posttoday

สหภาพธนาคารเดิมพันสุดท้ายของ "เงินยูโร"

31 กรกฎาคม 2555

ริบหรี่และเลือนรางอย่างแสนสาหัสสำหรับหนทางออกจากเขาวงกตหนี้สาธารณะภายในสหภาพยุโรป (อียู)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ริบหรี่และเลือนรางอย่างแสนสาหัสสำหรับหนทางออกจากเขาวงกตหนี้สาธารณะภายในสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ 17 ชาติสมาชิก ที่ใช้เงินสกุลยูโร หรือที่เรียกกันติดปากว่า ยูโรโซน

เพราะแม้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรอยกา ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลักอย่างอียู ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะทุ่มเทอุทิศตัวคิดค้นมาตรการหรือนโยบายต่างๆ อัดฉีดเงินมหาศาลเข้าระบบทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือการยื่นเงื่อนไขสุดเข้มงวดเพื่อควบคุมและสร้างวินัยการใช้จ่ายจนแทบหมดหน้าตัก กระทั่งการเสนอแนวนโยบายสหภาพการคลัง เพื่อให้ยุโรปรวมกันอย่างเหนียวแน่นเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น

แต่ท้ายที่สุด สารพัดอาวุธที่งัดออกมาสู้ก็ทำได้เพียงแค่ช่วยบรรเทาวิกฤตหนี้สาธารณะไม่ให้แผลงฤทธิ์เดชได้ชั่วคราว เนื่องจาก ความพยายามแก้ไขปัญหา โดยปราศจากการมอบอำนาจการบังคับควบคุมให้กับคณะกรรมการส่วนกลางของภูมิภาคเป็นเรื่องที่เบาปัญญาอย่างร้ายกาจ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า ต่อให้มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีอย่างไร แต่หากประเทศสมาชิกไม่ยอมเสียสละ หรือไม่เล่นตามกฎด้วยเสียแล้ว แผนที่วางไว้ทั้งหมดคงเป็นได้แค่ความหวังที่จับต้องไม่ได้กันต่อไป พร้อมๆ กับบั่นทอนความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่ออียู จนครั่นคร้ามที่จะเข้ามาลงทุนหรือยื่นมือเจรจาแลกเปลี่ยนเงื่อนไขใดๆ อีกเพิ่มหลักฐานพิสูจน์ยืนยันก็คือสถานการณ์ในปัจจุบันของสเปน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค ที่นักวิเคราะห์ฟันธงไว้แล้วว่ามีแววไม่แคล้วต้องขอความช่วยเหลือจากอียูเพื่อพยุงสถานะของประเทศตามประเทศโปรตุเกสและกรีซ

เนื่องจากเมื่อไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาลุยดงไฟ สเปนซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาฟองสบู่แตกภาคอสังหาริมทรัพย์กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของภูมิภาคจนต้องการเงินทุนจากแหล่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศมาพยุงสถานะเศรษฐกิจ ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเพิ่มผลตอบแทนให้จูงใจนักลงทุนให้มากขึ้นเพื่อระดมทุน

กลายเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนการกู้ยืมของตนเอง โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนอายุ 10 ปี ในขณะนี้พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 7.78% ซึ่งถือเป็นระดับอันตรายที่เคยบีบบังคับให้กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ ก้มหน้ารับชะตากรรมขอเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากอียูมาแล้วในอดีตแบบไม่มีผิดเพี้ยน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะมืดแปดด้านที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจนดูเหมือนกับว่าภูมิภาคแห่งนี้ไม่รอดแน่แล้ว แต่ใช่ว่ายุโรปจะอับจนหนทางปราศจากทางรอดเพื่ออนาคตในวันข้างหน้าร่วมกันเสียทีเดียว

และแสงสว่างแห่งความหวังหนึ่งเดียวที่พอจะเป็นไปได้ในขณะนี้คือความร่วมมือในภาคธนาคารของทั้งภูมิภาค หรือที่เรียกกันว่า “สหภาพการธนาคาร” (Banking Union) ที่จะดูแลควบคุมตรวจสอบกันเองโดยปราศจากอำนาจทางการเมืองใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

เพราะแนวทางดังกล่าว คือแนวทางที่พอจะทำได้อย่างจริงจัง และพอจะเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับสถานการณ์ของทุกประเทศในยุโรปในปัจจุบัน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกให้กลับคืนมายังภูมิภาคแห่งนี้อีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางที่จะแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคยุโรปยังคงมีระเบียบวินัยในการใช้เงินอย่างเข้มแข็ง วางนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง และไม่ได้มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการกู้หนี้ยืมสินแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

