ แม้ทำให้เศรษฐกิจเดินได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิ่งไปไม่เท่าเดิมแน่นอน

กระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ว่า นโยบายของรัฐบาลทั้งขึ้นค่าจ้างเงินเดือน การรับจำนำข้าว รถคันแรก บ้านหลังแรก จะทำให้การบริโภคขยายตัวโตแบบข้ามวันข้ามคืน ขณะที่การลงทุนภาครัฐจากการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก

แต่ในความเป็นจริงการเบิกจ่ายจากเงินกู้ฉุกเฉินยังทำได้น้อยมาก เบิกจ่ายและกู้กันจริงๆ ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เวลาผ่านมากว่าครึ่งปีเข้าไปแล้ว

ที่สำคัญเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังก็ยังไม่ได้สดใสกว่าครึ่งปีแรก ซ้ำร้ายปัญหาจะรุนแรงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจต่างประเทศ นอกจากวิกฤตในยุโรปที่กระทรวงการคลังประเมินว่ายังทรุดไม่ถึงก้นเหว ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มสหภาพยุโรปล่าสุดในเดือน พ.ค. 2555 ที่หดตัวติดลบ 2.8% และอัตราการว่างงานของกลุ่มสหภาพยุโรปที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.1%

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจยุโรปยังจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ที่สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 2555 ขยายตัว 7.6% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากการชะลอตัวของการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนเป็นสำคัญ

ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียที่กำลังประสบปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงที่ 7.3%

ทั้งหมดจึงเป็นผลกระทบกับการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังให้เจอกับวิบากกรรมหนักกว่าครึ่งปีแรก

ซึ่งหากการส่งออกต่ำลงไปอีก เศรษฐกิจไทยก็จะขยายตัวลดลงมากขึ้นเท่านั้น

สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมายอมรับว่า นอกจากผลกระทบนอกประเทศ ปัญหาการเมืองก็เป็นปัจจัยของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง หากการเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังก็ได้รับผลกระทบหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าจะได้ลงละเอียดปัญหาทางการเมือง แต่เป็นที่รู้กันว่า การเปิดสภารอบใหม่ในวันที่ 1 ส.ค. 2555 นี้ หากมีการพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดอง และแก้รัฐธรรมนูญ การเมืองจะร้อนเป็นไฟอีกรอบ กระทบท่องเที่ยว การส่งออก ซ้ำเติมการขยายตัวเศรษฐกิจให้หนักหนาสาหัสมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า ปัญหาภายนอกเริ่มรุนแรงจนยากที่จะรับมือ ปัญหาภายในประเทศก็กำลังก่อตัวขึ้นมาซ้ำเติม ขณะที่รัฐบาลยังสาละวนกับโครงการประชานิยม ลด แลก แจก แถม กันไม่เลิก ทำให้เศรษฐกิจไปไม่ถึงไหน มีแต่ทรงกับทรุดอย่างแน่นอน