posttoday

หวั่น 2012 อันตรายศก.โลกดำดิ่งสุดรอบ3ปี

30 กรกฎาคม 2555

นับตั้งแต่ผ่านพ้นการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ซึ่งมีการผ่านมาตรการช่วยเหลือภาคธนาคารสเปนโดยตรง

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

นับตั้งแต่ผ่านพ้นการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ซึ่งมีการผ่านมาตรการช่วยเหลือภาคธนาคารสเปนโดยตรง และอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1.2 แสนล้านยูโร ทั่วโลกก็พากันเบาใจราวกับว่าสถานการณ์ในปีนี้จะไม่เกิดปัญหาในระดับ “วิกฤตการณ์” ให้ต้องวิตกกันอีกแล้ว

ทว่า หากลองพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคหลักๆ ทั่วโลกให้ดีแล้ว อาจต้องหันกลับมามองเรื่องเงินทองในปีนี้กันใหม่ เพราะสถานการณ์ปากท้องทั่วโลกในวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2552

“วิกฤตการณ์หนี้ยุโรปที่จมดิ่ง จีดีพีสหรัฐที่แผ่วร่วงกลางปี และการส่งออกจีนที่ลดลงฮวบฮาบ” เหล่านี้คือสัญญาณร้ายของ 3 เสาหลักโลกที่สะท้อนแนวโน้มด้านลบในปีนี้อย่างชัดเจน และยังอาจลุกลามไปถึงปีหน้าด้วย

คำอธิบายที่อาจช่วยให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดสำหรับปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ดูไม่จบสิ้นก็คือ ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในปัจจุบัน ล้วนอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเชื่อมโยงกัน เมื่อภูมิภาคหนึ่งเกิดปัญหา อีกภูมิภาคก็ย่อมอ่อนแอตาม ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในยุโรปขึ้น แรงซื้อสินค้าและบริการจากจีนจึงลดลง และส่งผลให้จีนซื้อแร่เหล็กจากบราซิล หรือวัตถุดิบเพื่อการผลิตจากอาเซียนและประเทศขนาดเล็กอื่นๆ น้อยลงตามไปด้วย

สัญญาณร้ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของภาครัฐ ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในเดือน ก.ค.ส.ค.นี้ หลายบริษัททั่วโลกต่างต้องพบกับผลประกอบการที่ย่ำแย่ลง โดยมีบางธุรกิจถึงกับต้องเลย์ออฟพนักงาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2552

หวั่น 2012 อันตรายศก.โลกดำดิ่งสุดรอบ3ปี

แม้แต่อาณาจักรของ “แอปเปิล อิงก์” ก็ยังทำกำไรไม่ถึงเป้า และเป็นการพลาดเป้าเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 39 ไตรมาส

นอกจากตัวเลขคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจหรือนักวิชาการต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่บ่งชี้ถึงภาวะที่เศรษฐกิจโลกเข้าขั้นอาการหนักก็คือ “ความเคลื่อนไหวอย่างไม่ปกติของธนาคารกลางทั่วโลก” ที่พร้อมใจกันดำเนินมาตรการสกัดกั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่ชนิดที่ไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ปี 2552 ธนาคารกลางในหลายประเทศ อาทิ จีน อังกฤษ บราซิล เกาหลีใต้ และธนาคารกลางยุโรป ต่างเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ย และออกมาตรการช่วยซื้อสินทรัพย์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจของยุโรปเติบโตในที่สุด

ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกรอบล่าสุดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.5% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตได้น้อยสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์บางสำนักยังมองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจโตลดลงอีก 0.5% ด้วย ท่ามกลางแนวโน้มที่อาจซบเซาลากยาวต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ซึ่งไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์ปีหน้าลงมาอยู่ที่ 3.9% เช่นกัน

“ยุโรป” อาจเป็นปัญหาเรื้อรังมานานเกือบ 3 ปีที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มชินชากับคำว่า “วิกฤต” ทว่าสถานการณ์ในปีนี้ต่างออกไป เพราะดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในหลายประเทศยุโรปกำลังดำดิ่งสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลกในปี 2552 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ภาคการเงินสหรัฐในปีก่อนหน้า