สหภาพธนาคารเดิมพันสุดท้ายของ "เงินยูโร"

 

เรียกได้ว่า เป็นการบอกให้โลกรู้ว่า ยุโรปได้รับบทเรียนราคาแพงเรียบร้อย พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหา และไม่คิดจะเดินผิดพลาดซ้ำสองอีกแน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็ในภาคธนาคาร ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคแห่งนี้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับกันเสียก่อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุโรปขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไร้ระเบียบวินัยทางการเงินของบรรดาธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศต่างๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบตรวจสอบการทำงานของธนาคารค่อนข้างคลุมเครือ เพราะส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือผู้อำนาจ ทำให้มีการรู้เห็นเป็นใจ หรือที่เรียกกันติดปากตามภาษาชาวบ้านว่าช่วยกันเอาหูไปนา เอาตาไปไร่เสีย

จนเมื่อปัญหาสั่งสมได้ที่เข้าขั้นวิกฤตเกินกว่าที่ธนาคารจะจัดการได้ไหว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากรัฐบาลเลือกอุ้มภาคธนาคารของตนเอง จนกลายเป็นการแบกรับหนี้สินมหาศาลเบียดเบียนการคลังของประเทศ และกระทบกับความสามารถในการบริหารจัดการประเทศในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงการตัดลดค่าใช้จ่ายอย่างการปลดคนงานและการตัดลดสวัสดิการ

สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อำนาจในการตรวจสอบตรวจตราการทำงาน หรือความโปร่งใสของธนาคารจึงค่อนข้างสำคัญ และการจัดตั้งสหภาพการธนาคารจะทำให้ระบบตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งทั่วภูมิภาคยุโรปแข็งแกร่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เพราะอำนาจการตรวจสอบดูแลธนาคารจะขึ้นตรงกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยให้คณะปกครองส่วนกลางแต่งตั้งหัวหน้าคณะตรวจสอบที่จะคอยดูแลตัดสินปัญหาในทุกๆ กรณี เพื่อหลีกเลี่ยงอำนาจทางการเมืองใดๆ ที่จะเข้ามาแทรกแซง

ขณะเดียวกันเพื่อป้องกันอคติที่อาจเกิดขึ้น หัวหน้าคณะตรวจสอบจะไม่มีสิทธิตัดสินปัญหาที่เกี่ยวกับประเทศบ้านเกิดของตนเอง โดยการตัดสินใจนั้นๆ จะขึ้นตรงกับผู้มีอำนาจในลำดับถัดไปแทน

นอกจากนี้ สหภาพการธนาคารจะนำไปสู่การเตรียมแผนสำรองเพื่อป้องกันการล่มสลายของภาคธนาคารพาณิชย์ทั่วยุโรปในอนาคต โดยหนึ่งในนั้นก็คือระบบประกันเงินฝากของผู้ฝากเงินทั่วยุโรป

ทั้งนี้ ข้อดีของการที่ธนาคารทุกแห่งทั่วยุโรปมีระบบประกันเงินฝากก็คือการช่วยระงับความตื่นกลัวหวาดวิตกของนักลงทุนและคลื่นมหาชนในกรณีที่วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศหนึ่งๆ เลวร้ายขีดสุดจนต้องออกจากสมาชิกภาพยูโรโซน

เนื่องจากด้วยระบบประกันแบบไร้เงื่อนไขที่มีขอบเขตคุ้มครองในกรณีที่ประเทศหนึ่งๆ จะต้องออกจากยูโรโซนจริง เจ้าหนี้จะมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะหาหนทางให้ลูกหนี้ของตนมีเงินกลับคืนมาให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันบรรดาเจ้าหนี้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องปวดหัวกับการหาทางช่วยเหลือทางการเงินเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องออกจากยูโรโซน โดยหันไปจ่ายเป็นเงินค่าประกันภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงของตนเองแทน

เรียกได้ว่า แนวทางสหภาพการธนาคารก็คือหนทางสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกแรกสุดให้หวนกลับมาสู่ภูมิภาคอีกครั้ง อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้มีเงินทุนมาหมุนเวียนและให้เศรษฐกิจของยุโรปกระเตื้องเติบโตต่อไป

ยืดเวลาแก้ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของภูมิภาคไปได้อีกสักระยะหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น โลกก็ยังคงต้องวัดใจกับบรรดา สมาชิกในอียูกันต่อไปอยู่ดี ว่าจะยอมให้สหภาพการธนาคารเกิดขึ้นในเร็ววัน

หรือจะยอมปล่อยเวลานับถอยหลังให้ปัญหาหนี้ขยายตัวก่อวิกฤตสาหัสขึ้นอีกรอบ