ทุกวันนี้ 6 ใน 17 ประเทศกลุ่มยูโรโซนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือจีดีพี หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ล่าสุดนั้นอังกฤษต้องพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นไตรมาส 3 ติดต่อกัน เมื่อจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัวลง 0.7% ซึ่งหนักหนากว่าที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวลงเพียง 0.2% เท่านั้น

นักวิชาการหลายฝ่ายเชื่อว่า แม้ว่าจะมีการประนีประนอมฝืนกฎดั้งเดิมของอียูบางส่วน เช่น การอัดเงินช่วยเหลือภาคธนาคารโดยตรง หรือการก่อหนี้เพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาความเชื่อมั่นเฉพาะหน้าในยูโรโซนได้ ซึ่งล่าสุดยังมีแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ปัญหามากขึ้น ทว่าที่สุดแล้ว “ปัญหาหนี้” ของยุโรปก็ต้องแก้บนหลักการพื้นฐาน “ลดการก่อหนี้” เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักการที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล ย้ำมาตลอดทุกครั้ง

การลดหนี้และงบประมาณขาดดุลจะยิ่งฉุดให้ภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศยุโรปซบเซาลง และอาจดิ่งเข้าสู่ภาวะถดถอยในปลายปีนี้ หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ออกมาควบคู่กัน

ส่วนสถานการณ์ในสหรัฐนั้นยังพอจะพยุงตัวได้ดีอยู่บ้างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายขนานที่เริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ทั้งจากมาตรการช่วยซื้อสินทรัพย์ หรือคิวอีครั้งที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว มาตรการดอกเบี้ยต่ำ และการอ่อนค่าลงอย่างหนักของเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้การลงทุนเริ่มไหลกลับไปยังสหรัฐมากขึ้นในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลกแห่งนี้ จะมีสัญญาณดีขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ทว่าแรงบวกกลับเริ่มแผ่วลงในช่วงกลางปีนี้จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า การขยายตัวอย่างต่อเนื่องจะเริ่มสะดุดลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป หลังจากที่อัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 8.2% และนับเป็นอัตราที่สูงเกินกว่าระดับ 8% เป็นเดือนที่ 41 ติดต่อกันแล้ว

นอกจากปัญหาหลักเรื่องการว่างงานที่ฟื้นตัวได้ช้าแล้ว การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ถึง 2 ใน 3 ของขนาดจีดีพีประเทศก็ยังเริ่มสะดุดลง โดยตัวเลขค้าปลีกในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.5% และเป็นการลดลงเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการขาดช่วงที่นานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2552 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสหรัฐนั้นเริ่มแผ่วลงตั้งแต่ไตรมาส 2 แล้ว

ล่าสุด จีดีพีในไตรมาส 2 ของสหรัฐ ได้ขยายตัวอยู่ที่ 1.5% น้อยกว่าในไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 2% แม้จะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย ทว่าก็ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพึงพอใจ เพราะการบริโภคในประเทศเติบโตได้น้อยที่สุดในรอบปี และหมายความว่าความเชื่อมั่นของประชาชนกำลังเริ่มสะดุดและนำไปสู่การชะลอตัวของการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพีประเทศ

แน่นอนว่าเมื่อ 2 เสาหลักที่เป็นตลาดซื้อสินค้ารายใหญ่ของโลกแผ่วลง “กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่” ก็ไม่อาจเป็นความหวังเหมือนที่ผ่านมาได้อีก ทั้งจีน อินเดีย และบราซิล โดยเฉพาะจีน ที่ประกาศชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เล่นบทเจ้าบุญทุ่มอัดฉีดงบทีเดียว 4 ล้านล้านหยวนเหมือนเมื่อ 3 ปีก่อน

แม้จะมีความยืดหยุ่นทางการเงินและการคลังสูงกว่าทุกประเทศในโลก จากทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของจีนอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยทั่วโลกได้ ซึ่งล่าสุดนั้น จีดีพีของจีนในไตรมาส 2 เองก็ขยายตัวได้เพียง 7.6% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีเช่นกัน

สถานการณ์เช่นนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐทั่วโลกจะสามารถพลิกเวลาที่เหลืออีกครึ่งปีหลังให้กลับมาเป็นบวกได้ทันท่วงทีหรือไม่

ไม่อย่างนั้นอาจต้องเตรียมรับการกลับมาของปีแห่งการถดถอยอย่างแท้จริง